เธอพึงละเว้นไฟ 3 กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ
[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี อุคคตสรีรพราหมณ์ซึ่งกำลังเตรียมพิธีบูชายัญด้วยโคตัวผู้ ลูกโคตัวเมียและตัวผู้ แพะ และแกะ อย่างละ 500 ตัว ได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า]
อ: ท่านพระโคดม ผมได้ยินมาว่า การก่อไฟปักหลักบูชายัญจะมีผลมาก ได้อานิสงส์มาก. พ: พราหมณ์ เราก็ได้ยินมาเช่นนั้นเหมือนกันว่า การก่อไฟปักหลักบูชายัญจะมีผลมาก ได้อานิสงส์มาก
[อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กล่าวอีกสองครั้ง ซึ่งก็ได้รับการตอบกลับอย่างเดียวกัน จากนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า]
อ: ท่านพระโคดม คำที่ผมกล่าวตรงกันกับคำกล่าวของท่าน
[พระอานนท์ซึ่งได้ยินดังนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า]
อา: พราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ ท่านควรถามว่า ‘ภันเต ผมประสงค์จะก่อไฟปักหลักบูชายัญ ขอท่านโปรดสอนข้อที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่ผมด้วยเถิด’
[อุคคตสรีรพราหมณ์จึงถามใหม่ตามที่พระอานนท์แนะนำ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตอบว่า]
พ: บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญ เบื้องต้นก็ต้องเงื้ออาวุธ 3 ชนิดอันเป็นอกุศลและมีผลให้เกิดทุกข์. อาวุธทั้ง 3 นั้นคือ อาวุธทางใจ อาวุธทางวาจา และอาวุธทางกาย. บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญย่อมต้องคิดว่า จะฆ่าโคเท่านี้ตัว จะฆ่าแพะแกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญเขาคิดว่าจะทำบุญ กลับทำบาป คิดว่าจะแสวงหาสุคติ กลับเป็นทางไปทุคติ นี่เป็นการเงื้ออาวุธทางใจ. บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญย่อมต้องออกปากสั่งว่า จะฆ่าโคเท่านี้ตัว จะฆ่าแพะแกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญเขาคิดว่าจะทำบุญ กลับทำบาป คิดว่าจะแสวงหาสุคติ กลับเป็นทางไปทุคติ นี่เป็นการเงื้ออาวุธทางวาจา.
บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญย่อมต้องลงมือฆ่าด้วยตัวเองก่อน เพื่อบูชายัญเขาคิดว่าจะทำบุญ กลับทำบาป คิดว่าจะแสวงหาสุคติ กลับเป็นทางไปทุคติ นี่เป็นการเงื้ออาวุธทางกาย. พราหมณ์ ท่านพึงละเว้น ไม่เสพไฟ 3 กอง คือ ราคะ โทสะ และโมหะ
ทำไมต้องละเว้นไฟ 3 กองนี้
เพราะคนที่ถูกราคะ..โทสะ..โมหะครอบงำจิตใจ ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคตินรก. พราหมณ์ ไฟที่ควรบูชา มี 3 กอง คือ อาหุไนยบุคคล (คนที่ควรได้รับสิ่งของสำหรับเคารพบูชา) คหบดี และทักขิไณยบุคคล (คนที่ควรได้รับทาน).
อาหุไนยบุคคล คือ แม่และพ่อ เพราะบุคคลเกิดมาได้ก็เพราะแม่และพ่อนี้ จึงควรบูชาท่าน. คหบดี คือ คนในครอบครัว บุตรภรรยา หรือคนในบ้าน. ทักขิไณยบุคคล คือ ผู้ที่งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ตั้งอยู่ในความอดทน ฝึกใจให้นิ่งสงบ ทำจิตดวงเดียวนั้นให้เย็น
พราหมณ์ ไฟ 3 กองนี้แลที่ควรสักการะบูชา ส่วนไฟที่เกิดแต่ไม้ที่ถูกจุดให้ลุกโพลงขึ้น ก็แค่มองดูมันไหม้ด้วยใจที่วางเฉย ซักพักพอดับไปแล้วก็เขี่ยไว้ข้างๆเท่านั้นแล
อ: ท่านพระโคดม คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ผมขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำผมว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
ผมจะปล่อยโค ลูกโค แพะ และแกะทั้งหมด ให้ชีวิตมัน พวกมันจะได้พากันไปกินหญ้าเขียวสด ดื่มน้ำเย็นสะอาด และรับลมอันเย็นสดชื่น
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 37 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฎฐก-นวกนิบาต ภาค 4 มหายัญญวรรค ทุติยอัคคิสูตร ข้อ 44), 2559, น.92-95
0 comments: