วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้าสางทางการถอน“อุปธิ”

ฟ้าสางทางการถอน“อุปธิ”

“หัวข้อต่อไป ฟ้าสางทางการถอน อุปธิ  อุ - ปะ - ธิ, ( ธิ ธ. ธง ) ฟ้าสางทางการถอนอุปธิ. คําว่า “อุปธิ” นี้ บางคนไม่เคยได้ยินก็ได้, แล้วไม่รู้ว่าอุปธินี้คืออะไร อย่างนี้แล้วมันไม่มีทางที่จะฟ้าสางได้, เพราะคําว่าอุปธิคืออะไรก็ยังไม่รู้เสียแล้ว อุ - ปะ - ธิ แปลว่า “ เข้าไปทรงเอาไว้ ” เหมือนเราเข้าไปอยู่ใต้อะไรแล้วดันขึ้นมา แบกดันขึ้นมา นั่นแหละ คืออาการที่เรียกว่าอุปธิ เอาหัวดุนขึ้นมาจากข้างใต้ เอาบ่าดันขึ้นมาจากข้างใต้ เพื่อจะทรงสิ่งนั้นไว้, อาการอย่างนั้นเรียกว่า อุปธิ, คือแบกของหนัก. อุปธิ แปลว่า ของหนัก หรือ การแบกของหนัก, เราแบกของหนักกันมาตลอดเวลา, ฟ้าไม่สางก็แบกไปอีก แบกไปเรื่อย แบกของหนักไปตลอดเวลา

อะไรเป็นของหนักในที่นี้ มันหลายอย่างด้วยกัน แต่สรุปความแล้วมันก็คือเรื่อง “ตัวกู”, ตัวกูเป็นของหนักกว่าสิ่งใด ๆ : มีอุปาทานในสิ่งใดว่าสิ่งนั้นเป็น “ตัวกู” มันก็หนัก, อุปาทานว่า “ของกู” มันก็หนัก; เช่นร่างกายนี้ ถ้าคิดว่าเป็นของกู แล้วมันก็หนักแก่จิตใจของคนที่ถือว่าร่างกายนี้ของกู, หรือว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ ถ้ามันไปหลงว่าเป็นตัวกู มันก็หนัก. กิเลสก็เป็นของหนัก, พอเข้าไปถือเอาซึ่งกิเลสแล้วจะหนักยิ่งกว่าอะไรเสียอีก. กรรมของกูก็เป็นของหนัก, ผลกรรมของกูก็เป็นของหนัก; เมื่อยังมีกรรมเป็นเครื่องผูกพันอยู่ก็เป็นของหนัก, หรือว่าการปรุงแต่งด้วยเหตุด้วยปัจจัยที่เรียกว่าสังขาร, สังขาร การปรุงแต่ง ผู้ปรุงแต่ง ผู้ถูกปรุงแต่ง นี้เรียกว่าสังขารทั้งนั้น นี้ก็เป็นของหนัก เพราะว่ามันเป็นปรุงแต่งที่ต้องพยุงเอาไว้ให้เป็นการปรุงแต่ง ก็เป็นของหนัก, หลงกายนี้ว่าเป็นของกู มันก็หนัก คือมีอุปาทานในกายนี้ ว่ากายนี้ของกู กายนี้ก็เป็นของหนัก

แต่ท่านพูดเป็นภาษาธรรมะหน่อย ท่านก็พูดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ นี้ มีอุปาทานเข้าไปยึดถือว่าเป็นตน หรือเป็นของตน มันก็เป็นของหนัก. แต่ถ้าไม่มีอุปาทานเข้าไปยึดถือมันก็ไม่หนัก เพราะว่าเราไม่ได้เอามาแบก, อะไร ๆ มันไม่เป็นของหนัก ถ้าเราไม่ได้เอามาแบก. ดังนั้น อุปธิ นี้คือของที่เราเอามาแบก มาถือ มาทูน มาหิ้ว มาหาบ มาหอบ อะไรก็ตาม เรียกว่าเป็น “ของหนัก”.

แม้ที่สุดแต่ “บุญ”, ระวังให้ดีๆ ปุญฺโญปธิกํ = บุญคืออุปธิ, อุปธิ แปลว่า ของหนัก, ปุญฺโญปธิกํ คือ บุญเป็นของหนัก คนบ้าบุญมันก็แบกบุญจนหลังแอ่น เพราะบุญมันเป็นของหนัก; หนักเพราะยึดถือว่าบุญของกู ยึดถือเป็นตัวกู ยึดถือเป็นของกู บุญก็เลยเป็นอุปธิ และเป็นของหนัก. คนทั่วไปที่มีการศึกษาในระดับทั่วไป ก็จะถือว่าบุญเป็นของประเสริฐ เป็นของที่ต้องเอาให้ได้ ภาวนาว่าจะให้ได้แต่บุญ เพราะมันเป็นธรรมเนียม เป็นประเพณีเสียแล้ว ก็ปรารถนาของหนักด้วยกันทั้งนั้น นี่บุญก็กลายเป็นของหนักขึ้นมาได้

แม้แต่ “ความดี” ที่เรียกว่าดี อยากดี ได้ดี ความดีก็เป็นของหนัก เพราะเขายึดถือว่าความดีของกู, เป็นบ้าเพราะความดี ต้องตายเพราะความดี เมาดีจนเป็นบ้า นี่ความดีมันก็เป็นของหนัก

ความหลงในสิ่งใด สิ่งนั้นก็กลายเป็นของหนัก, ยึดถือในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นของหนัก. ดังนั้น ของเอร็ดอร่อย ของสวย ของหอม ของงาม อะไรต่างๆ ก็กลายเป็นของหนักขึ้นมา เพราะคนโง่มันเข้าไปยึดถือเอาด้วยอุปาทาน

พูดให้มันมากที่สุดเลยว่า ชีวิตนั่นแหละเป็นของหนัก, ชีวิตของคนโง่นั่นแหละเป็นของหนัก, คนโง่ คือ คนที่ยึดถืออะไรโดยความเป็นของตน มันก็ยึดถือว่าชีวิตนี้ของกู ชีวิตก็เลยกลายเป็นของหนัก. ชีวิตของผู้ไม่ยึดถือก็ไม่หนัก ชีวิตของพระอรหันต์ก็ไม่หนัก เพราะพระอรหันต์ไม่ยึดถือว่าชีวิตของกู แต่คนโง่มันยึดถือว่าชีวิตของกู เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเป็นของหนัก เพราะมีอุปาทาน มายึดถือว่า ชีวิตนี้ของกู, อุปาทานนี้มาจากความโง่ มาจากอวิชชา, มีอุปาทานแล้ว ก็มายึดถือว่า ชีวิตนี้ของกู ฉะนั้นชีวิตนี้ก็เป็นของหนัก. พูดภาษาธรรมดาหน่อยก็ว่า “ตัวกู” นั่นแหละเป็นของหนัก, ตัวกูที่ชอบมีกันนัก ยกหูชูหาง เป็นมายาสร้างขึ้นมาด้วยความโง่ เป็นเพียงความรู้สึกของจิต กลายเป็นของหนักกว่าภูเขา ความรู้สึกของจิตว่า “ตัวกู” นั่นแหละ หนักกว่าภูเขาหิมาลัยเสียอีก.

นี้เรียกว่าของหนัก หนักเพราะยึดถือด้วยอุปาทาน แม้แต่ขี้ฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง ถ้าไปยึดถือด้วยอุปาทาน มันก็หนักเท่าภูเขา, ภูเขาถ้าไม่ได้ยึดถือมันก็ไม่หนักอะไร, เพชรเม็ดเล็กๆ หนักไม่กี่กรัมนี้ ลองไปยึดถือเข้าสิ มันก็หนักกว่าภูเขาหิมาลัย นี้ก็เรียกว่า “ความหนักมันมาจากความยึดถือ”

ฉะนั้น ขอให้ทุกคนสังเกตดูให้ดีว่า หนักอกหนักใจเมื่อไร, เรามีความหนักอกหนักใจเมื่อไร, นั่นแหละคือมีอุปธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้ว. มีนาก็ทุกข์เพราะนา, มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว, มีข้าวเปลือกก็ทุกข์เพราะข้าวเปลือก. พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้สํานวนอย่างนี้ มีสิ่งใดยึดถือแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ด้วยสิ่งนั้น เพราะมันมาหนักอยู่บนหัวใจ มาบีบคั้นอยู่บนจิตใจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นของหนักก็ทนไป ทนหนักอกหนักใจไป จนเป็นโรคประสาท...

ฟ้าสางกันอย่างไรในทางถอนอุปธิ? ก็รู้อย่างที่ว่ามาแล้วว่าอะไรๆ ที่มันมีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมันไม่หนัก พอหยิบขึ้นมาแบกไว้ด้วยอุปาทานว่า“ของกู” มันหนักทุกอย่างเลย ท่านจึงมีคําสอนไม่ให้ยึดถือว่า พระนิพพานเป็นของกู เพื่อจะไม่มีการแบกนิพพานของคนโง่ คนโง่อาจจะแบกพระนิพพานในความรู้สึก ในความคาดคะเนของตน หลงในพระนิพพานก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็หลงอยู่ในความดี แบกความดี แบกบุญ แบกกุศล แบกอะไรอยู่อย่างเต็มที่, แล้วมันก็ง่ายนิดเดียวที่จะหลงแบกนิพพานในการคาดคะเนของตนว่านิพพานนั้นเป็นอย่างไร เขาเข้าใจว่านิพพานเป็นอย่างไร ก็หมายมั่นในพระนิพพานนั้น ในลักษณะอย่างนั้น ก็เรียกว่าคนแบกนิพพาน มันก็เป็นทุกข์เพราะแบกของหนัก”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๖ หัวข้อเรื่อง “ฟ้าสางทางความสะอาด สว่าง สงบ” จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปีที่มีสวนโมกข์ ตอน ๓” หน้า ๘๒-๘๕


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: