วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๑)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๑)  ปัญหาที่  ๘  ปาทสกลิกาหตปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์,  พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคจะเสด็จดำเนินไป แผ่นดินใหญ่อันหาเจตนามิได้นี้ ก็ปรับที่ลุ่มต่ำทำให้สูงขึ้น ปรับที่โคกสูงทำให้ต่ำลง ดังนี้ และยังกล่าวอีกว่า

“ภควโต  ปาโท  สกลิกายขโต” (วิ.จุ. ๗/๑๔๙ โดยความ) สะเก็ดหินกระเด็นมากระทบที่พระบาท ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เพราะเหตุไร พอสะเก็ดหินกระเด็นตกมาที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว สะเก็ดหินนั้นจึงไม่หันกลับไป พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไป แผ่นดินใหญ่อันหาเจตนามิได้นี้ ก็ปรับที่ลุ่มต่ำทำให้สูงขึ้น ปรับที่โคกสูงทำให้ต่ำลง จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า สะเก็ดหินกระเด็นมากระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า สะเก็ดหินกระเด็นมากระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคจะเสด็จดำเนินไปแผ่นดิน ใหญ่อันหาเจตนามิได้นี้ ก็ปรับที่ลุ่มต่ำทำให้สูงขึ้น ปรับที่โคกสูงทำให้ต่ำลง ดังนี้ ก็ไม่ถูกต้อง แม้ปัญหาข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ข้อที่ว่า เมื่อพระตถาคตจะเสด็จดำเนินไปแผ่นดินใหญ่อันหาเจตนามิได้นี้ก็ปรับที่ลุ่มต่ำทำให้สูงขึ้น ปรับที่โคกสูงทำให้ต่ำลง และที่ว่า สะเก็ดหินกระเด็นมากระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคดังนี้ นี้เป็นความจริง มีอยู่ ก็แต่ว่า สะเก็ดหินมิได้กระเด็นไปตามธรรมดาของตน กระเด็นตกไปเพราะความพยายามของพระเทวทัตต่างหาก ขอถวายพระพร พระเทวทัตผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคมาหลายแสนชาติ ด้วยความอาฆาตนั้น พระเทวทัตนั้น คิดว่า เราจะงัดก้อนหินใหญ่ขนาดเรือนยอด ให้กลิ้งไปทับพระผู้มีพระภาค ดังนี้ แล้วก็ปล่อยก้อนหินใหญ่นั้นไป ลำดับนั้น ก็มีหิน ๒ ก้อน โผล่ขึ้นมาจากดินสกัดกั้นก้อนหินใหญ่นั้นไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะการกระแทกกันแห่งก้อนหินเหล่านั้น ก็เกิดสะเก็ดหินปริแตกจากก้อนหิน กระเด็นตกไปข้างนั้นข้างนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ก้อนหินเล็ก ๒ ก้อน น่าจะสกัดกั้นสะเก็ดหินเอาไว้ได้ เหมือนอย่างที่สกัดกั้นก้อนหินใหญ่ไว้ได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สกัดกั้นแล้วด้วย (แต่) ในบรรดาสะเก็ดหินเหล่านั้น มีสะเก็ดหินบางชิ้น เล็ดรอดไปได้ไม่หยุดอยู่กับที่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า น้ำที่เขาใช้ฝ่ามือวักขึ้นมา ย่อมรั่วไหลออกไปทางร่องนิ้วมือ ไม่ขังอยู่กับที่ นมสด เปรียง น้ำผึ้ง เนยใส น้ำมัน ซุปปลา ซุปเนื้อ ที่เขาใช้ฝ่ามือวักขึ้นมา ย่อมรั่วไหลออกทางร่องนิ้วมือได้ ไม่ขังอยู่กับที่ฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อหิน ๒ ก้อนโผล่ขึ้นมาเพื่อสกัดกั้น ก็ยังมีสะเก็ดหินปริแตกจากก้อนหิน เพราะการกระแทกกัน กระเด็นตกไปข้างนั้นข้างนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เม็ดทรายที่เสมอด้วยฝุ่นละอองที่เล็กละเอียด ที่เขาถือไว้ด้วยกำมือย่อมรั่วไหลออกทางร่องนิ้วมือ ไม่ขังอยู่กับที่ ฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อหินสองก้อนโผล่ขึ้นมาเพื่อสกัดกั้น ก็ยังมีสะเก็ดหิน ปริแตกจากก้อนหิน เพราะการกระแทกกัน กระเด็นตกไปข้างนั้นข้างนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า คำข้าวที่ยังอยู่ในปาก ย่อมมีบางส่วนหลุดออกจากปาก ไม่ตั้งอยู่กับที่ฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อหินสองก้อนโผล่ขึ้นมาเพื่อสกัดกั้น ก็ยังมีสะเก็ดหินปริแตกจากก้อนหิน เพราะการกระแทกกัน กระเด็นตกไปข้างนั้นข้างนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, เอาละ พระคุณเจ้านาคเสน ก็เป็นอันว่า หินเล็ก ๒ ก้อน สกัดกั้นหินใหญ่ไว้ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้สะเก็ดหินก็น่าจะทำความยำเกรงพระผู้มีพระภาค เหมือนอย่างแผ่นดินใหญ่บ้าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร คน ๑๒ จำพวกเหล่านี้ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง ๑๒ จำพวกอะไรบ้าง ? ได้แก่

รตฺโต  คนกำหนัด ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรงด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑,   ทุฏโฐ  คนโกรธ  ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรงด้วยอำนาจแห่งโทสะ ๑,   มูโฬฺห  คนหลง ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรงด้วยอำนาจแห่งโมหะ ๑,   อุนฺนโต  คนจองหอง ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรงด้วยอำนาจแห่งมานะ ๑,   นิคฺคุโณ  คนเนรคุณ ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรงเพราะหาความแตกต่างมิได้ ๑,  อติถทฺโธ  คนแข็งกระด้าง ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะหาความรู้จักหักห้ามใจไม่ได้ ๑,  หิโณ  คนเลว  ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะมีสภาวะแห่งคนเลว ๑,  วจนกโร  คนคอยทำตามคำสั่ง ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะหาความเป็นอิสระมิได้ ๑,   ปาโป คนชั่วช้า ย่อมไม่รู้จัก ทำความยำเกรง เพราะความตระหนี่ ๑,   ทุกฺขาปิโต  คนเปี่ยมความทุกข์ ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะมัวแต่คิดบำบัดทุกข์เฉพาะหน้า ๑,   ลุทฺโธ  คนโลภ  ยังไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะความที่ถูกความอยากครอบงำ ๑,   อายูหิโต  คนง่วนอยู่กับงาน ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง เพราะมุ่งแต่จะให้สำเร็จสิ่งที่ต้องการ ๑

ขอถวายพระพร บุคคล ๑๒ จำพวกเหล่านี้ แล ย่อมไม่รู้จักทำความยำเกรง ก็แต่ว่าสะเก็ดหินนั้น พอปริแตกเพราะการกระทบกันแห่งก้อนหินแล้ว ก็ไม่ได้ทำการหมายทิศไว้ จึงกระเด็นตกไปทางทิศนั้น ทิศนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ขี้ฝุ่นที่เป็นละอองเล็กละเอียด พอถูกกำลังลมหายใจกระทบ ก็ไม่ได้ทำการหมายทิศไว้ ย่อมฟุ้งกระจายไปทางทิศนั้น ทิศนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร สะเก็ดหินปริแตกเพราะการกระทบกันแห่งก้อนหินแล้ว ก็ไม่ได้ทำการหมายทิศไว้ ย่อมกระเด็นตกไปทางทิศนั้นทิศนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าสะเก็ดหินนั้นไม่ปริแตกไปจากก้อนหินใหญ่ ไซร้ หิน ๒ ก้อนนั้น ก็จะผุดขึ้นมารับเอาสะเก็ดหินนั้นไว้ได้ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า สะเก็ดหินนั้นไม่ได้ตั้งอยู่แล้วที่พื้นดิน ไม่ได้ตั้งอยู่แล้วในอากาศ แต่ว่าปริแตกเพราะแรงกระแทกอันแห่งก้อนหิน จึงไม่ได้ทำการหมาย ทิศไว้ ย่อมตก ไปทิศนั้นทิศนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนว่า ใบไม้แห้ง พอถูกลมหัวด้วนพัดขึ้นไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำการหมายทิศไว้ย่อมตกไปในทางทิศนั้นทิศนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร สะเก็ดหินนั้น พอประแตกเพราะแรงกระแทกอันแห่งก้อนหินแล้ว ก็มิได้ทำการหมายทิศไว้ ย่อมกระเด็นตกไปทางทิศนั้นทิศนี้ กระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร อนึ่ง สะเก็ดหินกระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคก็เพื่อจะทำให้พระเทวทัตผู้ชั่วช้าอกตัญญูได้เสวยทุกข์ แล.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบปาทสกลิกาหตปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับสะเก็ดหินที่กระเด็นตกไปกระทบพระบาทชื่อว่า ปาทสกลิกาหตปัญหา ในอรรถกถาเป็น.  ภควโต  ปาเท  ปปฏิกาปตนปัญหา – ปัญหาเกี่ยวกับการที่สะเก็ดหินตกไปกระทบที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค.   แง่ปมปัญหามีอยู่ว่า สะเก็ดหินน่าจะมีความยำเกรงพระผู้มีพระภาค โดยการที่กระเด็นมาแล้ว ก็หันหลังกลับไป ไม่ตกไปกระทบที่พระบาท เหมือนอย่างที่แผ่นดินใหญ่กระทำความยำเกรง ด้วยการคอยปรับที่ลุ่มต่ำให้สูงขึ้นมา คอยปรับที่โคกสูงให้ต่ำลงมา ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากยอมรับว่า คำหนึ่งถูกต้อง คำที่เหลือก็ย่อมไม่ถูกต้อง.   คำว่า เพราะหาความแตกต่างไม่ได้ คือ หาการพิจารณาถึงความแตกต่างกัน เกี่ยวกับว่า ท่านผู้นี้มีคุณแก่เรา ส่วนเราเป็นผู้ควรทำตอบแทนคุณของท่านผู้นี้ ย่อมถึงความเสมอเหมือนกัน ความว่า เพราะหาความสำเหนียกในคุณที่ผู้อื่นกระทำมิได้.   คำว่า เพราะหาความรู้จักหักห้ามใจมิได้ คือ เพราะหาความรู้จักจะข่มใจในอันนอบน้อมผู้อื่นไม่ได้.  คำว่า เพราะมีสภาวะแห่งคนเลว ความว่า ธรรมเลวทราม ที่สร้างความเป็นคนเลวทราม อันได้แก่ อุปกิเลสทั้งหลายมีมายาสาไถย ความปรารถนาลามก เป็นต้น ชื่อว่า สภาวะแห่งคนเลว ได้แก่ เพราะมีสภาวะแห่งคนเลวดังกล่าวนี้.  ชื่อว่า มิได้ทำการหมายทิศไว้ ก็เพราะความเป็นธรรมชาติที่หาเจตนาไม่ได้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ อัคคัคคสมณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อาสวานํ  ขยา  สมโณ  โหติ” (ม.มู. ๑๒/๕๑๘) ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้ และตรัสอีกว่า  “จตุพฺภิ  ธมฺเมหิ  สมงฺคิภูตํ,  ตํ  เอว  นรํ  สมณํ  อาหุ  โลเก” (ขุ.ชา. ๒๗/๒๔๗)  ปราชญ์ทั้งหลายในโลกย่อมกล่าวถึงนระที่เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการนั้นนั่นเทียวว่าเป็นสมณะ ดังนี้

คำที่ตรัสไว้นั้นธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ได้แก่

ขันติ   ความอดทน ๑,     อัปปาหารตา   ความเป็นผู้มีอาหารน้อย ๑,   รติวิปปหานะ   การละความยินดี ๑,    อากิญจัญญะ ขวาไม่มีสิ่งยุ่งเกี่ยว ๑

ก็สิ่งทั้งหมดนี้ ย่อมมีแก่ผู้ที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ยังมีกิเลสอยู่นั่นเทียว พระคุณเจ้า นาคเสน ถ้าหากว่า บุคคลเป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า ปราชญ์ทั้งหลายในโลก ย่อมกล่าวถึงนระที่เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการนั้น นั่นเทียว ว่าเป็นสมณะ ถ้าหากนระที่เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่า เป็นสมณะ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้วขอท่านจงคลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มี พระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้จึง และตรัสไว้อีกว่า ปราชญ์ทั้งหลายในโลก ย่อมกล่าวถึงนระที่เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการนั้น นั่นเทียว ว่าเป็นสมณะ ดังนี้จริง.   ขอถวายพระพร คำนี้ที่ว่า ปราชญ์ทั้งหลายในโลก ย่อมกล่าวถึงนระที่เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการ นั่นเทียว ว่า เป็นสมณะ ดังนี้นั้น ตรัสไว้เกี่ยวกับเป็นคุณธรรมสำหรับบุคคลเหล่านั้น ส่วนคำว่า ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายดังนี้ นี้ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้.   ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บรรดาบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสงบกิเลส (คือเป็นสมณะ) พระขีณาสพผู้สงบกิเลสได้แล้วนั่นเทียว เทียบๆกับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดแล้วก็จัดว่าเป็นยอดสมณะ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ดอกไม้ทั้งที่เกิดในน้ำ ทั้งที่เกิดบนบก เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดาดอกไม้เหล่านั้น ดอกมะลิ กล่าวได้ว่าเป็นยอดดอกไม้ ก็ดอกไม้ชนิดต่างๆ เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เหลือ ดอกมะลินั่นเทียว เทียบๆ กับดอกไม้ทั้งหมดเหล่านั้นแล้ว ก็จัดว่าเป็นดอกไม้ที่คนปรารถนา ที่คนชื่นใจ ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อสงบกิเลสเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พระขีณาสพผู้สงบกิเลสได้แล้วนั่นเทียว เทียบๆกับบุคคลเหล่านั้นแล้ว ก็จัดว่าเป็นยอดสมณะ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ข้าวสาลีกล่าวได้ว่าเป็นยอดข้าวแห่งประเภทข้าวทั้งหลาย ข้าวชนิดต่างๆเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เหลือ ข้าวสาลีนั่นเทียว เทียบๆ กับข้าวทั้งหมดเหล่านั้น ด้านความเป็นโภชนะเยียวยาสรีระแล้ว ก็กล่าวได้ว่า เป็นยอดโภชนะแห่งบรรดาข้าวเหล่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อสงบกิเลสเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พระขีณาสพผู้สงบกิเลสได้แล้วนั่นเทียว เทียบๆ กับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดแล้วก็จัดว่าเป็นยอดสมณะฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบอัคคัคคสมณปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นสมณะชั้นยอดๆ ชื่อว่า อัคคัคคสมณปัญหา (ฉบับของไทย แปลเป็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นยอดสมณะและไม่ใช่ยอดสมณะ).   คำว่า ก็สิ่งทั้งหมดนี้ ย่อมมีแก่ผู้ที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ยังมีกิเลสอยู่นั่นเทียว ความว่า ก็สิ่งทั้งหมดคือธรรม ๔ อย่างมีขันติเป็นต้นนี้ ย่อมมีแก่ผู้ที่ยังไม่สิ้นอาสวะ คือยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็พระเจ้ามิลินท์ทรงหมายเอาเรื่องที่มาใน จตุโปสถชาดก (ขุ.ชา. ๒๗/๒๗๓) จึงได้ตรัสคำนี้ จริงอย่างนั้น ในชาดกเรื่องนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ได้ตรัสสอนบุคคล ๔ คนซึ่งล้วนเป็นปุถุชน คือพญานาค ๑, พญาสุบรรณ ๑, ท่านท้าวสักกะ ๑, พระเจ้าโกรัพยะ ๑ มีใจความว่า บุคคลได้ชื่อว่าสมณะ ซึ่งแปลว่าผู้สงบ ก็เพราะมีธรรมเครื่องทำให้สงบ คือ   พญานาค จะได้ชื่อว่าสมณะ ก็เพราะมีขันติ ความอดทนอดกลั้นเป็นเครื่องสงบความกลัว พญาสุบรรณและความกลัวตาย.    พญาครุฑ จะได้ชื่อว่าสมณะ ก็เพราะมี อัปปาหารตา ความเป็นผู้มีอาหารน้อย คือ ความคิดงดเว้นการถือเอาพวกนาคเป็นอาหารเป็นเครื่องสงบเวร.   ท้าวสักกะ จะได้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะมีรติวิปปหานะ การละความยินดีคือละเว้นหลีกห่างจากหมู่นางฟ้า เป็นเครื่องสงบความเร่าร้อนคือราคะ.   พระเจ้าโกรัพยะ จะได้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะมี อากิญจัญญะ ความไม่มีสิ่งยุ่งเกี่ยวอันเป็นชื่อของความมักน้อยและความสันโดษ เป็นเครื่องสงบความขวนขวายไม่รู้จักหยุด ในอันจะแผ่พระราชอำนาจครอบครองแว่นแคว้นชนบท (เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงทรงดำริว่า) เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า สมณะ ใน ๒ ที่ ๒ แห่ง จึงมีความหมายขัดแย้งกัน

คำว่า ตรัสไว้เกี่ยวกับเป็นคุณธรรมสำหรับบุคคลเหล่านั้น คือ ธรรม ๔ อย่าง มีขันติ เป็นต้น ตรัสไว้โดยเกี่ยวกับเป็นคุณธรรมที่พึงสมาทาน สำหรับบุคคลเหล่านั้น มีพญานาคเป็นต้น.   คำว่า เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ คือ เป็นคำพูดโดยนิปริยาย ไม่ยักย้ายประยุกต์ไปตามความเหมาะสมแก่ประเภทบุคคล เพราะคำว่า สมณะ ว่าโดยนิปริยาย ก็ได้แก่บุคคลผู้สงบกิเลสทั้งหลายได้ คือพระอรหันต์.    คำว่า อีกอย่างหนึ่ง บรรดาบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นต้น ความว่า อีกอย่างหนึ่ง คือมีอรรถาธิบายอีกอย่างหนึ่งอย่างนี้ ว่า แม้ในที่อื่น จะตรัสถึงบุคคลผู้มีธรรม ๔ อย่างว่าเป็นสมณะก็ตาม ก็มิได้ตรัสไว้ด้วยทรงหมายเอาว่าเป็นยอดสมณะ ส่วนคำที่ตรัสว่า ชื่อว่าสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้ นี้ ตรัสไว้ด้วยทรงหมายเอาว่าเป็นยอดสมณะ.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๑

การสั่งสมธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ๕ ประการ คือ  เมื่อทำกุศลแล้วตั้งความปรารถนาว่าด้วยเดชแห่งกุศลที่ได้บำเพ็ญในชาตินี้

๑.) ขอจงเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลไปทุกๆ ชาติด้วยเทอญ    ๒.) ขอให้ต่อไปภายหน้าขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดในประติรูเทศะ คือประเทศที่ประกอบด้วยบุคคลผู้มีศีลธรรมตลอดไปทุกๆชาติเทอญ    ๓.) ต่อไปถ่ายหน้าขอให้ข้าพเจ้าได้คบหาเหล่าสัตบุรุษตลอดไปทุกๆ ชาติเทอญ    ๔.) ต่อไปภายหน้าขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปัญญา มีโอกาสศึกษาและเข้าใจพระสัทธรรมทุกๆ ชาติเทอญ    ๕.) ต่อไปภายหน้าขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในศีลธรรมตลอดไปทุกๆชาติเทอญ.   การตั้งความปรารถนา ๕ ประการนี้ ยังทำให้พ้นจากอกุศลกรรมบางอย่างด้วย.  

เหตุที่ทำให้เกิดโยนิโสนมสิการ   ๑.) ทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน  ๒.) เกิดในประเทศอันสมควร (หมายถึงเกิดในประเทศที่มีมีพุทธศาสนา)  ๓.) คบกับสัตบุรุษ  ๔.) ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ  ๕.) ตั้งตนไว้ชอบ

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ.

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: