วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

คำสอนที่เหมาะกับคนที่ยังตัดทางโลกไม่ได้

คำสอนที่เหมาะกับคนที่ยังตัดทางโลกไม่ได้

[ณ นิคมกักกรปัตตะ แคว้นโกลิยะ ทีฆชาณุ พยัคฆปัชชะ ซึ่งเป็นชาวโกลิยะได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า]

ท: ภันเต ผมเป็นฆราวาส ยังพอใจในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส มีครอบครัว มีลูกนอนข้างๆ ใช้จันทน์จากแคว้นกาสี ใช้ของหอมและดอกไม้เครื่องลูบไล้ ยังยินดีในเงินทองอยู่ ขอท่านได้โปรดแสดงธรรมที่เหมาะกับผม เพื่อความสุขในปัจจุบันและในภายหน้าด้วยเถิด

พ: พยัคฆปัชชะ มีธรรม 4 ข้อที่จะเป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบันแก่เธอ.   

ธรรม 4 ข้อนั้นคือ  อุฏฐานสัมปทา, อารักขาสัมปทา, กัลยาณมิตตตา,  และ สมชีวิตา

อุฏฐานสัมปทา คือ การขยันทำงานเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การค้าขาย เลี้ยงสัตว์ รับราชการ หรืองานศิลปะต่างๆ และให้ทำด้วยปัญญา

อารักขาสัมปทา คือ การรักษาทรัพย์สินที่ได้มาจากความขยันหมั่นเพียรเหนื่อยยากของตน

กัลยาณมิตตตา คือ การดำรงตนให้เหมาะสมในที่ที่ตนอยู่อาศัย คบหาพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน คอยเรียนรู้ศึกษาผู้ที่มีศรัทธา มีศีล มีการสละทาน และมีปัญญาไว้เป็นแบบอย่างแนวทาง

สมชีวิตา คือ การรู้ว่าอะไรทำให้เสียทรัพย์ อะไรทำให้ได้ทรัพย์ แล้วใช้ชีวิตให้พอเหมาะ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ฝืดเคืองเกินไป ให้คิดว่ารายได้ของเราจะต้องมากกว่ารายจ่าย อย่าให้รายจ่ายเกินกว่ารายได้ เปรียบเหมือนกับคนชั่งตราชั่ง ที่เมื่อยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ว่าต้องลดออกหรือเพิ่มเข้าเท่านั้นเท่านี้

ทรัพย์สมบัติที่มีจะเสื่อมได้จาก 4 เรื่อง คือ ติดผู้หญิง เมาสุรา เล่นการพนัน และคบเพื่อนไม่ดี เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า 4 ทาง ทางไหลออก 4 ทาง ถ้าปิดทางไหลเข้าหมด เปิดแต่ทางไหลออก และฝนไม่ตกตามฤดู สระน้ำใหญ่นั้นก็จะมีแต่ความเสื่อม

พยัคฆปัชชะ มีธรรม 4 ข้อที่จะเป็นไปเพื่อความสุขในภายหน้าแก่เธอ

ธรรม 4 ข้อนั้น คือ   สัทธาสัมปทา,  สีลสัมปทา,  จาคสัมปทา,  และ ปัญญาสัมปทา

สัทธาสัมปทา คือ การเป็นผู้มีศรัทธาในปัญญาสู่การตรัสรู้ของตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนได้โดยไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

สีลสัมปทา คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดทำลายชีวิตผู้อื่น งดเว้นจากการลักทรัพย์ ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นอกใจคู่ครองของตน ละเมิดคู่ครองของคนอื่น งดเว้นจากการพูดเท็จ หลอกลวงผู้อื่นให้รู้ในคำไม่จริง งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งของความประมาท

จาคสัมปทา คือ การมีจิตใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละละ และให้ทาน

ปัญญาสัมปทา คือ การเป็นผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นการเกิดและการดับ ตัดกิเลสให้พ้นทุกข์

พยัคฆปัชชะ ธรรม 4 ข้อนี้จะเป็นไปเพื่อความสุขในภายหน้าแก่เธอ

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 37 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฎฐก-นวกนิบาต ภาค 4 สันธานวรรค ทีฆชาณุสูตร ข้อ 144), 2559, น.463-467



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: