วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สมาธิเกิดจากการตั้งจิตไว้ให้เสมอในอารมณ์แห่งกรรมฐาน ๔๐ วิธี

สมาธิเกิดจากการตั้งจิตไว้ให้เสมอในอารมณ์แห่งกรรมฐาน ๔๐ วิธี ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ และอรูป ๔  เป็นการตั้งจิตไว้โดยชอบในอารมณ์แห่งกรรมฐานเหล่านั้น จนเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตเท่านั้นเอง

ลักษณะของสมาธิคือจิตไม่พล่านไปในอารมณ์ต่างๆ หรือจิตไม่ฟุ้งซ่านนั่นเอง สมาธิช่วยให้จิตประมวลสหชาตธรรมทั้งหลายเช่นศรัทธาและความเพียรเป็นต้นให้เป็นกลุ่มมากขึ้น คือช่วยทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเจริญขึ้นและมีกำลังมากขึ้น เพราะสมาธิสามารถรวบรวมกุศลธรรมทั้งหลายให้เป็นกลุ่มได้ ประดุจน้ำสามารถใช้ผสมผงแป้งให้เป็นก้อนได้ฉะนั้น สมาธิทำให้กิเลสที่มีอยู่ในจิตใจสงบระงับได้ตั้งแต่ชั่วขณะไปจนถึงแน่วแน่ไม่หวั่นไหวและทำให้จิตใจมีความสุขเป็นพิเศษ

สมาธินี้เป็นความตั้งอยู่ในอารมณ์กรรมฐานแห่งจิต จิตตั้งแน่วอยู่ไม่วอกแวกก็จริง แต่ไม่ใช่จิตดับ จิตยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ เหมือนเปลวประทีปในที่ไม่มีลมพัดก็ติดนิ่งอยู่ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น การทำสมาธิจึงช่วยให้จิตสงบ ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายมีกำลังมากขึ้นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กิเลสจึงสงบระงับแม้จะยังละมิได้แต่ก็ทำให้จิตใจมีความสุขมากขึ้น ดังนี้.

สาระธรรมจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๓ (อรรถาธิบายเรื่องกุศลสังขาร ๓๖)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

20/6/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: