เสนาของพญามาร ๑๐ ประการ ตามนัยแห่งปธานสูตร คือ
๑. กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน ๒. ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน ๓. ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน ๔. ตัณหา (ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน ๕. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
๖. ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน ๗. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน ๘. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ (ความหัวดื้อ) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน ๙. ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน ๑๐.การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้ มีปกติประหารสมณพราหมณ์ คนขลาดเอาชนะเสนา (ของท่าน) นั้นไม่ได้
อธิบายความ
เพราะว่า กิเลสกามทั้งหลายย่อมยังสัตว์ผู้ครองเรือนให้ลุ่มหลงในวัตถุกามทั้งหลายแต่ต้นทีเดียว เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกกิเลสกามครอบงำเข้าไปบวชแล้ว ก็จะเกิดความไม่ยินดีในเสนาสนะอันสงัด หรือในธรรมอันเป็นอธิกุสลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่นั้น ความหิวกระหายย่อมเบียดเบียน เพราะมีชีวิตของบรรพชิตเนื่องด้วยผู้อื่น เพราะถูกความหิวกระหายเบียดเบียน และเกิดความอยากในการแสวงหา (ในกามคุณ) ก็ย่อมทำให้จิตเหนื่อยหน่าย เมื่อเป็นเช่นนั้น ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน) ย่อมครอบงำผู้มีจิตเหนื่อยหน่ายเหล่านั้น
แต่นั้น เมื่อไม่บรรลุคุณวิเศษ อยู่ในเสนาสนะอันสงัดในราวป่าอันยินดีได้ยาก ก็เกิดความกลัวรู้สึกหวาดสะดุ้ง เมื่อชนเหล่านั้นเกิดความกลัวความระแวง ไม่พอใจในรสของวิเวกอยู่ตลอดกาลนาน เกิดความสงสัยในการปฏิบัติว่า “นี้คงไม่ใช่ทางแน่”
เมื่อไม่บรรเทาความสงสัยนั้นอยู่ เกิดมานะ (ถือตัว) มักขะ (ลบหลู่) ถัมภะ (หัวดื้อ) เพราะบรรลุคุณวิเศษเพียงเล็กน้อย เมื่อไม่บรรเทามานะ มักขะ ถัมภะอยู่ ย่อมเกิดลาภสักการะและความสรรเสริญ เพราะอาศัยการบรรลุคุณวิเศษยิ่งไปกว่านั้น และผู้หมกมุ่นอยู่ในลาภ ประกาศธรรมปฏิรูป (ธรรมเทียม) บรรลุทางผิด ตั้งอยู่ในทางผิดนั้น ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยชาติเป็นต้น
คำว่า “คนขลาด” คือ คนผู้ไม่กล้าย่อมไม่ชนะเสนาของท่านนั้น แต่คนกล้าย่อมชนะได้ ครั้นชนะแล้วย่อมบรรลุมรรคสุขและผลสุข ดังนี้
สาระธรรมจากอรรถกถาปธานสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
9/8/64
0 comments: