เวริชาตกํ - การอยู่ร่วมกับมีเวรกัน
"ยตฺถ เวรี นิวิสติ, น วเส ตตฺถ ปณฺฑิโต;
เอกรตฺตํ ทิรตฺตํ วา, ทุกฺขํ วสติ เวริสูติ ฯ
คนมีเวรกันอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น, เพราะเมื่ออยู่ในพวกคนมีเวรกันคืนเดียว หรือสองคืน ก็อยู่เป็นทุกข์."
เวริชาดกอรรถกกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ยตฺถ เวรี นิวีสติ ดังนี้.
ได้ยินว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ไปสู่หมู่บ้านส่วยแล้วกำลังเดินมา พบพวกโจรในระหว่างทาง คิดว่า „ไม่ควรพักแรมในระหว่างทาง ต้องไปให้ถึงพระนครสาวัตถีทีเดียว“ แล้วขับฝูงโคมาถึงพระนครสาวัตถีโดยรวดเร็ว รุ่งขึ้นไปสู่พระวิหารกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดาพระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนคฤหบดี แม้ในปางก่อน บัณฑิตพบโจรในระหว่างทาง ไม่ค้างแรมในระหว่างทาง ไปจนถึงที่อยู่ของตนทีเดียว“ ท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐี มีสมบัติมาก ไปสู่ที่รับเชิญในหมู่บ้าน เพื่อการบริโภค เมื่อเดินทางกลับ พบพวกโจรในระหว่างทาง ไม่หยุดในระหว่างทางเลยรีบขับโคทั้งหลาย มาสู่เรือนของตนทีเดียว บริโภคอาหารด้วยรสอันเลิศ นั่งเหนือที่นอนอันมีราคามาก ดำริว่า „เราพ้นจากเงื้อมมือโจร มาสู่เรือนตนอันเป็นที่ปลอดภัย“ แล้วกล่าวคาถานี้ด้วยสามารถแห่งอุทานว่า :- „ไพรีอาศัยอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่พึงอยู่ ในที่นั้น, บุคคลอยู่ในพวกไพรี คืนหนึ่งหรือ สองคืน ย่อมอยู่เป็นทุกข์.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวรี ได้แก่ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยเจตนาคิดก่อเวร. บทว่า นิวีสติ แปลว่า ย่อมพำนักอยู่. บทว่า น วเส ตตฺถ ปณฺฑิโต ความว่า บุคคลผู้เป็นไพรีนั้นพำนัก คืออาศัยอยู่ในที่ใด บัณฑิตคือท่านผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต ไม่ควรอยู่ในที่นั้น. เพราะเหตุไร ? เพราะบุคคลอยู่ในกลุ่มไพรี คืนหนึ่งหรือสองคืน ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ขยาย ความว่า บุคคลเมื่ออยู่ในกลุ่มของไพรี แม้วันเดียวสองวัน ก็ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ทั้งนั้น.
พระโพธิสัตว์เปล่งอุทานด้วยประการฉะนี้ กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้นแล้วไปตามยถากรรม.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า ในครั้งนั้น เราตถาคตแลได้เป็นเศรษฐีเมืองพาราณสีฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: