วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องใช้ให้เป็น

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องใช้ให้เป็น

ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบเสียต่อธรรม คุณจะต้องหยุด เมตตาออกไปไม่ได้ กรุณาออกไปไม่ได้ มุทิตาออกไปไม่ได้ ไปขวนขวายไม่ได้ ต้องหยุดขวนขวาย การหยุดขวนขวายนี้ เรียกว่า“เฉย” คือเอาธรรมไว้ ไม่เอาคน หรือวางคนไว้ ว่าไปตามธรรม นี่คือ “อุเบกขา”

“อุเบกขา” ก็คือ หยุดการขวนขวายที่จะไปช่วยคนนั้น เพื่ออะไร? เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกฎแห่งธรรม ทั้งกฎธรรมชาติ และกฎหมาย เราต้องหยุดต้องงด แล้วให้กฎออกมาแสดงตัว.   เราไม่แทรกแซงเพื่ออะไร ? เพื่อให้กฎธรรมชาติและกฎหมายนั้นแสดงผลออกมา ถ้ามนุษย์เข้าไปขัดขวางกฎแห่งธรรม สังคมก็เรรวนหมด จึงต้องให้ธรรมเข้ามาจัดการ หมายความว่า กติกา กฎเกณฑ์ หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น นี่คือข้อ ๔ ที่เรียกว่า “อุเบกขา”...

พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

สามข้อแรก รักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระหว่างมนุษย์ แต่ข้อที่สี่ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม ซึ่งก็คือรักษาฐานของสังคมไว้.  ฉะนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ในหลักการ ๔ ข้อนี้ ก็จะมีดุลยภาพให้สังคมอยู่ในความพอดี ยามอยู่ดีไม่มีอะไรผิดก็ช่วยกันอย่างดีมีน้ำใจ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อความจริง คือ ต่อธรรม ต่อกฎเกณฑ์กติกา ไม่ให้หลักการเสีย ถ้าเสียเมื่อไร ก็หยุด ไม่เอาด้วย ว่าไปตามกฎแห่งธรรม”

สามข้อแรกใช้ความรู้สึกมาก เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ดี ไม่ต้องการ“ปัญญา”มากนัก ปัญญาใช้บ้างนิดหน่อย แต่ข้อที่สี่ เห็นได้ว่าปัญญาเป็นใหญ่ เพราะเราจะปฏิบัติข้อสี่ได้ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นความจริงถูกต้องดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร กฎ กติกาว่าอย่างไร...”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: