วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ต้องแยกให้ชัด ระหว่าง “พระอริยะ” กับ “ผู้วิเศษ”

ต้องแยกให้ชัด ระหว่าง “พระอริยะ” กับ “ผู้วิเศษ”

อีกตัวอย่างหนึ่ง นอกจากห้ามพระอวดอุตริมนุสธรรม ห้ามอวดคุณพิเศษแม้มีในตนแล้ว ท่านยังห้ามอวดฤทธิ์ ห้ามแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย พระได้ปาฏิหาริย์ได้ฤทธิ์แล้วเอามาอวดเอามาแสดง แม้เป็นจริงก็ต้องอาบัติ มีความผิด ทำไมเป็นอย่างนั้น 

การแสดงฤทธิ์มีโทษกี่อย่าง ก็คล้ายกันกับการ “อวดอุตริมนุสธรรม” นั่นแหละ แต่มีแง่มุมบางอย่างแปลกไปบ้าง ที่คล้ายกันก็จะพูดย่อ ที่แปลกไปก็จะขยายออกสักหน่อย

๑. ดูดความสนใจไปรวมอยู่ที่บุคคลนั้น ประชาชนเลยไม่เอาใจใส่สงฆ์ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรกระทบกระเทือนก็ไม่เอาใจใส่

๒. การมีฤทธิ์ เป็นคนละเรื่องกันกับการ“หมดกิเลส” พระมีฤทธิ์ ไม่จำเป็นต้องหมดกิเลส และพระที่หมดกิเลสก็ไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ ผู้มีฤทธิ์บางทียังมีกิเลสมาก และเอาฤทธิ์มาใช้สนองกิเลสของตน

จะพูดให้เข้าใจง่าย ก็ว่า..ต้องแยก ระหว่างพระอริยะ กับ ผู้วิเศษ 

ความเป็นพระอริยะนั้นอยู่ที่คุณธรรมความดี โดยลดละกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ น้อยลง จนกระทั่งละกิเลสได้หมด เป็นผู้บริสุทธิ์มีคุณธรรมสมบูรณ์ ก็เป็นพระอรหันต์.    ส่วนความเป็นผู้วิเศษนั้น เราจะมองกันไปที่การมีฤทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ ล่องหนหายตัวได้ บันดาลอะไรต่างๆได้ มีอำนาจจิตแรงกล้า ล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น ทายใจคนอื่นได้ ฯลฯ   ถ้าพระอริยะมีฤทธิ์มีความวิเศษด้วยก็ยิ่งดี เป็นคุณสมบัติเสริมความสามารถให้ทำอะไรๆได้ดีขึ้น.   แต่ถ้าผู้วิเศษไม่เป็นอริยะ และมีกิเลสมาก ก็จะ..เป็นภัยอันตรายร้ายแรง #เพราะมีความสามารถที่จะทำความชั่วได้มากกว่าคนชั่วที่ไม่มีฤทธิ์ จะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีต เช่น พระเทวทัต และ รัสปูติน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ ชักจะมีความสับสนมากขึ้น ในการเอาความเป็นพระอริยะกับความเป็นผู้วิเศษมาปะปนกัน 

ที่หนักมากก็คือเอาความขลังศักดิ์สิทธิ์หรือความมีฤทธิ์ มาเป็นเครื่องกำหนดความเป็นพระอรหันต์ พอเห็นหรือได้ยินว่าพระองค์ไหนมีฤทธิ์ ขลัง ก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้เกิดจากการไม่รู้หลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจึงจะต้องเรียนรู้หลักพระศาสนากันให้มากขึ้น ก่อนที่จะเปลี่ยนพระพุทธศาสนาไปเป็นลัทธิผู้วิเศษโดยไม่รู้ตัว.    พระเทวทัตนั้นไม่ได้เป็นพระอริยะ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่แสนจะมีฤทธิ์เก่งกาจ แล้วก็หลงฤทธิ์ ก็เลยทำให้กิเลสฟูขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ฤทธิ์ในทางร้าย หาลาภสักการะ ต้องการผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ 

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องเตือนให้ระวังว่า ถ้าพระที่มีฤทธิ์เป็นผู้วิเศษเกิดมีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ มาก ก็จะใช้ฤทธิ์นั้นหาลาภ หรือทำลายผู้อื่น แล้วประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อ.  ประชาชนที่ไปหลงฤทธิ์ของผู้อื่นนั้น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไปฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักพระศาสนา 

พระพุทธศาสนาต้องการให้เราพัฒนาตนเอง ให้ทำการตามหลักเหตุผล ให้บรรลุความสำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตน พัฒนาตัวเองให้ดีงามสามารถยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

ถ้าเราไปมัวหวังความสำเร็จจากการดลบันดาลของอำนาจหรืออานุภาพภายนอก เราเองก็ไม่รู้จักทำอะไร และไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่รอคอยฤทธิ์มาช่วย รอคอยผลจากการดลบันดาลของท่านผู้มีฤทธิ์ พร้อมกันนั้น ก็มีผลเสียแก่ตัวบุคคลที่มีฤทธิ์นั้นเองด้วย เพราะถ้ายังไม่หมดกิเลสก็จะเพลิดเพลินมัวเมาติดฤทธิ์ เช่น หลงเพลินลาภสักการะ แล้วละเลยการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง เพื่อบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป ทำให้พระบางองค์ติดอยู่แค่นั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อตนเองหลงลาภสักการะแล้ว ก็ไปล่อหลอกหาลาภสักการะจากประชาชนอีก 

ทางฝ่ายประชาชนเองเมื่อมัวแต่วุ่นวายติดตามผู้มีฤทธิ์ และรอคอยผลจากการบันดาลด้วยฤทธิ์ของผู้อื่น ก็ไม่เป็นอันทำกิจทำการที่ควรทำให้แข็งขันจริงจัง และละเลยการพัฒนาตัวเอง.    เป็นอันว่า เกิดผลเสียทั้งแก่ตัวผู้อวดฤทธิ์เอง ทั้งแก่ประชาชน แล้วในที่สุดผลเสียนั้นก็ตกแก่พระศาสนาและสังคมส่วนรวม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากหนังสือ “เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: