วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนห้า ญาติโยมได้พากันมาฟังธรรมมากพอควร การฟังธรรมนั้นได้ผลก็มี ไม่ได้ผลก็มี ได้ผลลึกซึ้งก็มี ได้ผลเผินๆก็มี ทั้งนี้ก็เพราะเครื่องรับที่วางไว้เหมาะและไม่เหมาะต่างกัน
การฟังธรรมนั้นทำใจให้เป็นสมาธิก็พอ ไม่ต้องพนมมือไหว้ก็ได้ แล้วแต่เหตุการณ์ เพราะจะเป็นการบังคับร่างกายจนเกินไป อาจจะเกิดผลเสียทางการฟังไปก็ได้ และการฟังธรรมนั้นไม่จำเป็นจะต้องจำให้ได้หมด บางคนคิดว่าฟังแล้วก็ลืม จำอะไรไม่ได้ ข้อนี้ไม่สำคัญ อยู่ที่ตั้งใจฟัง ให้เสียงนั้นผ่านไปๆด้วยความสงบ เหมือนกับผ้าที่เราพับไว้เป็นชั้นๆ ถึงคราวที่เราจะคลี่ออกมา การฟังธรรมก็เหมือนกัน มันจะค่อยซึมซาบเข้าไปในความทรงจำทีละน้อยเพราะมีสติสันติพุทโธความระลึกได้สงบใจและตื่นตัวรู้ตัวอยู่ในขณะที่ฟังธรรม ทั้งสามนี้มีอยู่พร้อมกันจะกำจัดนิวรณ์ได้ เมื่อมีความสงบใจ ความรู้จะเกิดขึ้น เรื่องต่างๆหรือเหตุการณ์ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา และความรู้บางอย่างจะเกิดขึ้นมาเอง การฟังธรรมด้วยดีจะเกิดเป็นไตรสิกขาขึ้น ดังนี้
การสำรวมระวังกายวาจาใจเรียกว่าศีล ใจสงบเรียกว่าสมาธิ อาการที่รู้ทันเมื่อมีอารมณ์มากระทบรู้ตามความเป็นจริงเรียกว่าปัญญา อันธรรมดาเมื่อเราเก็บสิ่งของเช่นเพชรนิลจินดาไว้ เมื่อมีความกังวลใจมาก จิตใจเกิดความวุ่นวายจะหาของนั้นไม่พบ คิดไม่ออกว่าเก็บไว้ที่ไหน ความทุกข์จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำใจให้หายกังวล ตัดใจได้ว่าหายก็หายไป ถ้ามันไม่ใช่ของเราก็เป็นของยาก ทำใจให้สบายและสงบลง ก็จะนึกออกเองได้บ้าง ของนั้นที่เราเก็บไว้ในที่นั้นๆ เมื่อเรานึกได้รู้ได้ว่าอยู่ในที่นั้นๆ ทั้งๆที่เรายังไม่ได้ไปเอา ใจเราก็สบาย เพราะหมดความกังวลนั้นเอง ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะมีความสุขใจ ผู้บรรลุธรรมนั้นเหมือนผู้ไปถึงบ้านการพูดธรรมเรียนธรรมนั้นไม่ใช่ผู้ถึงธรรมส่วนผู้ถึงธรรมหรือใจเป็นธรรม ย่อมต่างจากผู้พูดผู้เรียนธรรมนั้นๆ
พระพุทธองค์ทรงทำกิจเกี่ยวกับการสอนสัตว์โลกสองอย่าง คือ เบื้องแรกจัดโลกให้สะอาดและมีระเบียบด้วยทานศีล ขั้นที่สองขนนำสัตว์ออกจากโลก(ออกจากความโลภโกรธหลง)ให้ได้พบความสะอาดสงบสว่าง ด้วยการภาวนา ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ แม้จะอยู่ในบ้านมันก็วุ่นวายอยู่เรื่อยๆ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ หาอะไรเกิด อะไรดับมิได้ นอกจากทุกข์”
การเห็นธรรม คือการเห็นความดับทุกข์ การดูโลกก็คือการดูท่อนไม้ ต้องดูให้รู้ปลายท่อนไม้ทั้งสองข้าง เมื่อเรารู้ที่สุดของท่อนไม้ท่อนนั้นทั้งสองข้างแล้ว เราจะหาท่ามกลางของท่อนไม้นั้นได้ ด้วยการวัดจากปลายทั้งสองข้างเข้ามา กึ่งกลางก็จะปรากฏเอง กึ่งกลางของท่อนไม้ไหนๆก็มีอยู่แล้วในท่อนไม้นั้น เราจะไปหาที่อื่นย่อมไม่พบ ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน ก็เหมือนกันกุศลธรรมธรรมอันขาว ได้แก่บุญอกุศลธรรมคือธรรมอันดำ ได้แก่บาปอัพยากตธรรมคือธรรมไม่ดำไม่ขาว ได้แก่พระนิพพานคือธรรมเป็นกลางๆ
ความดีใจความเสียใจคือปลายทั้งสองข้างล้วนแต่เป็นทุกข์ ให้เราพิจารณารู้เท่าทัน อย่าไปติดปลายทั้งสองข้าง ความทุกข์ก็จะลดลงได้ เมื่อเรารู้ศูนย์กลางของมัน ก็ต้องทิ้งปลายทั้งสองข้างเสีย เหมือนคนหาบของต้องหาบกึ่งกลางของไม้คานได้เอง ถ้าปล่อยให้หาบยื่นไปข้างหน้ามากเกินไป หรือยื่นไปข้างหลังมากเกินไป ก็จะหาบของไม่ได้ แต่ถ้าเลื่อนไปเลื่อนมาหาศูนย์กลางได้แล้ว ก็จะหาบไปได้อย่างสบาย
จิตใจของเราก็เหมือนกันถ้าปล่อยให้อารมณ์ชอบใจหรือไม่ชอบใจ เข้าสิงสู่มันก็เกิดทุกข์เมื่อเราดีใจก็ให้เหลือเผื่อ แผ่แขกที่จะมาใหม่คือความเสียใจบ้าง ถ้าเสียใจก็ให้เหลือเผื่อแผ่แขกที่จะมาคือความดีใจบ้าง อย่าเห็นแก่ปลายข้างเดียว มันจะเกิดความทุกข์ เราต้องรู้เท่าทันในความเห็นที่ถูกต้อง ในรูปนาม (ร่างกาย จิตใจ) พิจารณาจนรู้ปลายทั้งสองจนแน่ชัดแล้ว เราจะรู้ตรงกลางได้เอง
ความเห็นแก่ตัวไม่อยากตาย ให้คนอื่นตาย ร้อนก็ไม่อยากร้อน ให้คนอื่นร้อน เราอยากได้สุข คนอื่นจะทุกข์อย่างไรก็ช่าง ถ้าเจ็บให้คนอื่นเจ็บ เราเองไม่อยากเจ็บ เขาเรียกว่าคนเห็นปลายข้างเดียวมีดีติดดี มีชั่วติดชั่ว จึงต้องเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ฉะนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาเพื่อให้เข้าถึงรู้ทันมันจะยืนเดินนอนนั่งหรือจะอยู่ที่ไหนๆก็มีสติพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า ได้ปฏิบัติตามธรรมนั้น เช่นเรารักลูก รักจนหมด มีความรักเท่าไรมอบให้หมด รักผู้อื่น รักคนอื่นก็เหมือนกัน เขาเรียกว่าคนเห็นปลายข้างเดียวไม่รู้จักอนิจจังทุกขังอนัตตาเมื่อเรารักก็เหลือไว้เผื่อชังบ้างเมื่อชังก็เหลือไว้เผื่อรักบ้างเราต้องรู้ทันอารมณ์ อยู่เหนืออารมณ์คนหลงอารมณ์ก็คือคนหลงโลกคนหลงโลกก็คือคนหลงอารมณ์ พระพุทธองค์ที่ได้รับการยกย่องจากพุทธบริษัทว่า เป็นโลกวิทูผู้รู้แจ้งโลก ก็เพราะพระพุทธองค์รู้อย่างนี้เรามาฟังธรรม ก็เพื่อให้ตัวเราเป็นธรรมมีธรรมอยู่ในใจ ไม่หลงโลกหลงอารมณ์เป็นผู้เข้าถึงธรรมจึง จะมีความสุขความสบาย
อันผลไม้มีรสหวาน ภูเขามีป่าไม้เขียวชะอุ่ม เกิดความชุ่มชื่น เยือกเย็น ย่อมเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์และมนุษย์ พระอริยสงฆ์มีความดีทางกาย วาจา ใจ ตรง และตรงต่อศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเราปฏิบัติดี คือชอบกาย ชอบวาจา ชอบศีล สมาธิ ปัญญาเมื่อเราปฏิบัติตามก็ได้ชื่อว่าถึงพระสงฆ์แน่นอน เราเกิดมาเห็นเขาทำเราก็ทำ ไม่รู้จักผิดถูก รับศีลก็ว่าตามพระบอก ไม่ทราบว่าคืออะไร เมื่อก่อนนี้พวกเราชาวบ้านพากันทำกระทงหน้าวัว เอาข้าวดำ ข้าวแดง กล้วย อ้อยมาทำพิธีส่งผีป่าหนี แต่ผีบ้านไม่มีส่งสักที เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ สาธุ! ขอให้คุณศีลคุณทานช่วยคนเอากายเข้าวัดแม้จะนั่งใกล้พระแต่จิตใจอยู่ไกล ทำอย่างนี้สัตว์ต่างๆ หมู หมา เป็ด ไก่ มันก็เอากายเข้ามาได้ มันจะไม่เข้าถึงธรรมเหมือนกันหรือ
การเข้าวัดมาหาพระแต่อย่าติดพระควรเข้าถึงธรรมซึ่งเป็นหลักของใจ เมื่อมีศีลชื่อว่าเป็นคนดี พวกวัวควายเราหัดได้ ไม่นานก็ใช้งานได้ คนเราหัดตั้งนานยังใช้ไม่ค่อยจะได้ ยังเป็นสัตว์อยู่ เพราะมันหนามาก เราต้องพิจารณาให้ลึกๆ การรักษาศีล ฟังธรรม จะทำให้เป็นผู้พบความสุข แต่เราเห็นว่ามันยาก ทำตามก็ยาก เพราะเรายังไม่พร้อมพระให้บุญขณะที่เรากำลังเป็นๆ มีชีวิตอยู่ยังไม่รับคอยจะรับ ละเห็นว่าเหมาะเวลาตายแล้วเพราะเรายังไม่เข้าใจลึกซึ้งยังหลงของที่ยังมีอยู่
วัวควายอ่านหนังสือไม่ออกก็น่าให้อภัย เป็นพวกอบายภูมิต่ำๆ ต้องพูดกันด้วยไม้ ด้วยแส้ ต้องตีต้องเฆี่ยน พระพุทธองค์สอนศีลธรรม ไม่ได้สอนแก่สัตว์เดรัจฉาน ท่านสอนสัตว์มนุษย์เรานี่เอง เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นึกว่าเป็นของง่าย คิดว่าเป็นของง่าย คิดว่าตนเองจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เสมอไป เพราะความหลงคนหนุ่มคนสาวยิ่งหลงในรูปเสียงกลิ่นรสอยู่มากวันหนึ่งๆ ต้องส่องกระจกดูหลายครั้งเพราะนึกว่าตนเองยังสวยแต่หารู้ไม่ว่าร่างกายมันเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที การเข้าถึงธรรมนั้นย่อมทำให้กาย วาจา ใจ เป็นสุขสบาย เราไม่ทำอันตรายเขา เขาก็ไม่ทำอันตรายเรา คนอื่นๆก็ไม่ทำอันตรายแก่กันและกัน โลกนี้ยิ่งมีความสุขเพราะไม่เบียดเบียนกัน แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริงของไม่ดี ก็ว่าดีของไม่งามก็ว่างามของสั้นก็ว่าของยาวของไม่ยั่งยืนก็ว่ายั่งยืน ผู้สอนต้องหาอุบายมาสอนจนเหนื่อยอ่อน
เราเกิดมาแล้วต้องพิจารณาให้มากๆ เห็นเขาทำนาบนดิน ตัวเองก็คิดว่าจะทำได้ เขาทำไร่บนดินก็เช่นกัน แต่ว่าดินนั้นมันต่างกัน ที่ดินเรากับที่ดินเขาที่ทำไร่ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน ผู้จะทำต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดินนี้ แต่ก่อนเราทำบุญอุทิศ นิยมทำต้นดอกผึ้ง ทำแล้วต้องมีของเสมอกัน มีสุราอาหารและของที่ต้องผลาญชีวิตสัตว์อื่นๆ ทำแล้วคิดว่าจะได้บุญ เหมือนลิงถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้า แต่ลิงป่ากับลิงบ้านทำบุญต่างกัน ตัวหนึ่งไม่ได้ฆ่าเอาเนื้อมาทำบุญ แต่พวกหนึ่งฆ่าเขาเอามาทำบุญ มันจึงมีผลต่างกัน ลิงป่าทำทานแล้วไปสวรรค์ แต่ลิงบ้านทำแล้วไปนรก เพราะความหลงเข้าใจผิด
การพิจารณาร่างกายพิจารณาถึงความตายจะเป็นการผ่อนคลายความโลภความโกรธและความหลงลงได้บ้าง เพราะเรากลัวตายจึงไม่ค่อยพิจารณากัน ถ้าใครพูดถึงความตายก็ห้ามไว้ ฉะนั้นพวกเราจึงพากันเข้าแถวเดียวกัน ตายอยู่อย่างนี้หลายพันชาติ ธรรมะเป็นของเยือกเย็นทำใจให้สงบส่วนเงินทองข้าวของเป็นของร้อน มีแล้วก็อยากซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำใจให้เกิดความวุ่นวายมีทุกข์ แต่ศีลธรรมนำโลกให้สะอาด เบา สบาย ขนสัตว์ออกจากเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ ศีลคือความสะอาด ธรรมะ คือการขนออกจากของสกปรก เพราะตามธรรมดา เราเมื่อดีใจก็คอยความเสียใจตามมาเสียใจก็คอยความดีใจตามมา มันกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้
เราเกิดมาแม้ยังหนุ่มสาวก็อย่าประมาท คิดว่าตนยังไม่แก่ ควรพิจารณาถึงความตายเอาไว้บ้าง ความจริงแก่มาตั้งแต่เราเกิดทีแรก เหมือนกับคนหิวกินอาหารมันก็เริ่มอิ่มมาตั้งแต่คำแรกนั่นแหละ แต่คนมีความหิวมากกินด้วยความโลภจึงมองไม่เห็น คิดว่าตนยังไม่อิ่ม เช่นคนมีผมแซมขาวปนดำ ใกล้ความตายเข้าไปทุกวัน เหมือนกับเรือที่จวนจะล่มสู่ก้นแม่น้ำนั่นเอง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ตายทั้งนั้น เป็นคนใกล้ความเป็นเทวดาหรือเปล่า? เราพิจารณาบ่อยๆจะเกิดความรู้ จะทำให้ตนมีความสุขความสบาย ปราศจากความเดือดร้อนทั้งกายและใจ
ได้แสดงธรรมมาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ เอวัง
ที่มา : http://www.ajahnchah.org
0 comments: