มีปัญญาอันแท้จริง ต้องเอาตัวรอดได้จาก”กิเลส”
“ นี่ ผมก็อยากจะจํากัดความตามหลักของภาษาบาลีว่า ผู้มีปัญญาอันแท้จริง เขาเรียกว่า “บัณฑิต”, “ปัณฑา” หรือ ปัญญา นี้ เขาแปลว่า ความรู้ที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้, คํา “อิตะ” เอามาต่อท้ายเป็น “ปัณฑิตะ” นี้แปลว่า ผู้มีปัญญา ; ปัณฑิตะ - ผู้มีปัญญาที่เป็นเครื่องช่วยให้เอาตัวรอดได้. คุณเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้ปริญญา แล้วก็เรียกว่า “บัณฑิต” นั้น บัณฑิต นี่ นี้ไปยืมเขามา ; ความหมายอันแท้จริงของคําว่า “บัณฑิต” นั้น หมายไปถึงเอาตัวรอดได้จากกิเลส บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ; นั่นแหละคือบัณฑิตที่เอาตัวรอดได้จริง
เดี๋ยวนี้ เราเอาตัวรอดได้แต่ในบางอย่าง บางสิ่ง แล้วก็บางระดับเท่านั้น ; เช่นว่า สอบได้ปริญญา เป็นบัณฑิตวิศวกรรมบัณฑิต อะไรบัณฑิต นี้ก็เอาตัวรอดได้จากความโง่บางระดับ, รอดจากความไม่สามารถบางระดับ ; เอาตัวรอดมาได้เท่านั้น ก็เรียกว่าบัณฑิต แต่แล้วก็มักจะยกหู-ชูหางกันเสีย แล้วมันยังไม่ถึงไหนสักที. ต้องเอาตัวรอดให้ได้ต่อไปอีก ; ออกไปประกอบอาชีพการงาน เอาตัวรอด : ฟันฝ่าอุปสรรคเรื่อยไป จนถึงกับว่าสูงอายุแล้ว มีทรัพย์สมบัติพอตัวแล้ว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีอํานาจวาสนาพอตัว มีครอบครัวที่ดี มีมิตรสหายที่ดี; อย่างนี้ก็พอจะเรียกได้เหมือนกันว่า “เอาตัวรอด” ได้ เมื่อมาถึงขั้นนี้แต่ก็ยังไม่ใช่ที่สุด ไม่ใช่ถึงขั้นที่สุด
อีกอย่างหนึ่ง ความรู้วิชาสามารถของพวกที่จบปริญญามาจากมหาวิทยาลัยนั้น จะส่งไปถึงไหนอีกมันก็ดูจะอยู่ที่นั่น หยุดอยู่ที่นั่น ; เพราะฉะนั้น ปริญญา หรือ ปัญญา อย่างนี้ ก็เรียกว่าอย่างโลกหรืออย่าง “โลกิยะ” คืออย่างที่ยังวกเวียนอยู่ในโลก เรียกว่าเป็น “โลกิยปัญญา” ก็แล้วกัน
ทีนี้ ถ้าสมมติว่าคนนั้นที่เขามาถึงขั้นโลกิยะนี้แล้ว รู้สึกว่ายังไม่ไหว แค่นี้เอง ยังหลอกลวง ; เขาเดินต่อไปตามทางของศาสนา พบปัญญาในระดับสูง ทําให้ไม่หลงใหลในสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เคยหลงใหลอย่างเต็มที่มาแต่กาลก่อน แล้วจิตอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น เป็นจิตที่ สะอาด สว่าง สงบ, คําว่า “สงบ” นั่นคือไม่มีทุกข์ เป็นอิสระ นี่เขาเรียกว่า “เอาตัวรอดในขั้นสูงสุด”; แล้ว ปัญญานี้ก็เลยเรียกกันเสียใหม่ว่า “โลกุตตรปัญญา” - ปัญญาที่จะทําให้อยู่เหนือความบีบคั้นของโลก หรือเหนือปัญหานานาชนิดของโลก”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ทำไม เราจึงไม่มีปัญญา” บรรยายแก่เหล่านักศึกษา เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๘ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “โมกขธรรมประยุกต์” เรื่องที่ ๔
0 comments: