โลกนี้ คือสิ่งที่เป็นมายา
“โลกนี้คือสิ่งที่เป็นมายา คือมันจะพ้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ว่ามันต่างออกไปอีกแง่หนึ่งเป็นมายา, เอาคําสอนของพระพุทธเจ้ามาพูดกันดีกว่า ว่า “เมื่อคนเห็นโลกอยู่ว่าเป็นเหมือนกับฟองน้ำ เหมือนกับพยับแดดแล้ว ความตายก็จะไม่มองเห็นคนนั้น” นี่สอนให้มองโลกนีัว่าเหมือนกับฟองน้ำหรือพยับแดด, ฟองน้ำนี้เกิดจากการกระทบกระเทือนที่ผิวน้ำ เกิดเป็นฟองขึ้นมา ในนั้นกลวงไม่มีอะไร เดี๋ยวก็แตกดับไป นี้เรียกว่าฟองน้ำ, ให้ดูโลกในลักษณะที่มันเป็นอย่างนี้, พยับแดดนั้นคือเมื่อแดดมันมีอากาศวิปริต กระทั่งตาเราก็ทนความร้อนไม่ได้ จนกระทั่งเห็นภาพต่างๆ ขึ้นในพยับแดด เป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงมิได้มี
ถ้ามองเห็นโลกว่าที่เห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น นี่เพราะว่ามันมีความหลอกลวงเป็นมายา, ที่จริงมันเป็นของอย่างที่ว่ามาแล้ว เช่น ไม่เที่ยงเป็นต้น. “ ยถา ปพฺพุฬกํ ปสฺเส , ยถา ปสฺเส มรีจิกํ ”, - เมื่อมองเห็นโลกอยู่อย่างนี้ “ เอวํ โลก อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ ” - ความตายจะไม่เห็นท่าน ความตายจะไม่ครอบงําท่าน. คือเมื่อมองว่ามันเป็นมายา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ว มันไม่รู้ว่าใครจะตาย ไม่มีใครจะตาย ; นี้เรียกว่าความตายจะจับตัวท่านไม่ได้ เพราะมองไม่เห็นท่าน ; นี้เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้า
นี่ มองดูเถอะทั้งโลกวัตถุ โลกมนุษย์ โลกสัตว์ แม้ก้อนหินนี้ก็มีความเป็นมายา แต่ยากที่จะมองเห็นว่าเป็นมายา, เพราะไปจับเข้าที่ไรก็เป็นก้อนหินแข็งเสียทุกที ไม่เหมือนฟองน้ำหรือพยับแดด. แต่ถ้ามองด้วยสติปัญญาที่สูงแล้ว ก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง : ทีแรกไม่มี แล้วก็มามีอยู่ แล้วก็จะหายไปในที่สุด อย่าว่าแต่ก้อนหินนี้เลย โลกทั้งโลกนี้มันก็มาจากไม่เคยมี มันก็มีขึ้นมา แล้วมันเปลี่ยนไป แล้วมันก็จักหายไป ไม่เหลือ , เพียงแต่เวลามันนาน เราไม่ทันอยู่เห็น เราไม่มีอายุยืนยาวพอจะอยู่เห็น
ถ้าสมมุติว่าเรามีอายุยืนกว่าโลกนี้สักหลายร้อยเท่าหลายพันเท่า เช่นว่า โลกมีอายุอยู่หลายแสนปีเราก็มีอายุอยู่หลายอสงไขยปี แล้วได้อยู่ดูเห็นโลกนี้แตกดับ - แตกดับ - แตกดับ - แตกดับ หลายๆ หน ; นั่นแหละเราจะเห็นได้ง่ายทันทีว่า โลกนี้เป็นมายา เหมือนฟองน้ำเหมือนพยับแดดด้วยเหมือนกัน ลองคํานึงสมมุติเอาซิว่า เรามีอายุยืนกว่าโลกหลายร้อยเท่า แล้วมองเห็นโลกนี้เกิดดับๆๆ ทั้งหลายหนก็จะเห็นก้อนหินนี้ว่าเป็นมายาได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน. นี้เรียกว่า “โลกคือสิ่งซึ่งเป็นมายา หรือความเป็นมายานั่นแหละคือโลก”.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายชุดสันทัสเสตัพพธรรม อันดับที่ ๕ หัวข้อเรื่อง “โลกในทรรศนะของพุทธบริษัทคืออะไร?” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “สันทัสเสตัพพธรรม” หน้า ๑๕๘-๑๕๙
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ที่มาเกี่ยวข้องกับเรา ไม่มีอะไร ที่ไม่มีการเกิด-การดับ ในบรรดาสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ย่อมเป็นความทุกข์อย่างเดียว
“ความเป็นจริงมีอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถือกันเป็นหลักว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีการเกิดการดับได้นั้น มีแต่ “ความทุกข์” อย่างเดียวเท่านั้น หามีความสุขไม่, แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ในบรรดาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับคนเรานั้น ไม่มีอะไรนอกไปกว่าสิ่งที่มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่เสมอ แต่คนที่ไม่รู้หรือเป็นคนเขลา คนหลง ก็ยังมัวแสวงหาความสุขในสิ่งที่มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่นั่นเอง. มีพระบาลี(พระไตรปิฎก)ในสังยุตตนิกายว่า
"ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ - ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้น" "ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ - ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่และดับไปหรือเปลี่ยนไป" "นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ – นอกจากความทุกข์แล้ว หาได้มีอะไรเกิดขึ้นไม่" "นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ – นอกจากความทุกข์แล้ว หาได้มีอะไรดับไปไม่"
หลักข้อนี้เป็นเครื่องยืนยันตรงๆ ว่า ให้คนทั้งหลายได้พินิจพิจารณาดูให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า ในบรรดาสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีแต่ความทุกข์อย่างเดียว ไม่มีความสุข. เขาจะต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจนว่า “ไม่มีอะไรที่ไม่มีการเกิดการดับ” ในบรรดาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับเรา; และในบรรดาสิ่งที่เกิด ๆ ดับๆ อยู่นั้น มันเป็นความทุกข์อยู่ในตัวความเกิดและความดับนั้นเองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความสุขอันใดที่จะเกิดหรือดับ มีแต่ความทุกข์ แต่ที่เราไปสมมติเอาว่าเป็นสุขนั้น ก็เพราะเอาโมหะหรือความหลงเข้ามาช่วย คือหลงสําคัญผิดเป็นความสุขไปเอง
สมมติว่า สุขเวทนาที่เกิดมาจากกามารมณ์ นี้เป็นตัวอย่าง ที่ใครๆก็เรียกกันว่า “เป็นความสุข” เพราะให้เกิดสุขเวทนาในขณะนั้น ; แต่โดยหลักธรรมะที่แสดงอยู่ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้นย่อมเป็นเพียงสังขารชนิดหนึ่ง คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ต้องเกิดๆ ดับๆ, ความที่ต้องดับนั้นต้องทําให้เกิดทุกข์แก่บุคคลผู้ยึดถือว่าเป็นของตน และอยากให้อยู่คงทนถาวร, หรือว่าอาการที่มันเกิดๆ ดับๆ นั้น มันย่อมทรมานจิตใจคนที่ยึดถือว่าเป็นของตน, หรือว่าอาการที่เกิดๆ ดับๆ นั้นย่อมแสดงความว่างจากสาระ ที่จะไปจับฉวยเอาเป็นจริงเป็นจังได้ เพราะมีแต่การเกิดๆ ดับๆ
สิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา” กําลังหลงใหลมัวเมากันว่าเป็นความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลินนั้น ที่แท้ก็คือการเกิดการดับที่ถี่ยิบของสังขาร : หมายความว่า เวทนานั้นย่อมเกิดขึ้นมาจากผัสสะ ซึ่งเป็นการกระทบ มีการ เกิด-ดับ, เกิด-ดับ, เกิด-ดับ อยู่ทุกขณะที่ความคิดหรือความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ความรู้สึกเป็นสุขหรือสนุกสนานนั้น มันต้องเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ว่ามันจะนิ่งวแน่ตายตัวลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหยุดอยู่ ความสนุกสนานที่เดินไปเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้นอย่างนี้นั้น คืออาการของการเกิด-ดับของสังขาร คือที่ปรุงเป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาได้ มองดูในลักษณะเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่า “เป็นมายา” ชนิดหนึ่ง เหมือนกับพยับแดด ซึ่งหลอกให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เข้าไปใกล้ก็ไม่มีอะไร ความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนารู้สึกอยู่ในใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าโมหะครอบงำก็จะเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน แต่พอสติปัญญาหรือความจริงเข้ามาเท่านั้น ก็ไม่มีตัวไม่มีตน กลายเป็นของที่เป็นเพียงมายา ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร จึงให้เกิดความทุกข์แก่บุคคล ที่เข้าไปยึดถือว่า..สุขเวทนานี้ของเรา”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายชุดมาฆบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “อันธตมมุยหกถา ความมืดสูงสุด คือความมืดของผู้ไม่เห็นธรรม” บรรยายเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “มาฆบูชาเทศนา” หน้า ๗๗-๗๘
0 comments: