วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็น“อัตตา”

ถ้าเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท จะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็น “อัตตา” มีแต่เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป

“มามองให้เห็นตามที่เป็นจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น ท่านตรัสว่า: สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา = สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา, เป็นเพียง “ปฏิจจสมุปปันนธรรม” คือเป็นเพียงสังขารตามธรรมชาติปรุงแต่งกันขึ้น เป็นนั่น เป็นนี่ เป็นความรู้สึกคิดนึก อย่างนั้น อย่างนี้ ร่างกายเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมเพราะว่าปรุงแต่งขึ้นมาจากข้าวปลาอาหาร จากดินฟ้าอากาศ จากเหตุปัจจัยแวดล้อม, เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวๆ นี้เรียกว่า “ปฏิจจสมุปปันนธรรม” - สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นแล้ว

จิต ก็เหมือนกัน, ความรู้สึกคิดนึกอะไรต่างๆ ที่เป็นขณะๆนี้ ล้วนเป็น “ปฏิจจสมุปปันนธรรม” ทั้งนั้น แล้วความที่ปฏิจจสมุปปันนธรรมอันหนึ่ง เนื่องกันไปถึงปฏิจจสมุปปันนธรรมอีกอันหนึ่งนั้น เขาเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” อย่างที่เราพูดกันอย่างละเอียดเมื่อการบรรยายครั้งที่แล้วมานี่เอง. หน่วยหนึ่งๆเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม, แล้วความที่มันเกี่ยวข้องปรุงแต่งกันระหว่างหน่วยนั้นเขาเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” อันได้แก่ความอาศัยกันเกิดขึ้น

ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจะเห็นชัดว่า“ไม่มี อัตตา” : ทุกสิ่งเป็นเพียงของประจวบเหมาะ แล้วเกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วดับไป. เปรียบเหมือนกับว่าลมพัดพอเหมาะสมขณะหนึ่งทําให้น้ำเป็นฟองน้ำขึ้นมา เป็นฟูฝอยขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป. ทางวัตถุมองเห็นได้ง่าย : เช่นเราไปยืนที่ริมทะเล เห็นลูกคลื่นเป็นทิว ประจวบเหมาะระหว่างน้ำ ระหว่างลม ระหว่างตลิ่ง ระหว่างความแวดล้อมอื่นๆ ก็ฟูขึ้นมาเป็นฟองอย่างน่าอัศจรรย์ เสร็จแล้วก็ดับไป; นี้เป็นทางวัตถุ ทางจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อมีอะไรมากระทบเหมาะสมกันเข้าหลายอย่าง ก็เกิดความรู้สึกสําคัญมั่นหมาย “ว่าตัวกู ว่าของกู” ขึ้นมาเป็นพักๆ, เป็นพักๆ, เกิดขึ้น ดับไป, เกิดขึ้น ดับไป, เป็นเพียงของประจวบเหมาะ เกิดขึ้นชั่วขณะๆ เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม : มีความเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าเห็น “อนัตตา”

ถ้าเห็นอนัตตาจริงจะไม่มีความรู้สึกที่ เป็นตัวตน เป็นของตน, ไม่เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง อะไรได้ ขณะนั้นก็เป็นนิพพาน ถ้าอาศัยการเห็นอนัตตาเป็นหลักใหญ่ออกหน้าอยู่อย่างนี้ การบรรลุนิพพานนั้นก็เป็น “สุญญตนิพพาน” หรือ “สุญญตวิมุตติ” หรือ “สุญญตวิโมกข์” แล้วแต่จะเรียก และต้องไม่ลืมว่าที่เป็นนิพพานนี้ก็เป็นได้ทุกชนิดของนิพพาน : นิพพานชั่วคราวก็ได้ นิพพานถาวรก็ได้ นิพพานบังเอิญชั่วคราวเมื่อกระทบกับความเหมาะสม,เกิดเห็นอนัตตาขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ก็ได้ แม้ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ถ้าเห็นอนัตตาได้ชั่วขณะหนึ่งก็เป็นนิพพานไปขณะหนึ่ง ก็เป็นสุขไปขณะหนึ่ง แล้วกลับร้อนก็ได้ เว้นเสียแต่จะเห็นอนัตตาชัดและลึกพอจนถึงกับเปลี่ยนเนื้อตัวจิตใจขันธสันดานนี้ได้หมด ก็เป็นนิพพานจริง เป็นพระอรหันต์จริง กิเลสไม่กลับกําเริบขึ้นมาอีก”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดโอสาเรตัพพธรรม หัวข้อเรื่อง “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับไตรลักษณ์” บรรยายเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “โอสาเรตัพพธรรม” หน้า ๑๖๒-๑๖๓

หนังสือ “โอสาเรตัพพธรรม” โหลดได้ที่นี่  http://www.buddhadasa.org/files/pdf/B_pdf/t/t7.pdf

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: