ประพฤติพรหมจรรย์
[สมัยหนึ่ง ชานุสโสณีพราหมณ์ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]
ช: ท่านพระโคดมได้ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี (ผู้เว้นจากการเสพเมถุน) หรือ?
พ: พราหมณ์ ถ้าจะพูดถึงผู้ใดว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็พูดถึงเรานั่นแล เพราะเราประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์
ช: อย่างไรถึงจะเรียกว่าขาดทะลุ ด่างพร้อยหรือ
พ: สมณะหรือพราหมณ์บางคนปฏิญาณว่าตนเป็นพรหมจารี ไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง แต่ยังพอใจที่ผู้หญิงมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้อยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ แต่ยังหัวเราะสัพยอกกับผู้หญิงอยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ ไม่หัวเราะสัพยอกกับผู้หญิง แต่ยังจ้องดูผู้หญิงอยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ ไม่หัวเราะสัพยอกกับผู้หญิง ไม่จ้องดูผู้หญิง แต่ยังชอบที่จะฟังเสียงผู้หญิงพูด หัวเราะ ร้องเพลง ร้องไห้ ทั้งนอกฝานอกกำแพงอยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ ไม่หัวเราะสัพยอกกับผู้หญิง ไม่จ้องดูผู้หญิง ไม่ชอบฟังเสียงผู้หญิงพูด หัวเราะ ร้องเพลง ร้องไห้ ทั้งนอกฝานอกกำแพง แต่ยังตามนึกถึงการพูดเล่นหัวกับผู้หญิงเมื่อในอดีตอยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ ไม่หัวเราะสัพยอกกับผู้หญิง ไม่จ้องดูผู้หญิง ไม่ชอบฟังเสียงผู้หญิงพูด หัวเราะ ร้องเพลง ร้องไห้ ทั้งนอกฝานอกกำแพง ไม่ตามนึกถึงการพูดเล่นหัวกับผู้หญิงเมื่อในอดีต แต่ยังพอใจที่ได้เห็นคฤหบดีหรือลูกคฤหบดีที่พรั่งพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) อยู่...
บางคนไม่ร่วมคู่กับผู้หญิง ไม่พอใจที่ผู้หญิงจะมาขัดสีลูบไล้ นวดเฟ้น หรืออาบน้ำให้ ไม่หัวเราะสัพยอกกับผู้หญิง ไม่จ้องดูผู้หญิง ไม่ชอบฟังเสียงผู้หญิงพูด หัวเราะ ร้องเพลง ร้องไห้ ทั้งนอกฝานอกกำแพง ไม่ตามนึกถึงการพูดเล่นหัวกับผู้หญิงเมื่อในอดีต ไม่พอใจที่ได้เห็นคฤหบดีหรือลูกคฤหบดีที่พรั่งพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แต่ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะอยากจะเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง...
เหล่านี้เรียกว่าขาดทะลุ ด่างพร้อย ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ถูกรัดอยู่กับการเป็นคู่ (เมถุนสังโยค) ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ใจที่เหี่ยวแห้ง) ปริเทวะ (คร่ำครวญรำพัน) ทุกข์ โทมนัส (เสียใจ) และอุปายาส (คับแค้นใจ)
เรากล่าวว่า ย่อมไม่อาจหลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้
พราหมณ์ ถ้าเราพิจารณาเห็นเมถุนสังโยคที่ยังละไม่ได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ข้อนั้น เราจะยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้ แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วไม่เห็นเมถุนสังโยคอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ข้อนั้น เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว เราหยั่งรู้ได้ว่า กิเลสไม่กลับมาแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีภพใหม่อีก
ช: ท่านพระโคดม คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ผมขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำผมว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 37 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฎฐก-นวกนิบาต ภาค 4 มหายัญญวรรค เมถุนสูตร ข้อ 47), 2559, น.106-109
0 comments: