วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้าองค์เดียว

ขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้าองค์เดียว

ต่อไปนี้ญาติโยมทุกๆคน ให้ตั้งใจฟังธรรมฟังธรรม ด้วยความสงบ ให้เอาใจฟังอย่าเอาหูฟัง นั่งให้มันสบายๆไม่ต้องพนมมือก็ได้ เอามือวางที่หน้าตักของเรา ความรู้สึกของเราอย่าให้มันขึ้นข้างบนอย่าให้มันลงข้างล่าง ให้มันพอดีๆ

วันนี้มีญาติโยมทั้งหลายทั้งใกล้ทั้งไกล ล้วนเป็นชาวพุทธที่มีศรัทธาแสวงหาธรรมะ แสวงหาทางพ้นทุกข์ วัดหนองป่าพงนี้เป็นแหล่งแห่งหนึ่ง ซึ่งขยายธรรมะให้ประชาชนทั้งหลายผู้ที่ไม่เข้าใจให้เข้าใจ ผู้ที่เข้าใจน้อยก็ให้เข้าใจมากขึ้น จนกว่าที่ว่า "บรรลุธรรม"

บรรลุธรรมอย่างไร บางคนที่เรียกว่ายังไม่บรรลุธรรม ก็คือยังไม่รู้จักธรรมนั่นแหละ เช่นบางคนก็กินเหล้าเมายา เห็นว่ามันดีเป็นของเลิศของประเสริฐ เมื่อมาฟังธรรมะ ก็บรรลุเข้าถึงธรรม หยุดกินเหล้า หยุดฆ่าสัตว์หยุดขโมย หยุดโกหกพกลมต่างๆ เลิกไป แต่ศัพท์ที่ว่าการบรรลุธรรมนี้ เราก็คิดว่ามันสูงเกินไป ว่ามันเป็นภาษาธรรมะที่เราจะไม่ถึงไม่บรรลุ ที่จริงแล้วคำว่า "บรรลุธรรม" นั้นก็คือเข้าไปถึงธรรมะนั่นเองอย่างเราทุกคนที่มาวัดหนองป่าพงนี้ เดินทางมาถึงวัดหนองป่าพง ก็เรียกว่า บรรลุถึงวัดหนองป่าพง คนบรรลุธรรมะนั้นก็อย่างเดียวกัน

เราทุกคนโดยมากได้ยินคำว่า "บรรลุธรรม" ก็เข้าใจว่าศัพท์นี้มันสูงมาก เพราะว่าชาตินี้เราคงไม่ได้บรรลุ ความเป็นจริงนั้น เช่นว่าอันนี้มันบาป แต่เราเห็นยังไม่ชัดก็ละบาปไม่ได้ เมื่อเราพิจารณาไปปฏิบัติไปจนเห็นชัดว่ามันเป็นโทษ เป็นการกระทำไม่ดี เห็นชัดแน่นอนจนไม่กล้าจะทำอีกต่อไป ไม่กล้าจะเก็บมันเป็นพืชพันธุ์อีกต่อไปแล้วจะเป็นที่จะต้องวางต้องทิ้งมันไป ต่างกว่าแต่ก่อน คือท่านว่าบาปๆเราก็รู้ว่าบาป แต่ว่าเรายังทำบาปอยู่ยัง ทำผิดอยู่ ทำชั่วอยู่ ผู้บรรลุธรรมนั้นคล้ายกันกับว่า เรามองเห็นงูเห่าที่มันเลื้อยไป เราก็รู้ว่างูนั้นมันเป็นอสรพิษ ถ้ามันกัดใครมันจะถึงตายหรือเจียนตาย อันนี้เรียกว่าเรารู้ในงูเห่าตามความเป็นจริง แล้วก็ไม่กล้าไปจับงูนั้น ใครจะบอกอย่างไรก็ไม่กล้าจับ คือเราบรรลุถึงพิษของมัน ความชั่วทั้งหลายก็เหมือนกันถ้าเราเห็นโทษของมันก็ไม่อยากทำ ขอให้เราปฏิบัติไปพิจารณาไป มันก็จะเลิกจะถอนของมันเอง เมื่อมันบรรลุถึงธรรมะเมื่อไรมันก็จะรู้จักธรรมะ เมื่อรู้จักธรรมะมันก็จะเป็นธรรมะขึ้นมา

ฉะนั้น ที่พวกเราพุทธศาสนิกชนทั้งหลายมาในวันนี้ ได้มาปรารภเป็นบุญวิสาขบูชาเพ็ญเดือนหก อันคล้ายวันที่องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประสูติ หรือเป็นวันที่ท่านตรัสรู้ธรรม หรือเป็นวันที่ท่านปรินิพพาน ทั้งสามกาล เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เป็นกรณีพิเศษที่ชาวพุทธทั้งหลายทั่วทุกสารทิศ เห็นวัดไหน ครูบาอาจารย์ที่ไหนได้สอนธรรมที่พอสมควรเราก็ไป เลื่อมใสตรงไหนเราก็ไปตรงนั้นที่เราทั้งหลายรู้จักบาปบุญ คุณโทษ ได้บวชกุลบุตรกุลธิดา ได้ประพฤติปฏิบัติจนถึงบัดนี้ ก็เพราะบุญ คุณของท่าน เป็นบุญคุณอันเลิศประเสริฐที่สุด ที่ควรระลึกถึงในเวลาสำคัญ เรียกว่าเป็น พุทธานุสติระลึกถึงพระคุณของท่าน ที่ท่านได้อุตส่าห์พยายามบุกบั่นทำพระ-ศาสนาจนมาถึงบัดนี้ ฉะนั้น พระคุณอันนี้เราจะละทิ้งไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องมากราบมาไหว้ มาสร้างคุณงามความดีในวันนี้ก่อน

พระผู้มีพระภาคของเรานั้นก็เป็นคนอย่างเรานี่เอง ไม่ใช่มารไม่ใช่พรหม ไม่ใช่อื่น เป็นมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ที่อัศจรรย์ เป็นมนุษย์ที่แปลก มนุษย์ผิดปกติ ไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาเรา มนุษย์ถ้าผิดปกติแล้วมีสองอย่าง คือผิดปกติไปในทางสูง ก็เรียกว่าเป็นพระ-อริยเจ้า เป็นพระอรหันต์เจ้า เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นไปเลย ถ้าผิดปกติลงข้างล่างก็เป็นบ้าเท่านั้นแหละ เห็นไหม เป็นบ้าเป็นโรคประสาท ผิดปกติเหมือนกัน ผิดปกติมาทางข้างล่างข้างต่ำ ส่วนปุถุชนธรรมดาสามัญชนธรรมดา ก็เป็นมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ยังไม่เป็นโรคประสาทและยังไม่เป็นพระอริยเจ้า แต่แล้วก็จะเป็นได้ทั้งสองอย่าง เป็นได้ทั้งพระอริยเจ้า เป็นได้ทั้งบ้า แต่ส่วนมากก็อยากดึงไปข้างล่างมากกว่า

ทุกวันนี้มันจึงมีความสับสนในบางคนที่ไม่รู้จัก คือเห็นคนบ้ามาก็ไปเที่ยวกราบขอเลข นึกว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะอะไร เพราะมันแปลกจากคนธรรมดา เราก็คิดเอาเองว่านี่เป็นพระอรหันต์ คนนี้ก็ไปกราบ คนนั้นก็ไปกราบ ความเป็นจริงกราบผีบ้าเราไม่รู้จัก เพราะมันเป็นคนที่ผิดปกติเหมือนกัน ทั้งสองอย่าง แต่เราไม่รู้เรื่อง สูงเกินไปเราก็ไม่รู้จัก ต่ำลงไปกว่านั้นเราก็ไม่รู้จัก เพราะเราเป็นคนครึ่งๆกลางๆฉะนั้นคนครึ่งๆกลางๆจึงเป็นมนุษย์ที่ควรฝึก เพราะว่าจะฝึกให้ดีก็ได้ให้ชั่วก็ได้ เป็นมนุษย์ที่ควรฝึกเป็นสรรพสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรม จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ มันจะเป็นดีก็ได้ เป็นชั่วก็ได้ เป็นบ้าก็ได้เป็นพระ-อริยเจ้าก็ได้ ส่วนคนอื่นนั้นเราจะรู้จักได้ยาก คุณงามความดีของคนอื่นเราจะรู้ได้ยาก เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็น ปัจจัตตังมันเชื่อไม่ได้ด้วยการบอก ต้องให้ไปปฏิบัติให้ไปรู้เองเห็นเอง

พระพุทธเจ้าของเรานั้นถึงแม้ว่าท่านจะปรินิพพานไปแล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้เอาอะไรไปด้วย ธรรมะสักนิดหนึ่งท่านก็ไม่ได้เอาไป ท่านวางไว้ในโลกนี้ทั้งหมด แต่พวกประชาชนเราทั้งหลายนั้น บางคนก็น้อยใจ "แหม ถ้าเราได้เกิดพร้อมพระพุทธเจ้า เราก็คงจะได้เป็นพระอรหันต์ คงจะได้ปฏิบัติ" พูดคำนี้ขึ้นมาแล้วก็น้อยใจ นึกว่าเราไกลจากพระพุทธเจ้า นึกว่าพระพุทธเจ้าเก็บของหนีหมดแล้ว เราเลยไม่มีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นสุปฏิปันโนในชีวิตนี้ อย่างนี้ก็คิดไปคนเราคิดไปตามประสาของคน

ความเป็นจริงนั้น ธรรมะทุกอย่างพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เอาหนีไปไหน ยังสมบูรณ์อยู่อย่างเก่า และที่ว่าท่านปรินิพพานไปแล้วนั้นความเป็นจริงนั้นท่านยังไม่ปรินิพพาน ท่านยังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ถ้าใครไม่รู้จักก็เสียใจตกใจว่าเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า ความเป็นจริงนั้นพระพุทธเจ้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะธรรม ท่านบรรลุธรรมะจึงให้นามท่านว่า พระพุทธเจ้า ส่วนธรรมที่ท่านบรรลุเปลี่ยนเป็นพระ-พุทธเจ้านั้นยังอยู่คือ สัจจธรรมยังอยู่ พระพุทธเจ้าหลายๆองค์จะเกิดขึ้นมาก็ตาม ไม่เกิดก็ตาม จะมีพระพุทธเจ้าก็ตาม ไม่มีพระพุทธเจ้าก็ตาม ธรรมะนี้ยังอยู่ ธรรมเครื่องตรัสรู้ยังอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหนใครทำเมื่อไรก็ยังได้ยังเป็นอยู่ เพราะเป็นสัจจธรรม

ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้เป็นผู้ทำให้มาก เจริญให้มากด้วยศรัทธาของเรา เมื่อปัญญาเกิดก็จะเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะก็จะได้เห็นพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นจริงแล้วมันเป็นอันเดียวกันพระพุทธเจ้าองค์ที่ว่านี้ไม่มีรูป แต่คือหลักการวิชาการ หลักการวิชาการที่จะให้เป็นพระพุทธเจ้านี้ ไม่ได้เสียหายไปที่ไหน ส่วนพระ-พุทธเจ้าโดยสรุปก็คือ เป็นคนธรรมดาที่ไปเรียนวิชาอันนั้น ไปรู้วิชาอันนั้น จนกว่าที่ท่านรู้จักทุกข์ ท่านรู้จักเหตุเกิดแห่งทุกข์ ท่านรู้จักความดับทุกข์ ท่านรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านรู้สี่อย่างนี้เท่านั้น ไม่ต้องรู้อะไรมาก รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกข์ก็หาที่เกาะไม่ได้ ตัวทุกข์นี้มันไม่มีเพราะเหตุมันไม่มีแล้ว รู้จักเหตุมันแล้ว ดับเหตุมันแล้ว ผลก็คือตัวทุกข์มันดับไป วิชาความรู้อันนี้ยังอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา โลกนี้มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน สัจจธรรมนี้ยังมีอยู่ เปรียบให้ฟังว่า คนที่เป็นครูนั้นคือใคร ก็คือคนที่ไปเรียนวิชาครูจนสอบได้ตามหลักการของเขา แล้วก็ให้ไปสอนนักเรียน ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" ถ้าว่าครูนี้ตายไปแต่วิชาของครูไม่ได้ตาย ยังอยู่ ใครยังเรียนต่อไปก็ยังเป็นครูได้อีก วิชามันไม่หาย วิชามันไม่ตาย ครูคนที่ตายนั้นไม่ได้เอามันไปด้วย มันยังอยู่ ธรรมที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกันอย่างนั้น

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว พวกเราก็พอจะมองเห็นธรรมะ จะมีศรัทธาในการปฏิบัติ แต่ถ้าเข้าใจว่าท่านปรินิพพานแล้วก็หมด ไม่เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อไม่เห็นพระพุทธเจ้า มันก็ไม่เห็นบาปไม่เห็นบุญ คนเรานั้นก็ทำได้ทั้งบุญทั้งบาปนั่นแหละ เขาว่าบุญก็บุญไปอย่างนั้น เขาว่าบาปก็บาปไปอย่างนั้น มันเห็นไม่ชัด ไม่เห็นตัวบาป ไม่เห็นตัวบุญตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติของพวกเราทั้งหลายมันจึงเป็นหมันอยู่ในเวลานี้ แค่จะให้ถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งก็ยังไม่ค่อยจะได้กัน ยังไม่เชื่อท่าน ยังไม่เชื่อพ่อ ยังไปดูหมอดู ไปดูฤกษ์ต้องให้หมอบอกว่าทำอย่างนั้นๆ สะเดาะเคราะห์อย่างนั้นๆ_เท่านี้ก็เสียแล้ว นี่เรียกว่า ไม่ถึงพระรัตนตรัยแล้ว ฉะนั้นมันถึงยากถึงลำบาก ไม่รู้จะเอาอะไรต่อมิอะไรวุ่นวายไปหาหมอผีบ้าง หมอเทวดาบ้าง หมอสารพัดอย่างเพื่อจะมาแก้ไข เมื่อคิดแล้วมันจึงยังห่างไกลมาก แต่ว่าเข้าวัดทุกคนทำบุญทุกคน แต่ก็เป็นขโมยเกือบทุกคน โกหกเกือบทุกคน อะไรๆก็ทุกคน มันทุกคนไป ทุกๆอย่าง

อาตมาสลดใจเรื่องหนึ่ง พระฝรั่งรูปหนึ่ง คือพระสุเมโธ มาอยู่ด้วยก็ศึกษาธรรมะตรงไปตรงมา เราก็สอนว่า อันนี้มันเป็นบาปให้ละเสีย อันนี้มันเป็นบุญ มาอยู่ด้วยหลายปีเหมือนกัน เมื่ออยู่มาพอสมควร แล้ว ก็ให้ท่านไปอยู่วัดป่านานาชาติ เมื่อไปอยู่แล้ว ท่านสุเมโธก็ตั้งใจ ถึงวันพระ ชาวบ้านก็มาสมาทานอุโบสถศีลกัน ท่านก็ดีใจว่าคนไทยนี่รับศีลรับพรหลาย มีศีลมีธรรมมาก แต่อยู่ๆไปไม่กี่วัน ท่านก็ไปเห็นคนที่รับศีลไปกินเหล้า เมื่อเดินบิณฑบาตไปก็ไปเห็นทอดแหอย่างนี้ท่านก็หมดทางเลย วันหนึ่งก็กลับมากราบว่า

"หลวงพ่อ ทำไมเป็นอย่างนั้นเล่า เมื่อคืนก็มาสมาทานศีลกันแล้วว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่กินเหล้า ทำไมไปทำกันอีกอย่างนี้" นี่คือความจริงของเขา ถ้าทำอย่างนี้มันจะเป็นการเป็นงานไหมมันจะได้ผลไหม กำลังใจของท่านอ่อนไปมากเพราะคิดว่า ถ้าใครสมาทานศีลในพุทธศาสนาแล้วก็เลิกละกัน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเหล้า แต่นี่มันอยู่อย่างเก่า รับศีลก็รับไปเถอะ เหล้าก็กินไปเถอะ ทั้งสองอย่างฝรั่งดูไม่ออก ไม่รู้ข้าง หน้าข้างหลัง มันเป็นอย่างไร ท่านก็เลยลำบาก ไม่สบายใจ อาตมาก็ว่า "สุเมโธ อย่าไปคิดมันมากซิ ให้เข้าใจว่าสอนพวกเด็กๆ มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปถือเลย เมื่อมีความรู้ความเห็นขึ้นมา เขาจะละไปเองล่ะ" ดังนั้น ท่านก็อยู่ได้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา มันไม่เข้าถึงที่สุด อยากจะบรรลุธรรม อยากจะประพฤติธรรม แต่ว่าไม่รู้จักกำหนดจิตใจของเจ้าของ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นมาในจิตไม่รู้จักกำจัด บางคนก็ส่งเสริมมันเสียด้วย ไม่รู้จักบำบัดมัน มันเป็นอย่างนี้ อย่างฝรั่งคนหนึ่งก็พูดว่า ประเทศไทยมีพุทธศาสนา ทำไมถึงมีขโมยมาก อาตมาก็ว่า "สหรัฐมีกฎหมายห้ามขโมยไหม" "ห้าม" "มีขโมยไม?" "มีครับ" "อ้าว ทำไมล่ะ ทำไมมีขโมยล่ะ ทำไมกฎหมายไม่ฆ่ามันซะ"

อย่างเดียวกันอย่างนั้น จะไปโทษพุทธศาสนาว่าศาสนาเป็นขโมยไม่ใช่หรอก คนมันเป็นขโมย เหมือนกฎหมายสหรัฐห้ามไม่ให้ขโมยแต่คนยังเป็นขโมยกัน เป็นเพราะคน ไม่ใช่เป็นเพราะกฎหมายดังนั้นอาตมาจึงสอนอยู่แถวๆนี้ล่ะ ไม่ต้องไปไกล ไม่ต้องไปสอนไปในพระไตรปิฎกหรอก สอนแค่ว่าคนที่ไม่รู้จักบาป นี่ทำไมมันจึงจะรู้สึกสอนถึงหัวใจมันเลย หัวใจพระพุทธศาสนา ก็คือ ไม่กระทำบาปทั้งปวง นั่นล่ะอันหนึ่ง แล้วก็ทำจิตให้เป็นบุญเป็นกุศลอย่างหนึ่ง แล้วก็สอนทำใจให้ผ่องใสอีกอันหนึ่ง แต่ว่าเมื่อเราทำนะ มันไม่เอาอย่างนั้น สูตรทั้งหลายมีหมด ตับมันก็มี หัวใจมันก็มี เรียนกัน แต่ว่าเรียนแล้วเอาไปเป่าผีซะ สัพกะระณีเอาไปกันผีซะ มันแปลกไปอย่างนั้น เอาตับ ให้มันดีกว่าเขาล่ะ มันก็ยังไม่กิน เอาหัวใจมันให้ก็ไม่กินอีก จะเอาอะไรไปให้มันก็ไม่เอา แล้วก็มาพูดว่าไม่ได้เรียนไม่รู้จัก จะไปเรียนอะไรมากมาย ท่านย่อให้แล้วแต่เราก็ไม่รู้จัก เอาไปทำอย่างอื่นหมดชอบทำแต่ที่เรียกว่าไม่รู้เรื่อง

ดังนั้น เราจึงต้องประพฤติปฏิบัติไปจนกว่ามันจะเข้าใจ เหมือนน้ำที่เราหยดลงไปอย่างนี้ หยุดห่างๆ ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ...เราเร่งกามันขึ้นหยดของน้ำมันก็ถี่เข้า ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ...เร่งขึ้นไปมันก็ติดกันจนไหลเป็นสาย หยดแห่งน้ำมันหายไปไหน มันเป็นสายของน้ำ ถ้ามันติดกันแล้วเขาไม่เรียกว่าหยดน้ำ เขาเรียกว่า สายน้ำ สายน้ำมันเกิดจากอะไร มันเกิดมาจากหยดแห่งน้ำ นี่มันต้องเอาอย่างนี้ มันจะต้องค่อยๆไปอย่างนั้น ประพฤติปฏิบัติขัดเกลาไป การประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันจะไม่ขัดใจเจ้าของละ อาตมามันขัดจนได้บวชมาถึงขนาดนี้ ขัด โอ้โธ่! มาฉันข้าวมื้อเดียว เด็กรุ่นๆจะทำอย่างไร ฉันมื้อเดียวไปนั่งภาวนามันก็หิว นั่งอยู่ตอนกลางวันใจมันก็เดินไปตลาดโน่น ไปหาก๋วยเตี๋ยวกิน กินโน่น ไปโน่น สารพัดอย่าง มันจะไปแต่เราก็ไม่อยากให้มันไป ขัดใจก็ไม่รู้จะทำอย่างไร กิเลสมันหลาย จำเป็นจะต้องอดทน บางทีปฏิบัติไปท้องไม่สบาย ไปให้หมอตรวจก็ว่า "ท่านไม่ได้หรอก มันเป็นโรคกระเพาะ ท่านต้องฉันข้าวสองสามเวลา" บางทีก็บังคับให้ฉันข้าวเย็นอีกเสียด้วย "อ้าวโยม ให้ฉันข้าวเย็น มันก็กินข้าวเย็นเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ฉันหรอก" สารพัดอย่าง จึงต้องอดทนต่อสู้ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าองค์เดียว

ท่านให้ฉันเอกา ท่านบอกว่าดีไม่ดีโรคมันหายอีกด้วย หมอก็ว่าขาดอาหารนะ ไปคนละทางเลย เราเป็นคนปฏิบัติไม่รู้จะทำอย่างไรอย่างหมอรักษานี่เขาก็ดี แต่หมอเป็นมะเร็งมันก็มีนะ หมอเป็นมะเร็งตายเลย เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรแล้วก็จะต้องทำด้วยปัญญาขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้าองค์เดียว ท่านว่าให้ละบาปก็ละไปเสีย บำเพ็ญบุญก็บำเพ็ญไปเสียเท่านี้ก่อน จิตมันก็ผ่องใสสะอาด เหมือนกับคนๆหนึ่ง ครั้งแรกไปตะครุบกบ จับมาหักขามันทุกตัวเลย หัก ขามันไม่พอหักขาน้อยๆมันอีก ต่อมาแกก็ตะครุบมันเฉยๆขาไม่หัก เรียกว่ามันเบาลงละ อีกต่อมาไม่อยากจะทำ บางทีตะครุบแล้วก็วาง ก็คิดว่าไม่เอา พอไม่เอาก็นึกถึงหน้าลูกหน้าเมียที่บ้านก็จับอีก จนว่ามันเห็นชัดในใจของเจ้าของแล้วมันก็เลิก ตะครุบก็ไม่ตะครุบ จับก็ไม่จับ มันเลิก แต่มันก็ยากอยู่ จึงจะต้องอาศัยความอดทน อาศัยการประพฤติปฏิบัติของเขา

ถึงแม้ว่าเราจะมาเป็นนักบวช บางคนก็ดูเผินๆก็เห็นว่านักบวชมันสบาย ไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ ตีสามลั่นระฆัง ก๊งๆๆแล้ว หกโมงอุ้มบาตรไปโน่นสองกิโล สามกิโลโน่น เดี๋ยวอันนั้นเดี๋ยวอันนี้สารพัดอย่าง ถ้าใครไม่มีศรัทธาจริงๆอยู่ยากลำบาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ฝึก แต่คนเรามันก็ไม่อยากจะฝึก ไปพบตาแก่คนหนึ่งอายุตั้งหกสิบ เจ็บสิบแล้ว ยังกินเหล้า กินเมาไม่รู้เรื่อง ก็บอกว่า "โยมขอเถอะ อาตมาขอเถอะ อย่าทำเถอะแก่แล้ว" "โอ้ เป็นพระคุณอย่างยิ่งแล้ว ให้ผมขออีกสักปีเถอะ"

อ้อนวอนขอกินเหล้าอีกสักปีจึงจะเลิก มันเสียดายเหลือเกินคือมันไม่ได้พิจารณานั่นเอง ฉะนั้นความชั่วมันถึงไม่หลุดจากเราไป ใจของเรามันก็ไม่ผ่องใส ไม่ละบาป ไม่ละความชั่วแล้ว จิตก็ไม่ผ่องใสหรอก เกิดเป็นบุญขึ้นยาก ถ้าหากไม่ทำความผิดแล้วเป็นศีลนะโยมกาย วาจา เป็นศีล พอเป็นศีลปุ๊บ ศีล สมาธิติดต่อกันเลย สมาธิคือความตั้งใจมั่น คือเมื่อมันเห็นชัดในการละ มันเห็นชัดในการวาง มันเห็นชัดในการที่ไม่ทำอย่างนั้น มันมั่นอยู่อย่างนั้น ใครจะพูดไปตรงไหนมันก็มั่น นี่เรียกว่า สมาธิมันมั่น ถ้ามีศีล สมาธิแล้ว ปัญญามันก็เกิดเท่านั้นแหละ มันไม่อยู่หรอก เกิดปัญญารู้รอบสิ่งทั้งหลายท่านจึงว่าหลักพุทธศาสนาของเรา_คือศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นจึงให้เราทำให้เราภาวนา มันจะมีกำลังเป็นเหตุให้ศีลดีขึ้น สมาธิดีขึ้นปัญญาดีขึ้น มันเป็นไวพจน์รอบกันอยู่เสมอเลยทีเดียว

การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ถึงทำไม่ได้หมดก็พยายามทำ ทำไมถึงต้องทำ เพราะสิ่งทั้งหลายที่จะเป็นของมันจริงๆมันไม่มีอะไร ตายแล้วก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ คนมีมากก็ทิ้งไว้มาก คนมีน้อยก็ทิ้งไว้น้อย อันนี้ มันก็น่าเจ็บใจเหมือนกันนะ ลองคิดดูซิ ฉะนั้น เราควร พยายามทำ ถึงแม้ภพนี้มันไม่ถึงที่สุด ก็ให้มันเป็นประโยชน์ในภพหน้า เหมือนผลไม้เรากินดูมันก็หวาน เมล็ดมันน่าจะเอาไปปลูกนะ แต่เอาไปต้มซะ เอาไปคั่วซะ เลยหมดพันธุ์มันเลย พูดถึงตรงนี้ก็นึกถึงหลวงตากับเณรน้อย คือเขาเอาขนุนมาถวายหลวงตา พอฉันเข้าไป โอ้ มันหวานเหลือเกิน พอหวานปุ๊บ ก็อยากจะ ได้พันธุ์มัน ก็ถามเณรน้อยว่า "น้อยฉันขนุนไหม" "ฉันครับ" "อร่อยไหม?" "อร่อยครับ" "เมล็ดมันทำอย่างไร" " เอาไปต้ม"

หลวงตาพูดไม่ได้เลย มันไปคนละเรื่องกัน หลวงตาว่าจะเอาไปทำพันธุ์ เณรน้อยว่าเอาไปต้ม มันก็หมดไม่เหลือ รสมันดีมันอร่อยเราก็รู้จัก เมล็ดมันน่าเอาไปทำพืชทำพันธุ์ แต่นี่เอาไปต้มเลย มันก็เสร็จเท่านั้นแหละ ไม่มีเหลือ นี่มันสั้นขนาดนี้ คิดๆดูก็ขันเหมือนกันนะมนุษย์เรานี่ อย่างคำว่า "โลก" นี่ แต่ก่อนอาตมาก็เถียงพระพุทธเจ้าเหมือนกันนะ ท่านว่า "มันไม่ใช่ตน มันไม่ใช่ของๆตน" เราก็ฟังไม่ได้คือความอยากมันหลาย มันก็ทับไปเลย ความเป็นจริงพวกที่เขามีธรรมะ แล้วเขาเอาธรรมะมาใช้ มันก็ยิ่งรวยอยู่อย่างเก่านั่นแหละยิ่งสบาย ยิ่งมีปัญญา ยิ่งแปรเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่มันเสียหายไปตรงไหน ได้ประโยชน์เสียด้วย คนที่ไม่มีธรรมะนั่นซิมันทุกข์ หาจนไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักถอย ทำแต่งานไม่ต้องกินผลงาน_ทำแต่งานเท่านั้นแหละ ฉะนั้น พวกเราทุกคนที่เรียกว่า มันพอสมควรแล้วก็เบาลง พยายามทำให้มันเบา พยายามทำสิ่งใดที่มันไม่เป็นบาปนั่นล่ะ

อาตมาเคยไปพบพรานคนหนึ่งอยู่ที่ต่อเขต เป็นนายพรานตั้งแต่อายุสิบหกปีจนแก่ อาตมาไปเห็น โอ้ บ้านเป็นกระต๊อบเล็กกับมีกระบอกปืน แกไม่เอาอะไรโยม เอาแต่ไปยิงช้างเอางามัน อาตมาก็มาคิดว่า "โอ เรานี่ ถ้าหากว่าจะโปรดคนๆนี้ได้แล้ว เห็นว่าจะได้บุญหลายละมั้ง" ก็เลยแวะเข้าไปที่เขาอยู่ อาตมาก็เลยไปพูด

"โยม ทุกวันนี้ทำอะไร ทำมาหากินอะไร" แกก็ว่า "ยิงช้างเอางามันไปขาย" "โอ้ แล้วกัน ฟันของโยมนะเสียดายไหม มีคนมาถอนจะว่าอย่างไรไหม อาตมาว่าเปลี่ยนอาชีพอื่นไม่ได้หรือโยม งาช้างนั้นกว่ามันจะได้เมตรหนึ่ง หรือห้าสิบ เจ็ดสิบนี่ ช้างมัน รักษาของมันอยู่ไม่รู้กี่สิบปีนะ" เราอธิบายให้ฟัง เขาก็นั่งฟังแล้วก็ตอบว่า "โอ้ย ก็มันอยากได้นี่น้า" เราก็อธิบายไปอีก มันก็ว่าแต่ความเดียว "มันอยากได้นี่น้า" เราก็อธิบายไปอีก มันก็ไปไม่ได้ "มันอยากได้นี่น้า"

มันก็ว่ามันอยากได้อยู่อย่างนั้น มันแน่นมันหนา มันไม่มีทางไปได้ปลูกพืชปลูกผักมันก็ได้กินแล้ว นี่ไปหายิงช้างหลายปีก็ไม่ค่อยจะได้งามัน มันเป็นกรรม พระพุทธองค์ท่านสอนให้เราทำมาหากินไปในทางที่ชอบ สัมมาอาชีวะ อย่าไปทำบาปเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่นมันก็มีทางพอหาได้ แต่ว่ามันไม่หาไม่ทำ มันจะเอา แต่สิ่งที่มันเป็นบาปนั่นล่ะ มันไม่เห็น จะพูดอย่างไรมันก็ไม่เห็น คือ มันไม่ได้ภาวนากันนั่นเอง

อย่างพวกเราที่พากันมาเข้าวัดอย่างนี้มันก็บางไปพอสมควรแล้วพอรู้เรื่องแล้ว ถึงละบาปยังไม่หมดก็พอครึ่งๆกลางๆ จะพยายามละพยายามถอน ถึงวันนี้ยังไม่ได้ พรุ่งนี้ก็พยายามอยู่เรื่อยๆ ทำให้มันเป็นนิสัย ให้มันเป็นปัจจัย ถ้าเรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว แต่เราไม่ทำความดีอย่างนี้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่มีความหมาย ดังนั้น ท่านจึงให้ละ พูดง่ายๆว่า ละบาปบำเพ็ญบุญ แต่เดี๋ยวนี้มันละบุญบำเพ็ญบาปกันเสียแล้ว แต่ก่อนมันเอาม้า ออกหน้ารถเดี๋ยวนี้มันเอารถออกหน้าม้า ท่านสอนว่าละบาปบำเพ็ญบุญ มันก็ทำมาๆ มันไม่ทันใจ มันก็ละบุญบำเพ็ญบาป เลยมันกลับไปซะ มันเป็นอย่างนี้. 

ที่มา :  http://www.ajahnchah.org


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: