วิสัยทัศน์ ของ “ผู้มีปัญญา”
“ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วหวังเพียงแค่มีชีวิตที่ยืนยาวเท่านั้น หากยังปรารถนาที่จะได้รับประโยชน์สุขจากชีวิตนี้ด้วย ในทัศนะของคนทั่วไปประโยชน์สุขที่พึงได้นั้นย่อมได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทอง สุขภาพ สถานภาพ รวมถึง การมีครอบครัวดี
แต่.. อย่างไรก็ตามในทัศนะของพุทธศาสนา นั่นเป็นแค่ประโยชน์เบื้องต้น(ทิฏฐธัมมิกัตถะ)
คนเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงประโยชน์สุขที่ประเสริฐกว่านั้น(สัมปรายิกัตถะ) ซึ่งเป็นที่มาแห่งความสุขทางใจ ได้แก่ ความเจริญงอกงามทางธรรม อันเกิดจากการสร้างบุญกุศลเป็นนิจ เหนือขึ้นไปกว่านั้นซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุด(ปรมัตถะ)ที่พึงได้จากชีวิตนี้ก็คือ การเป็นอิสระจากกองทุกข์ทั้งปวง เพราะมีปัญญารู้ชัดในสัจธรรม จนไม่มีความยึดติดถือมั่นในสิ่งใด
แม้ผู้คนในยุคนี้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตกลับหดสั้นลง หวังเพียงแค่ประโยชน์สุขเฉพาะหน้า เวลาเกือบทั้งชีวิตจึงหมดไปกับการทำมาหาเงินและการแสวงหาความสะดวกสบายทางวัตถุหรือความเพลิดเพลินทางโลก ซึ่งให้ความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ตามมาด้วยความทุกข์ทางใจ อาทิ ความเครียด ความวิตกกังวล ความรุ่มร้อนเพราะอยากได้ไม่หยุดหย่อน มิหนำซ้ำเมื่อต้องพบกับความพลัดพรากสูญเสีย หรือความแก่ ความเจ็บ และความตาย อันเป็นธรรมดาโลก สิ่งต่าง ๆ ที่สะสมพอกพูนมาไม่ว่าเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ ก็มิอาจช่วยให้จิตใจคลายทุกข์ได้เลย
ผู้ที่มีปัญญาย่อมตระหนักดีว่า ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความผันผวนปรวนแปร หาความจิรังยั่งยืนมิได้ จึงมองพ้นความสุขเฉพาะหน้า ไม่ฝากความหวังไว้กับเงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจ หากมุ่งบำเพ็ญธรรม หมั่นฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อกายวาจาที่สะอาด จิตที่สงบ และปัญญาที่สว่างไสว มิใช่เพียงเพื่อความสุขในปัจจุบันเท่านั้น แต่เพื่อความสงบเย็นในยามที่ต้องเผชิญกับความพลัดพรากสูญเสียและความแปรเปลี่ยนในวันข้างหน้า
ความผันผวนปรวนแปรเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่เราไม่จำต้องเป็นทุกข์เพราะมันก็ได้ เราสามารถรักษาใจให้เป็นสุขได้ นี้คือประโยชน์ที่จะได้จากธรรมอันน้อมนำมาสู่ใจ และยังช่วยให้เราสามารถบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ได้อย่างไม่มีประมาณ ”
พระไพศาล วิสาโล
0 comments: