วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ


ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา ความมิใช่ตัวตน เป็นต้น ไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วอยู่ใน กฎไตรลักษณ์ 

บทวิเคราะห์ศัพท์ 

ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :-

1. อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์.

2. ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์.

3. อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ไม่มีอำนาจกำลังอะไร ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ มากมายจึงมีขึ้นได้.

ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดา หรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้ :-  ติ แปลว่า สาม, 3. ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker.  ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึง ติลกฺขณ อย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 . ในคัมภีร์ชั้นฎีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยกลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วย. ส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง.

อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฎีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์, และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด. 

สามัญลักษณะ

สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่ใช่ตัวตน.  สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือ กฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร. อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน. 

อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน

ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนา ท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน ดังนี้ :-  - อนิจจัง (อนิจฺจํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวธรรม มีอยู่จริง, คำว่า "อนิจจัง" เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.  - อนิจจลักษณะ (อนิจฺจตา, อนิจฺจลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง.  อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.  

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนิจจลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 25 แบบ เรียกว่า โต 25 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนิจจลักษณะไว้ในแบบอื่นๆ อีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ   อหุตฺวา   สมฺภูตํ   หุตฺวา  น   ภวิสฺสตีติ   ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ) 

ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน

- ทุกขัง (ทุกฺขํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวธรรม มีอยู่จริง, คำว่า "ทุกขัง" เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.   - ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง. ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ    อหุตฺวา   สมฺภูตํ   หุตฺวา  น  ภวิสฺสตีติ   ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ). 

อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน

อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน.  อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น.

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่นๆ อีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ   อหุตฺวา   สมฺภูตํ   หุตฺวา   น   ภวิสฺสตีติ   ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตลักษณะ). 

หลักการกำหนดไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ นี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ  อหุตฺวา  สมฺภูตํ  หุตฺวา  น  ภวิสฺสตีติ  ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น. โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ระบุไว้ในหลายแห่งว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้. 

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกัน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่างๆ เกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอ จึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง. และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อิริยาบถ และฆนะ.

*1. อนิจจัง (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ เปลี่ยนเป็นธาตุลม และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ และเปลี่ยนกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด ตามอุตุนิยามหรืออุณหภูมิร้อนเย็น แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัด ทำให้เกิดการกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร กฎแห่งวัฏฏตา กฎแห่งการหมุนเวียนเปลี่ยนผัน เมื่อเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ แม้กระนั้นกฎแห่งอนิจจังก็คือความไม่แน่นอน แม้หมุนวนเวียนแต่ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่บ้าง ทำให้ทายาทไม่จำเป็นต้องเหมือนผู้ให้กำเนิดไปซะทั้งหมด กฎแห่งวัฏฏตาทำให้เกิดกฎแห่งสันตติคือการสืบต่อที่ปิดบังอนิจจังต่อไป

*2. ทุกขัง (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือ สิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา อย่าง ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน โลกต้องหมุน ทุกอย่างจะอยู่นิ่งมิได้ มีแค่เคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย จึงทำให้เกิดกฎแห่งการปรับสมดุล (สมตา ) คือแม้จะมีการเคลื่อนตลอดเวลา แต่การเคลื่อนนั้นก็ทำให้มีการปรับสมดุล เช่น อากาศระเหยขึ้นไปเพราะความร้อนเกิดเป็นสูญญากาศ อากาศด้านข้างจึงไหลเข้ามาทำให้เกิดลม เมฆบนฟ้าเกิดประจุไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจึงต้องปรับสมดุลด้วยการถ่ายเทมายังพื้นโลกจึงเกิดฟ้าผ่าขึ้น เป็นต้น การปรับสมดุลจึงทำให้บางสิ่งคงอยู่ไม่แตกสลายเร็วนัก เเละสิ่งคงอยู่ย่อมแตกสลายไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่ถ้ามีการถ่ายทอดข้อมูลจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เช่น ดวงจิตที่ถ่ายทอดข้อมูลจากดวงจิตเดิมสู่ดวงจิตก่อนจิตดวงเดิมดับ เป็นต้น ย่อมทำให้ดำรงอยู่ต่อได้ จึงทำให้เกิดกฎแห่งสันตติการสืบต่อ และทำให้เกิดกฎแห่งพันธุกรรมของพีชนิยาม แม้แต่การซ่อมแซมตัวเองของร่างกายก็เกิดขึ้นจากกฎสมตานี้ ซึ่งให้เกิดชีวิตที่ต้องปรับสมดุลตัวเองตามกฎสมตา เวลาหิวหากิน เวลาง่วงนอน เวลาเหนื่อยพัก เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะก็ถ่าย เวลาเมื่อยก็เคลื่อนไหว ทำให้เกิดอิริยาบถ ที่ปิดบังทุกขังนั่นเอง

*3. อนัตตา (สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง) สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากกฎอิทัปปัจจยตา ดูเหมือนมีตัวตนเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้น และสิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่างๆ มีผลกระทบต่อกันในด้านต่างๆ จนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและอาศัยกันและกันเพื่อดำรงอยู่ จึงเกิดกระบวนการทำงานหรือกฎชีวิตาขึ้นจึงเกิดฆนะสัญญาหรือความเป็นก้อนขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกถึงการมีตัวตนขึ้น แม้กระทั่งกระบวนการทำงานของจิต ก็ทำให้รู้สึกถึงการมีตัวตนทางใจเช่นกัน ดังนั้นกฎชีวิตาจึงทำให้เกิดฆนะ รูปร่าง หรือการเป็นก้อนๆ ตลอดจนรู้สึกมีตัวตน ที่ปิดบังอนัตตาในที่สุด.  ตามหลักอภิธรรมกฎแห่งธรรมนิยามทั้งคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เกิดกฎแห่งพีชนิยามทั้ง3คือสมตา(ปรับสมดุล) วัฏฏตา(หมุนวนเวียน)ชีวิตา(มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน) ตามนัยดังกล่าว 

สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ

สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที, หรือรูปๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางที รูปเก่ายังไม่ดับ รูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก. สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยาม ห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป, แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง.

สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย. การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไร สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.

สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้น ไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ ไปห้ามกันไม่ได้. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.

อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใครๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า " กามํ   อุตฺตานเสยฺยกาปิ   ทารกา   ถญฺญปิวนาทิกาเล   สุขํ   เวทยมานา  สุขํ  เวทนํ  เวทยามาติ    ปชานนฺติ   น   ปเนตํ   เอวรูปํ   ชานนํ   สนฺธาย   วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) " ดังนี้. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ. 

อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ

อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น. การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นบางครั้งก็อาจทำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่โดยมากแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยที่ยังไม่ต้องเกิดความทุกข์ความเจ็บปวดขึ้นมาก่อนก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคล้ายกับวิญญัตติรูป ดังนั้น ท่านจึงระบุไว้ในตอนท้ายของอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรและฎีกาว่า "ไม่พึงพิจารณาตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นกำหนด" ส่วนเหตุผลท่านก็ให้ไว้เหมือนกับอสัมมสนรูป นั่นคือ เพราะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูป ไม่ใช่สภาวธรรมโดยตรง จึงไม่ควรกำหนดนั่นเอง.

อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดทั้งวันนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่ได้บีบคั้นบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้ว แม้ขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่โดยไม่ได้เป็นเพราะความเจ็บปวด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น ตอนนั้นขันธ์ 5 ก็ล้วนบีบคั้นบังคับตนเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นปกติทั้งสิ้น. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ" เพราะทุกขลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความบีบคั้นให้เปลี่ยนไปของขันธ์ 5 ที่ล้วนบีบคั้นบังคับตัวเองอยู่เป็นนิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอิริยาบถที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้สุขต่อกันไปจนไม่รู้ตัวเลยว่า ขันธ์ 5 กำลังบีบคั้นขันธ์เองวินาทีละนับครั้งไม่ได้. การที่ยังพิจารณาทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ ทุกขลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่อิริยาบถจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดทุกขลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.

สำหรับวิธีการจัดการกับอิริยาบถไม่ให้มีผลกับการกำหนดทุกขลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอก็อาจป่วยได้ ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำร้ายลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ไม่ว่าจะสังคมชาวบ้าน หรือสังคมพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้เหมือนๆ กัน. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาทุกขลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า ทุกขลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และอิริยาบถแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดทุกขลักษณะ หรือทำให้ทุกขลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.

อนึ่ง อิริยาบถไม่ได้ปิดบังปิดบังทุกขัง เพราะทุกขัง คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะ โดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ    อุตฺตานเสยฺยกาปิ    ทารกา    ถญฺญปิวนาทิกาเล    สุขํ    เวทยมานา  สุขํ  เวทนํ    เวทยามาติ   ปชานนฺติ   น   ปเนตํ   เอวรูปํ   ชานนํ   สนฺธาย   วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้. ดังนั้นไม่ว่าเราจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถหรือจะไม่กระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถใดๆ เลยก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นทุกขลักษณะได้เลย. ฉะนั้นในวิสุทธิมรรคฎีกาท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถเหมือนปิดบังทุกข์"เท่านั้น ไม่กล่าวว่า "อิริยาบถปิดบังทุกข์" เพราะอิริยาบถทำให้สุขเวทนาเกิดต่อเนื่องจึงไม่ได้รับทุกขเวทนาเท่านั้น แต่อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกข์คือขันธ์ 5 แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ปิดบังทุกข์ คือ ขันธ์ 5 นั้นก็คือ อวิชชานั่นเอง. 

ฆนะปิดบังอนัตตลักษณะ

ฆนะ  คือ  สิ่งที่เนื่องกันอยู่  ท่านได้แบ่งฆนะ  ออกเป็น  4  อย่าง   คือ :-  สันตติฆนะ,  สมูหฆนะ,  กิจจฆนะ,   อารัมมณฆนะ.    

-สันตติฆนะ  คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดดับสืบเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ซึ่งเร็วจนดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่มีอะไรเกิดดับ.   -สมูหฆนะ  คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดร่วมกันสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน จนดูราวกะว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นกลุ่มก้อน เป็นหนึ่งเดียวกัน.   -กิจจฆนะ  คือ ขันธ์ 5 ที่มีกิจหน้าที่มากหลายรับรู้เข้าใจได้ง่ายและยากโดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งหากไม่มีปัญญาก็อาจดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 มีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกิจเดียว.   -อารัมมณฆนะ คือ ขันธ์ 4 ที่รับรู้อารมณ์มากมายหลากหลายใหม่ๆ ไปเรื่อย แต่หากเราเองไม่มีความรู้พอที่จะสังเกต จะไม่ทราบเลยว่า จิตใจของเราแบ่งออกตามการรู้อารมณ์ได้มากทีเดียว.

การเนื่องกันเหล่านี้จะมีหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับปัจจัยของธรรมที่ร่วมกันเกิดอยู่นั้น เป็นกฎธรรมชาติ เป็นธรรมดา หากเหตุพร้อมมูลก็ไม่มีใครไปห้ามไม่ให้ผลเกิดได้เลย.  ฆนะทั้งหมด โดยเฉพาะ 3 อย่างหลังที่เนื่องกันติดกันอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 บังคับบัญชาตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรเลย ราวกะมีตัวตนแก่นสาร ทั้งที่ความจริงแล้ว ขันธ์ไม่เคยอยู่เดี่ยวๆ เลย มีแต่จะต้องแวดล้อมไปด้วยปัจจัยและปัจจยุปบันที่ทั้งเกิดก่อน เกิดหลัง และเกิดร่วมมากมายจนนับไม่ถ้วน (ถ้านับละเอียด). ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "ฆนะปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่มีตัวตนอำนาจที่เป็นแก่นสารมั่นคงของขันธ์ 5 ซึ่งตรงกันข้ามกับฆนะที่เนื่องกันจนทำให้เข้าใจผิดไปว่า ขันธ์เป็นหนึ่ง มีเหตุคือเรา คือเขาเพียงหนึ่งที่เป็นตัวตนมั่นคงบังคับสิ่งต่างๆได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น และขณะนั้นเองมีเหตุให้เกิดขันธ์เหล่านั้นเกิดอยู่มากมาย หลังจากนั้นโดยทั่วไปก็ยังมีผลที่จะเกิดสืบต่อไปอีกมากมาย. การที่ยังพิจารณาอนัตตลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนัตตลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่ฆนะจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนัตตลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.

สำหรับวิธีการจัดการกับฆนะไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนัตตลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะฆนะเหล่านี้มีอยู่เป็นปกติ หากธรรมต่างๆ ไม่มีความสัมพันธ์กันเนื่องกันแล้ว ก็เท่ากับนิพพานไป. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนัตตลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนัตตลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และฆนะต่างๆ แม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนัตตลักษณะ หรือ ทำให้อนัตตลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.

อนึ่ง ฆนะ ไม่ได้ปิดบังอนัตตา เพราะอนัตตา คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ   อุตฺตานเสยฺยกาปิ   ทารกา   ถญฺญปิวนาทิกาเล   สุขํ   เวทยมานา   สุขํ  เวทนํ  เวทยามาติ     ปชานนฺติ  น   ปเนตํ   เอวรูปํ   ชานนํ   สนฺธาย   วุตฺตํ  ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้. ดังนั้นแม้เราจะหั่นหมูเป็นชิ้นๆ จนไม่เหลือสภาพความเป็นหมูอ้วนๆ ให้เห็นเลยก็ตาม หรือจะเป็นนักวิทยาศาสตร์แยกอะตอม (atom) ออกจนสิ้นเหลือแต่คว๊าก (quark) กับกลูอ้อน (gluon) หรือแยกได้มากกว่านั้นก็ตามที แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นอนัตตลักษณะได้เลย เพราะความสำคัญของการเจริญวิปัสสนาอยู่ที่การนึกอาวัชชนาการถึงไตรลักษณ์อย่างละเอียดบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนวิปัลลาสทางทิฏฐิ จิต และ สัญญา, ไม่ใช่การทำลายขันธ์ 5 เป็นชิ้นๆ ด้วยน้ำมือของขันธ์นั้นเองแต่อย่างใดเลย. 

อนิจจัง กับ อนิจจตา เป็นต้น ไม่เหมือนกัน

ชาวพุทธไทยมักสับสนระหว่างคำว่า อนิจจัง อนิจจตา และ อนิจจลักษณะ เป็นอย่างมาก. เรื่องนี้ควรทำความเข้าใจว่า ปกติแล้วในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อนิจจัง หมายถึง ตัวขันธ์ 5, ส่วนอนิจจตานั้น หมายถึง อาการความเป็นไปของขันธ์ 5 ได้แก่ อนิจจลักษณะ นั่นเอง.  ในทุกขัง ทุกขตา และทุกขลักษณะก็ให้กำหนดศัพท์ตามนี้เหมือนกัน.  ตัวอย่างของ ทุกขัง อนิจจัง กับ ทุกขตา อนิจจตา เป็นต้นที่ใช้ไม่เหมือนกัน

ในวิสุทธิมรรค อานาปานกถา พบข้อความว่า  :-   "อนิจฺจนฺติ  ปญฺจกฺขนฺธา . กสฺมา?  อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา.  อนิจฺจตาติ  เตสํเยว  อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ,  หุตฺวา  อภาโว  วา,  นิพฺพตฺตานํ  เตเนวากาเรน  อฏฺฐตฺวา ขณภงฺเคน  เภโทติ  อตฺโถ.- ที่ชื่อว่า อนิจฺจํ ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น. ชื่อว่า อนิจจตา ได้แก่ ความแปรเป็นอื่นของขันธ์นั้นนั่นเทียว หรือ อาการมีแล้วก็ไม่มี ก็ได้ อธิบายว่า การไม่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่เคยเกิดขึ้นนั้นแล้ว แตกไปด้วยภังคขณะ" ดังนี้.  ซึ่งข้อความคล้ายกันนี้ พบอีกในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แต่เปลี่ยนจาก อนิจฺจตา เป็น อนิจจํ ดังนี้ :-  "อนิจฺจนฺติ  ขนฺธปญฺจกํ.  กสฺมา? อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา,   หุตฺวา   อภาวโต   วา.   อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ   อนิจฺจลกฺขณํ   หุตฺวา   อภาวสงฺขาโต  วา  อาการวิกาโร - ที่ชื่อว่า อนิจจัง ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ เพราะเป็นสิ่งเคยมีแล้วก็ไม่มีก็ได้. อนิจจลักษณะ ได้แก่ ความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า มีแล้วก็ไม่มี" ดังนี้.

จากข้อความที่ขีดเส้นใต้ จะเห็นได้ว่า ท่านอธิบาย อนิจจัง แยกออกจาก อนิจจตาและอนิจจลักษณะ แต่ใช้สองคำหลังนี้ในความหมายเดียวกัน.

อีกตัวอย่าง :-    " เวทนา   ตีหิ   ทุกฺขตาหิ   อวินิมุตฺตโต  ทุกฺขาติ  สญฺญาสงฺขารา  อวิเธยฺยโต   อนตฺตาติ วิญฺญาณํ   อุทยพฺพยธมฺมโต   อนิจฺจนฺติ   ทฏฺฐพฺพํ - พึงทราบว่า "เวทนา ชื่อว่า ทุกข์ เพราะไม่พ้นไปจากทุกขตา, สัญญาและสังขาร ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่ได้มีอำนาจเลย, วิญญาณ ชื่อว่า อนิจจัง เพราะมีปกติเกิดขึ้นและดับไป" ดังนี้.   จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า มีทั้งคำว่า ทุกข์ และ ทุกขตา ทั้งนี้เนื่องจากเวทนา (ซึ่งความจริงก็รวมขันธ์ทั้ง 5 ไปด้วยตามลักขณหาระ นั่นเอง) เรียกว่า ทุกข์ เพราะมีทุกขตา ได้แก่ เรียกว่าทุกข์เพราะมีทุกขลักษณะนั่นเอง, กล่าวคือ เรียกว่า เป็นตัวทุกข์ เพราะมีอาการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวทุกข์ ได้แก่ อาการบีบคั้น บังคับ เป็นต้น ไม่ได้แปลว่า เรียกว่าทุกข์ เพราะมีทุกข์ แต่อย่างใด.

ในบางที่ก็มีการใช้ ทุกฺขตาศัพท์ นี้ ทั้ง 2 ความหมาย คือ ทั้งเป็นทุกขลักษณะด้วย และเป็นทั้งทุกข์ด้วย เช่น ทุกฺขตาติ  ทุกฺขภาโว  ทุกฺขํเยว  วา  ยถา  เทโว  เอว  เทวตา - คำว่า ทุกฺขตา หมายถึง ทุกขภาวะ (ทุกขลักษณะ) หรือ ทุกขังนั้นแหละก็ได้ เหมือนคำว่า เทวตา ก็หมายถึง เทวะ (เทพ) นั่นเอง.  แต่ก็เป็นการใช้ในบางที่เท่านั้น และเพราะในคำอธิบายที่นี้อรรถกถาก็ใช้ทั้ง 2 ความหมายจริง. ส่วนโดยทั่วไป ให้สังเกตว่า ท่านกล่าวถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักขณวันตะ (สิ่งมีเครื่องกำหนด) กับ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา เป็นลักขณะ (เครื่องกำหนด) เหมือนกับที่ท่านแยกอนิจจังเป็นต้นให้เป็นลักขณวันตะ ส่วนอนิจจลักษณะเป็นต้นก็ให้เป็นลักขณะ. นั่นก็เพราะ อนิจจตาโดยทั่วไปก็หมายถึงอนิจจลักษณะนั่นเอง เพราะเป็นลักขณะสำหรับกำหนดตัวอนิจจัง คือขันธ์ 5 นั่นเอง เช่น ในคัมภีร์อนุฎีกาจึงกล่าวแยกอนิจจะกับอนิจจตาไว้ว่า   "ยถาอนิจฺจาทิโต   อนิจฺจตาทีนํ   วุตฺตนเยน   เภโท   เอวํ   อนิจฺจตาทีนมฺปิ   สติปิ   ลกฺขณภาวสามญฺเญ นานาญาณโคจรตาย   นานาปฏิปกฺขตาย   นานินฺทฺริยาธิกตาย   จ   วิโมกฺขมุขตฺตยภูตานํ   อญฺญมญฺญเภโทติ ทสฺเสนฺโต   “อนิจฺจนฺติ   จ  คณฺหนฺโต”ติอาทิมาห ท่านอาจารย์เมื่อได้แสดงอยู่ว่า "การจำแนกอนิจจตาเป็นต้นจากอนิจจะเป็นต้นโดยนัยตามที่กล่าวไปแล้วนั้นว่าไว้ฉันใด การจำแนกกันและกันออกเป็นวิโมกขมุข์ 3 โดยความเป็นอารมณ์ของญาณต่างๆ, โดยความเป็นปฏิปักข์ต่อธรรมต่างๆ, โดยความยิ่งด้วยอินทรีย์ต่างๆ ในลักษณภาวะที่สามัญญทั่วไปแม้ของอนิจจตาเป็นต้นที่แม้มีอยู่ ก็ว่าไปตามนั้นเหมือนกัน" ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "อนิจฺจนฺติ จ คณฺหนฺโต" ดังนี้เป็นต้น. จากประโยค คำว่า "อนิจฺจาทิโต อนิจฺจตาทีนํ" (ตัวหนา) จะเห็นได้ว่า ท่านไม่กล่าว อนิจจัง กับ อนิจจตาไว้ด้วยกัน แต่จะกล่าวให้อนิจจังมีอนิจจตา หรือ อนิจจตาเป็นของอนิจจังเป็นต้น อนิจจตา กับ อนิจจัง ท่านใช้ต่างกันดังยกตัวอย่างมานี้.

อีกประการหนึ่ง ให้สังเกตว่า ท่านจะขยาย "อนิจฺจตา" ว่า "อนิจฺจตาติ   หุตฺวา   อภาวตา  -  คำว่า อนิจฺจตา หมายถึง ความเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี" เป็นต้น, แต่ขยาย  อนิจฺจํ   ว่า   "อนิจฺจนฺติ     ปญฺจกฺขนฺธา    เต    หิ    อุปฺปาทวยฏฺเฐน อนิจฺจา- คำว่า อนิจฺจํ หมายถึง ขันธ์ 5, จริงอยู่ ขันธ์ 5 ชื่อว่า อนิจจะ เพราะมีสภาพที่เกิดขึ้นและสิ้นไป"  ในที่อื่นก็ควรประกอบความอย่างนี้ได้ ตามสมควร. 

อรรถกถา-ฎีกา ใช้ภาษารัดกุม เขียนเนื้อเรื่องไม่สับสน

การแยก อนิจจัง กับ อนิจจตา เป็นต้นอย่างนี้ เวลาศึกษาควรกำหนดใช้ให้เป็นรูปแบบศัพท์แนวนี้ไว้ จะทำให้เวลาอ่านพระไตรปิฎก-อรรถกถา-ฎีกา เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ไม่เกิดความงุนงง, เนื่องจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฎีกานั้นเป็นคัมภีร์ที่ต้องการเน้นอธิบายเนื้อหาที่ชัดเจน ฉะนั้นภาษาที่ใช้จึงมีรูปแบบที่ชัดเจน ค่อนข้างตายตัวอยู่พอสมควร ส่วนรูปแบบการจัดวางเนื้อหานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละคัมภีร์ ทั้งนี้ก็ปรับตามรูปแบบคัมภีร์อรรถกถารุ่นเก่าที่สืบกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล หรือ ปรับตามที่ท่านผู้รจนาเห็นว่าเหมาะสมกับเนื้อหา เพราะประเด็นที่เน้นในแต่ละที่จะมีเนื้อหาไม่เหมือนกัน เช่น 

ในอรรถกถาของขุททกปาฐะ เขียนเรื่อง ทวัตติงสาการไว้ไม่เหมือนกับทวัตติงสาการในวิสุทธิมรรค ทั้งนี้ก็เพราะอรรถกถาขุททกปาฐะมุ่งเน้นที่การเขียนเป็นทางเลือกสำหรับพระภิกษุผู้ยังไม่แน่นอนว่าจะเลือกระหว่าง อาการ 32 หรือ จตุธาตุววัตถาน 42 จึงเขียนไว้ทั้ง 2 กรรมฐานสลับกัน ซึ่งก็ตรงตามจุดประสงค์ของคัมภีร์ขุททกปาฐะที่เน้นการเริ่มต้นศึกษาไปตามลำดับ สำหรับแนะแนวการเริ่มปฏิบัติและแนะแนวการสอนปฏิบัติ, ส่วนในวิสุทธิมรรค เน้นอธิบายอาการ 32 โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นไปตามเนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่เน้นอธิบายไปทีละอย่างทีละประเด็นสำหรับปฏิบัติสมาธิ (อาการ 32) และสำหรับการปฏิบัติวิปัสสนา (จตุธาตุววัตถาน 42) อย่างละเอียดในแต่ละเรื่องนั้นๆ, วิธีเขียนจึงแตกต่างกันตามคัมภีร์ไปอย่างนี้ เป็นต้น ไม่ใช่เขียนเอาเองตามใจแต่อย่างใด. 

ที่มา : วิกิพีเดีย


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: