วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๔)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๔) ปัญหาที่ ๔ โพธิสัตตธัมมตาปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ใน ธัมมตาธมมปริยาย (ที.มหา. ๑๐/๑๒) ว่า

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนแล้ว, ได้กำหนดการตรัสรู้ไว้แน่นอนแล้ว, ได้กำหนดผู้เป็นอัครสาวกได้แน่นอนแล้ว, ได้กำหนดผู้เป็นบุตรไว้แน่นอนแล้ว, ได้กำหนดผู้เป็นพระอุปัฏฐากไว้แน่นอนแล้ว  ดังนี้ และพวกท่านก็กล่าวกันอีกว่า   พระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในชั้นดุสิตย่อมตรวจดูมหาวิโลกนะ ๘ อย่างคือ ตรวจดูกาล ๑, ตรวจดูทวีป ๑, ตรวจดูประเทศ ๑, ตรวจดูตระกูล ๑, ตรวจดูผู้ให้กำเนิด ๑, ตรวจดูอายุ ๑, ตรวจดูเดือน ๑, ตรวจดูการเสด็จออกบรรพชา ๑   ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อญาณยังไม่แก่กล้าก็หาความรู้มิได้ เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ก็ไม่อาจให้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งแต่ละอย่างไม่ใช่ฐานะ ได้หวนกลับคืนมา, ใจที่แก่กล้าแล้ว ใครๆ ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้ เพราะเหตุไร พระโพธิสัตว์จึงตรวจดูกาลว่า เราจะอุบัติในกาลไหน ดังนี้เล่า เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ก็หาความรู้มิได้ เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ก็ไม่อาจให้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งแต่ละอย่างไม่ใช่ฐานะ ได้หวนกลับคืนมา เพราะเหตุไร พระโพธิสัตว์จึงตรวจดูตะกูลว่า เราจะอุบัติในตระกูลไหน ดังนี้อีกเล่า พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์ในปางก่อน ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนแล้ว จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระโพธิสัตว์ตรวจดูตระกูล ดังนี้ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระโพธิสัตว์ตรวจดูตระกูล จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า พระโพธิสัตว์ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนแล้ว ดังนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้วขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระโพธิสัตว์ในปางก่อน ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนจริง และตรวจดูตระกูลจริง ก็แต่ว่า ตรวจดูตระกูลอย่างไรเล่า ตรวจดูตะกูลอย่างนี้ว่า ผู้ที่จะเป็นมารดาและบิดาของเรา เป็นกษัตริย์หรือว่าเป็นพราหมณ์เล่า ดังนี้.     ขอถวายพระพร มหาบพิตร บุคคล ๘ จำพวก มีอันต้องตรวจดูอนาคตก่อนเทียว ๘ จำพวกนี้คืออะไรบ้าง ขอถวายพระพร

– พ่อค้า ต้องตรวจดูสินค้าที่จะขายก่อน ๑,  – ช้าง ต้องใช้งวงตรวจดูหนทางที่ยังไม่ถึง (ยังไม่เคยไปก่อน) ๑,  – คนขับเกวียนต้องตรวจดูท่าข้ามที่ยังไม่ถึงก่อน ๑,   – ต้นหนเรือ ต้องตรวจฝั่งที่ยังไม่ถึงก่อน แล้วจึงค่อยให้ส่งเรือไป ๑,   – แพทย์ ต้องตรวจดูอายุคนไข้ก่อน แล้วจึงค่อยเข้าไปหา ลงมือรักษา คนไข้ ๑,  – ผู้จะข้ามสะพาน ต้องรู้เสียก่อนว่ามั่นคงหรือไม่มั่นคงแล้วจึงค่อยย่างขึ้น ๑,  – ภิกษุ ต้องพิจารณาเวลาที่ยังไม่ถึงเสียก่อน แล้วจึงฉันอาหาร ๑,   – พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็มีอันต้องพิจารณาตะกูลก่อนว่า เป็นตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ ๑   

ดังนี้ ขอถวายพระพร บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ มีอันต้องตรวจดูอนาคตก่อน.     พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบโพธิสัตตธัมมตาปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาเกี่ยวกับธรรมดาแห่งพระโพธิสัตว์ ชื่อว่า โพธิสัตตธัมมตาปัญหา.    คำว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนแล้ว เป็นต้น ความว่า บัณฑิตพึงทราบความที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน มีวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นต้น ในการที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ได้กำหนดผู้เป็นมารดาและบิดาไว้แน่นอนแล้วเป็นต้น โดยอาศัย มหาปทานสูตร (ที.มหา. ๑๐/๑) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราทั้งหลายได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาควิปัสสีอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าพันธุมาเป็นพระชนก ทรงมีพระเทวีพระนามว่า พันธุมดี เป็นพระชนนี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในการอดีต นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาควิปัสสีอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุบัติเกิดขึ้นแล้วในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาควิปัสสีอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีคู่อัครสาวก ชื่อว่า พระขัณฑะ และ พระติสสะ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาควิปัสสีอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระอุปัฏฐากชั้นยอด ชื่อว่า พระอโสกะ ดังนี้

คำว่า มหาวิโลกนะ คือสิ่งควรตรวจดูที่ยิ่งใหญ่ หรือการตรวจดูครั้งยิ่งใหญ่.    คำว่า ตรวจดูกาล คือตรวจดูกาลที่มนุษย์มีอายุกัปเหมาะสมต่อการที่จะทรงประกาศพระธรรมจักร ได้แก่ การที่มนุษย์มีอายุอย่างมากประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี, อย่างน้อยประมาณ ๑๐๐ ปี.    คำว่า ตรวจดูทวีป คือตรวจดูทวีปที่จะเสด็จจากชั้นดุสิตลงมาอุบัติ ทรงพบว่าเป็นชมพูทวีป  (ชมพูทวีป หมายถึงโลกมนุษย์ / ณัฏฐ)

คำว่า ตรวจดูประเทศ คือตรวจดูสถานที่จะทรงอุบัติในชมพูทวีปนั้น ทรงพบว่า มัชฌิมประเทศในชมพูทวีปนั้น นั่นแหละ.    คำว่า ตรวจดูตระกูล คือตรวจดูตระกูล ว่า ธรรมดาว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ หรือไม่ก็ในตระกูลพราหมณ์ เราจะบังเกิดในตระกูลไหน ซึ่งในบัดนี้คนทั้งหลายยกย่องกันว่าสูงสุด.   คำว่า ตรวจดูผู้ให้กำเนิด คือตรวจดูว่า ใครจะเป็นผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็นพระชนกชนนีของพระโพธิสัตว์.    คำว่า ตรวจดูอายุ คือตรวจดูพระชนมายุของพระชนนี.    คำว่า ตรวจดูเดือน คือตรวจดูเดือนที่เหมาะสมจะเสด็จลงมาอุบัติในโลกมนุษย์ ทรงพบว่าเป็นวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

คำว่า ตรวจดูการเสด็จออกบรรพชา คือตรวจดูเวลาที่จะทรงสละจากเพศฆราวาสเสด็จมหาภิเนษกรม คือเพศบรรพชิต.   คำว่า เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ก็หาความรู้ไม่ได้ ความว่า เมื่อญาณคือพระปัญญายังไม่แก่กล้า ยังไม่สุกงอม ด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญพระบารมี ก็หาความรู้ที่จะตรวจดูมหาวิโลกนะ ๘ อย่างนั้น มิได้ อธิบายว่า ไม่อาจทำความรู้เกี่ยวกับการตรวจดูให้เกิดขึ้นได้.    คำว่า เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ก็ไม่อาจให้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งแต่ละอย่างไม่ใช่ฐานะได้หวนกลับคืนมา ความว่า เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่อาจให้สิ่งเหล่านี้ คือมหาวิโลกนะ ๘ อย่างเหล่านี้ ได้หวนกลับคืนมา เพื่อจะตรวจดู คือไม่อาจหวนกลับไปตรวจดู เพราะเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก สิ่ง ๘ อย่างเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ฐานะที่จะพึงตรวจดู ประโยชน์อะไรด้วยการตรวจดูนั้นเล่า.     คำว่า ใจที่แก่กล้าแล้ว ใครๆ ไม่อาจก้าวล่วงได้ คือใจที่แก่กล้าแล้วด้วยญาณที่แก่กล้า ใครๆไม่อาจก้าวล่วง คือไม่อาจชักนำด้วยมหาวิโลกนะ ๘ อย่างนั้นได้

แง่ปมที่ขัดแย้งกันอยู่ในปัญหา มีอยู่ว่า ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์ในปางก่อน ได้ตรวจดูผู้เป็นมารดาบิดาไว้ จริงแล้วไซร้ ก็ไม่น่าจะต้องมีการตรวจดูตะกูลอีก เพราะเมื่อกำหนดผู้เป็นมารดาบิดาไว้แน่นอนแล้ว ก็เป็นอันต้องยอมรับตะกูลของมารดาบิดานั้นด้วย.      คำว่า ตรวจดูตระกูลอย่างนี้ว่า ฯลฯ เป็นกษัตริย์หรือว่าเป็นพราหมณ์ คือกำหนดผู้เป็นมารดาบิดาไว้ก็จริง แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในตระกูล ๒ อย่าง คือกษัตริย์หรือพราหมณ์นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการตรวจดูอีกว่า มารดาและบิดาของเรา เป็นกษัตริย์หรือว่าเป็นพราหมณ์.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.   ปัญหาที่ ๕ อัตตนิปาตนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า    “ น     ภิกฺขเว     อตฺตานํ      ปาเตตพฺพํ,    โย     ปาเตยฺย,    ยถาธมฺโม       กาเรตพฺโพ” (วิ.มหา. ๑/๑๓๐)   ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ควรทำตนให้ตกไป ภิกษุรูปใด พึงทำให้ตกไป ก็ต้องปรับอาบัติภิกษุรูปนั้น ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ แต่พวกท่านกล่าวไว้อีกว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ในที่ใดที่หนึ่งก็ตาม ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โดยปริยายเป็นอันมาก สาวกผู้ใดผู้หนึ่ง ก้าวล่วงชาติ ชรา พยาธิ มรณะได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญจากผู้นั้น ด้วยพระวาจาตรัสสรรเสริญอย่างเยี่ยมยอด

ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ควรทำตนให้ตกไป ภิกษุรูปใด พึงทำตนให้ตกไป ก็ต้องปรับอาบัติภิกษุรูปนั้น ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ควรทำตนให้ตกไป ภิกษุรูปใดพึงทําตนให้ตกไป ก็ต้องปรับอาบัติภิกษุรูปนั้น ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ควรทำตนให้ตกไป ภิกษุรูปใด พึงทำตนให้ตกไป ก็ต้องปรับอาบัติภิกษุรูปนั้นตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ จริง และพระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ในที่ใดที่หนึ่งก็ตาม ย่อมทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เพื่อการตัดขาดชาติ ชรา พยาธิ มรณะ จริง แต่ในคำที่ว่านั้น มีเหตุผลที่ทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสห้าม และตรัสชี้ชวน อยู่

พระเจ้ามิลินท์, เหตุผลที่ทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสห้าม และเหตุผลที่ทำให้ตรัสชี้ชวนคืออะไรหรือ พระคุณเจ้านาคเสน ?     พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ภิกษุผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นเหมือนยาแก้พิษ ในการใช้สลายพิษคือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นเหมือนยา ในการใช้สงบความป่วยไข้ คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นเหมือนน้ำในการใช้ชำระล้างเหงื่อไคล คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นเหมือนแก้วมณี ในการมอบสมบัติทั้งปวงแก่สัตว์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นเหมือนเรือ ในการทำสัตว์ให้ได้ไปถึงฝั่งทะเลทั้ง ๔, ย่อมเป็นเหมือนนายกองเกวียน ในการที่พาสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามที่กันดาร คือชาติ, ย่อมเป็นเหมือนลม ในการใช้ดับความร้อนแห่งไฟ ๓ กอง ของสัตว์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นเหมือนเมฆใหญ่ในอันทำความหวังของสัตว์ให้เต็ม, ย่อมเป็นเหมือนอาจารย์ในการยังสัตว์ทั้งหลายให้ศึกษาในกุศล, ย่อมเป็นเหมือนคนชี้ทางได้แม่นยำ ในการบอกเส้นทางแก่สัตว์ทั้งหลาย

ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ผู้มีศีล มีคุณมาก มีคุณเป็นเอนก มีคุณหาประมาณมิได้ เป็นที่รวมแห่งคุณ เป็นกองคุณ เป็นผู้สร้างความเจริญแก่สัตว์ทั้งหลาย เห็นปานฉะนี้ขอจงอย่าพินาศไปเลย ดังนี้ แล้วจึงทรงมีพระกรุณาบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่พึงทำตนให้ตกไป ภิกษุรูปใด พึงทำตนให้ตกไป ต้องปรับอาบัติภิกษุรูปนั้น ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ ขอถวายพระพร ข้อที่ว่านี้ เป็นเหตุผลในคำที่ตรัสไว้นี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสห้าม ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระกุมารกัสสปเถระ ผู้กล่าวทำได้วิจิตร เมื่อจะแสดงโลกหน้าแก่พระยาปายาสิ ก็ได้กล่าวแล้วว่า

“ยถา    ราชญฺญ   สมณพฺราหฺมณา   สีลวนฺโต   กลฺยาณธมฺมา   จิรํ   ทีฆมทฺธานํ   ติฏฺฐนฺติ,   ตถา   พหุปุญฺญํ  ปสวนฺติ     พหุชนหิตาย    จ    ปฏิปชฺชนฺติ    พหุชนสุขาย    โลกานุกมฺปาย     อตฺถาย     หิตาย    สุขาย   เทวมนุสฺสานํ.”  (ที.มหา. ๑๐/๓๖๖) (ที.มหา. ๑๐/๓๖๖)  ดูก่อน ท่านพระยา สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ย่อมดำรงอยู่ตลอดกาลยาวนาน โดยประการที่จะประสบแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นอันมาก, และโดยประการที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก, เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก, เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้

ส่วนว่า เหตุผลอะไรเล่า คำให้พระผู้มีพระภาคทรงชี้ชวน ขอถวายพระพร แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความสุขก็เป็นทุกข์ แม้ความร่ำไห้รำพันก็เป็นทุกข์ แม้ความทุกข์กายก็เป็นทุกข์ แม้ความทุกข์ใจก็เป็นทุกข์ แม้ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งที่เกลียดก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ แม้มารดาตายก็เป็นทุกข์ แม้บิดาตายก็เป็นทุกข์ แม้พี่น้องชายตายก็เป็นทุกข์ แม้พี่น้องหญิงตายก็เป็นทุกข์ แม้นบุตรตายก็เป็นทุกข์ แม้ภรรยาตายก็เป็นทุกข์ แม้ทาสตายก็เป็นทุกข์ แม้ญาติตายก็เป็นทุกข์ แม้ญาติพินาศก็เป็นทุกข์ แม้โรคพินาศก็เป็นทุกข์ แม้โภคะพินาศก็เป็นทุกข์ แม้ศีลพินาศก็เป็นทุกข์ แม้ทิฏฐิพินาศก็เป็นทุกข์ แม้ราชภัยก็เป็นทุกข์ แม้โจรภัยก็เป็นทุกข์ แม้เวริภัยก็เป็นทุกข์ แม้ทุพภิกขภัยก็เป็นทุกข์ แม้อัคคีภัยก็เป็นทุกข์ แม้อุทกภัยก็เป็นทุกข์ แม้อุมิภัย (ภัยลูกคลื่น) ก็เป็นทุกข์ แม้อาวฏภัย (ภัยน้ำวน) ก็เป็นทุกข์ แม้กุมภิลภัย (ภัยจระเข้) ก็เป็นทุกข์ ฯลฯ…แม้การตัดศีรษะด้วยดาบก็เป็นทุกข์

ขอถวายพระพร สัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ย่อมเสวยทุกข์มากมายหลายประการ เห็นปานฉะนี้.   ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า น้ำฝนที่ตกเหนือภูเขาหิมพานต์ ย่อมไหลท่วมทับ ชะเอาก้อนหิน ก้อนกรวด ไม้แห้ง ดินแข็ง บ่อน้ำวน เกลียวคลื่น เขื่อนดิน รากไม้และกิ่งไม้ที่ขวางทางอยู่ ไปสู่แม่น้ำคงคา ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ย่อมเสวยทุกข์มากมายหลายประการ เห็นปานฉะนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน.   ขอถวายพระพรความเป็นไปเป็นทุกข์, ความหยุดไปเป็นสุข ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแสดงคุณของความหยุดเป็นไปและภัยในความเป็นไป จึงตรัสชี้ชวน เพื่อให้กระทำความหยุดเป็นไปให้แจ้ง เพื่อให้ก้าวล่วงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ.   

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านคลี่คลายปัญหาได้ดีแล้ว ท่านกล่าวถึงเหตุผลได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.   จบอัตตนิปาตนปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวกับการทำตนให้ตกไป ชื่อว่า อัตตนิปาตนปัญหา.     คำว่า ไม่ควรทำตนให้ตกไป คือ ไม่ควรทำชีวิตของตนให้ตกไป ความว่า ไม่ควรฆ่าตนเอง.     คำว่า ตามสมควรแก่เหตุ คือ ตามสมควรแก่การกระทำซึ่งเป็นเหตุแห่งอาบัติ.    คำว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่งชาติ เป็นต้น ความว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อันเป็นผลที่จะพึงบังเกิดในอนาคต จากเหตุในปัจจุบันตามความสืบต่อกันแห่งเหตุและผล ด้วยพระอรหัตตมรรค.     แง่มุมที่ขัดแย้งกันในปัญหา มีอยู่ว่า ถ้าหากตรัสว่า ไม่ควรทำตนให้ตกไป ดังนี้ จริงไซร้ ก็ไม่น่าจะทรงแสดงธรรมเพื่อการตัดขาดซึ่งชาติ คือความเกิด เป็นต้น เพราะการปฏิบัติเพื่อความไม่เกิด ก็นับว่าเป็นความประสงค์จะไม่ให้มีอัตภาพเช่นเดียวกับการทำตนให้ตกไป นั่นเอง.   ความว่า ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามการทำตนให้ตกไปไว้เพื่อป้องกัน เพื่อรักษาภิกษุผู้มีศีล ผู้ไม่เยื่อใยในชีวิตไว้ เพื่อพี่ภิกษุเหล่านี้จะดำรงอยู่ในโลก สร้างสิ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายได้นาน ๆ.     

คำว่า ความเป็นไปเป็นทุกข์ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ที่เป็นความสืบต่อกันด้วยอำนาจความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผล คือ เป็นผลในปัจจุบันที่มีจากเหตุในอดีต และจะเป็นผลในอนาคตที่มีจากเหตุในปัจจุบัน ชื่อว่า ปวัตตะ ความเป็นไป ปวัตตะนั้นเป็นทุกข์.    คำว่า ความหยุดเป็นไปเป็นสุข ความว่า พระนิพพานอันเป็นธรรมที่หยุดชาติเป็นต้น อันได้ชื่อว่า ปวัตตะนั้น ชื่อว่า อปวัตตะ ความหยุดเป็นไป อปวัตตะนั้นเป็นสุข เพราะระงับปวัตตะที่เป็นทุกข์ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า    “นิพฺพานํ   ปรมํ   สุขํ.  พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”   ดังนี้ ฉะนี้แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕.    จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๔

นิพฺพานํ   ปรมํ   สุขํ.    พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: