วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ศัตรูคือผู้ให้ สิ่งที่ถ้าเรารู้จักรับเอาไว้แล้ว เราก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้

ศัตรูคือผู้ให้ สิ่งที่ถ้าเรารู้จักรับเอาไว้แล้ว เราก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้

ศัตรูจะมาช่วยสร้างสวรรค์ให้คน. ท่านฟังถูกหรือไม่ถูก ก็ลองคิดดูเถอะว่า ศัตรูนั่นแหละดี มันจะมาสอบไล่เรา ว่าเราเป็นคนดีแล้วหรือยัง ? หรือเรายังเลวอยู่ ยังมัวแต่จะโกรธศัตรูอยู่ ศัตรูก็มาสอบไล่อย่างนั้น. ศัตรูนั่นแหละ มาช่วยสร้างสวรรค์ให้เรา ; เมื่อเราอดกลั้นต่อศัตรูได้ เราก็เป็นพระ, เราก็ชนะมาร แล้วเราก็ไปสวรรค์ได้, ไม่ต้องไปนรก. ถ้าศัตรูมาแหย่หน่อยหนึ่ง เราก็โกรธเสียแล้ว,  เราก็พลัดตกนรกตูมใหญ่แล้ว ในทันใดนั้นเอง. ศัตรูนั่นแหละมันมาสอนธรรมะสูงสุดให้แก่เรา, ศัตรูมาสอนว่าอย่าโกรธนะ, โกรธนั่นแหละ คือสกปรกหรือเลว, อย่าเก็บสกปรกไว้ในใจนะ จะต้องเวียนว่ายในวัฏฏสงสารนานเกินไป.

ดังนั้นเราถือว่า ศัตรูคือผู้ให้ สิ่งที่ถ้าเรารู้จักรับเอาไว้แล้ว เราก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ ด้วยเหมือนกัน, แล้วก็ไม่มีศัตรูเหลืออยู่ในโลกนี้เลย. ดีหรือไม่ดีลองคิดดูว่า ถ้าในโลกนี้มันไม่มีศัตรูเลย มันหมดไปแล้ว. ศัตรูมาเท่าไรกลายเป็นมิตรหมด, ศัตรูมาเท่าไรกลายเป็นมิตรหมด, มาเป็นผู้สอน, มาเป็นผู้ทำให้ได้ดีหมด, แล้วโลกนี้มันจะเป็นอย่างไร เรียกว่า หมดศัตรู นี้คืออานิสงส์ มีข้อความดังนี้ว่า

อันศัตรู คือผู้จู่ มาลอบไล่   ให้รู้ได้ ว่าเรามี ดีเท่าไหน  หรือดีแต่ จะโกรธยืน เป็นฟืนไฟ  บังคับใจ ไว้ไม่อยู่ สักครู่เดียว

อันศัตรู คือผู้สรรค์ สวรรค์ให้  ตรงที่ได้ มีจิต คิดเฉลียว  ว่าอดกลั้น นั่นแหละนะ เป็นพระเทียว  ไม่อด, เลี้ยว ไปเป็นมาร พล่านนรก

อันศัตรู คือผู้สอน สัจจธรรม  ว่าอาฆาต นั้นคือน้ำ สกปรก  อย่าเก็บไว้ ในใจ ให้ใจฟก  จะเวียนวก ว่ายสงสาร นานนักเอย.

เหตุฉะนั้น ศัตรู คือผู้ให้  แต่กลายเป็น ผู้ร้าย เหตุไรเหวย  ถ้ารับเป็น พวกเราเอ๋ย หมดศัตรู  เพราะผู้รับ รับไม่เป็น อย่างเช่นเคย  ถ้ารับเป็น พวกเราเอ๋ย หมดศัตรู

นี้คืออานิสงส์ ว่าศัตรูจะหมดไปจากโลก, ไม่มีเหลืออยู่ในโลก เพราะว่าเราต้อนรับเป็น. ทำศัตรูให้กลายเป็นผู้มาให้สิ่งที่มีประโยชน์, มาบอกทางสวรรค์ให้, มาบอกธรรมะอันสูงสุดให้, ว่าอย่ามัวเก็บความโกรธนี้ไว้ในใจเลย. นี้เป็นอันว่า ได้ทำให้พญามารกลายเป็นพระไปจนหมดสิ้น, ได้ทำศัตรูให้กลายเป็นมิตรไปจนหมดสิ้น.

ใครคือใคร? (น.182) / ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: