วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ต้องดู ดู ดู จนเห็นประจักษ์แจ้งว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

วิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ต้องดู ดู ดู จนเห็นประจักษ์แจ้งว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

“เราขอเน้นว่า การเวียนเกิดแห่งตัวตน “ตัวกู ของกู” นั่นแหละ! ตัวทุกข์ แม้แต่เกิดครั้งเดียวมันก็เป็นทุกข์ ไม่ต้องพูดถึงเกิดซ้ำๆ ซากๆ อย่างวนเวียน ฉะนั้น การเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ และวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ให้เห็นแจ้งในความจริงเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด

วิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ต้องเป็นวิปัสสนาจริง คือ เป็นการดู ไม่ใช่การคิดคำนวณ ไม่ใช่การพิจารณาโดยเหตุผล ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อน แล้วเอาจิตชนิดนั้นมา ดู-ดู-ดู ลงไปที่สังขาร(ความปรุงแต่ง)ที่กำลังเป็นปัญหา คือความทุกข์ จนรู้ประจักษ์ในเรื่องของความทุกข์ และเหตุแห่งความทุกข์ รู้ความเป็นเช่นนั้นเอง เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็น “ตัวตน” นี่การเวียนว่ายตายเกิดก็สิ้นสุดลง

เราเน้นวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ซึ่งไม่เหมือนกันกับของคนพวกอื่น ที่เอาวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเป็นการคิดตามเหตุผล โดยไม่ต้องดู   วิปัสสนานี้ต้อง..ดู-ดู-ดู จนเห็น  พอเห็นแล้วก็ประจักษ์แจ้งว่า  “มันเป็นเช่นนั้นเอง” ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่าเป็น “ตัวตน”  นี่แหละ! วิปัสสนาอันแท้จริง  คือ..ดู-ดู-ดู แล้วเห็น  เห็นแล้ว ก็ปล่อยวางเอง   วิปัสสนากัมมัฏฐานชนิดที่นำความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้นอย่างนี้ นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ดู และไม่ได้เห็น แต่มันพูดไปตามความเชื่อ มันคิดไปตามความเชื่อ มันมีเหตุผลของคนที่พูดกันไปตามที่สอนสืบๆกันมา อย่างนี้ไม่เห็นแจ้ง และไม่ดับทุกข์ได้เลย เราไม่สอน

ขอยืนยันว่า วิปัสสนากัมมัฏฐานที่ดูให้เห็นจริง นั่นแหละ! เป็นทางดับทุกข์ แต่ต้องถูกต้องตามแบบของวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่าให้เป็นวิปัสสนาเถื่อน ซึ่งมันดับทุกข์ไม่ได้”

พุทธทาสภิกขุ : บรรยายธรรมในลักษณะ ถาม-ตอบ ในวาระที่ ๓ วันล้ออายุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จากหนังสือ “ธรรมะน้ำ ล้างธรรมะโคลน”

“ตถตา” เช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเอง

“ตถตา” แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง...  “ตถตา” มีความหมายว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันเป็นอย่างนี้เอง หรือว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตา คือเพราะมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงดับลง...  ทุกสิ่งแสดงความเป็น “เช่นนั้นเอง” อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ...

“ตถตา” นี้สำคัญมาก ถ้าเห็นแล้วปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า เพราะถ้าเห็นแล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆในโลกโดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็น “ตัวกู ของกู” ก็เพราะเขาไม่เห็นความความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งนั้นๆ   เพราะเขาไม่รู้ หรือโง่เขลาต่อสิ่งนั้นๆ จึงไปยึดเอาเป็นสิ่งที่น่ารัก มีความรัก และโกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ เกลียดในสิ่งที่ชวนให้เกลียด กลัวในสิ่งที่ชวนให้กลัว แล้วก็เป็นทุกข์เอง....

ตถตา - เป็นเช่นนั้นเอง,  อวิตถตา - ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น,  อนัญญถตา - ไม่มีความเป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น,  ธัมมัฏฐิตตา - มีความตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติทั้งหลาย,  ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติทั้งหลาย,  อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท - ความที่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น มันอาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้น   นี่คือ อาการที่มันเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นอย่างนั้นเอง เรียกว่า “ตถตา” หรือ “ตถาตา” หรือ “ตถา” เฉยๆก็ได้... สังขารทั้งหลาย  เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นนั้นเอง  ทุกขัง เป็นทุกข์ เช่นนั้นเอง เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เช่นนั้นเอง”

พุทธทาสภิกขุ - ที่มา : ธรรมกถา “ตถตาหน้าเชิงตะกอน” วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๖

ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง

“ ช่วยจำให้ดีว่า อะไรๆเกิดขึ้นก็ให้มันรู้สึกได้ว่า มันเป็นเพียง“ความรู้สึก”เท่านั้นหนอ มันเป็นเพียงความรู้สึกแห่งจิต(เวทนา)เท่านั้นหนอ! เรื่องดี บ้า สุข ทุกข์ รวย จน เรื่องอะไรต่ออะไรทุกเรื่อง มันเป็นความรู้สึกของจิตเท่านั้นหนอ พอเห็นเป็นความรู้สึกเท่านั้นหนอ มันก็หยุดเป็นทุกข์ทันที   นี่ ธรรมะที่เป็น สุญญตา อนัตตา ตถาตา ดับทุกข์ได้อย่างนี้ ทุกระดับ ทุกข์เลวๆ โง่ๆ มันก็ดับได้ ทุกข์ที่สูงขึ้นไปมันก็ดับได้ ทุกที่สูงที่สุดละเอียดลออมันก็ดับได้ จนกระทั่งบรรลุ มรรค ผล นิพพาน   เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกนี้ เป็นคนธรรมดาสามัญ ทำไร่ทำนา หาปูหาปลา ได้กินไปวันหนึ่งก็เถอะ ขอให้รู้จักคำว่า “เช่นนั้นเอง” แล้วมันจะไม่มีความทุกข์ ถ้าเป็นปัญญาชนก็ยิ่งจะต้องรู้ให้มากขึ้นไปอีกว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” เท่านั้นแหละ! ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง”

พุทธทาสภิกขุ

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: