ทุพฺพลกฏฺฐชาตกํ - ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง
"พหุมฺเปตํ วเน กฏฺฐํ, วาโต ภญฺชติ ทุพฺพลํ;
ตสฺส เจ ภายสี นาค, กิโส นูน ภวิสฺสสีติฯ
ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง, ดูกรช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านมากลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่."
ทุพพลกัฏฐชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุขลาดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหุมฺเปตํ วเน กฏฺฐํ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถีผู้หนึ่งฟังธรรมของพระศาสดาแล้วบรรพชาได้เป็นผู้กลัวตายยิ่งนักเธอได้ยินเสียงลมพัด เสียงไม้แห้งตก หรือเสียงนก เสียงจตุบทก็สะดุ้งกลัวจะตาย ร้องเสียงลั่นวิ่งหนีไป, เพราะด้วยเหตุเพียงความระลึกว่า เราต้องตาย ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอเสียเลย
ก็ถ้าเธอพอจะรู้ว่า เราต้องตายดังนี้ ก็จะไม่กลัวตาย, แต่เพราะเธอไม่เคยเจริญมรหณัสสติกัมมัฏฐานเลย จึงกลัว, ความกลัวตายของเธอ แพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ. ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายยกเอาเรื่องนี้ขึ้นพูดกันในธรรมสภาว่า „ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นขลาดต่อความตาย กลัวตาย, ธรรมดาภิกษุควรจะเจริญมรณัสสติกัมมัฏฐานว่า เราต้องตายแน่นอน ดังนี้."
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า?“. ครั้นภิกษุทั้งหลาย กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว มีรับสั่งให้หาภิกษุนั้นมาเฝ้า ตรัสถามว่า "จริงหรือ ที่เขาว่า เธอเป็นคนกลัวตาย " เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า" ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเสียใจต่อภิกษุนี้เลย, มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้เป็นผู้กลัวตาย แม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นผู้กลัวตายเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดาในป่าหิมพานต์. ในครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงมอบมงคลหัตถีของพระองค์ให้แก่พวกนายหัตถาจารย์ เพื่อให้ฝึกหัตถึงเหตุแห่งความไม่พรั่นพรึง พวกนายหัตถาจารย์จึงมัดช้างนั้นที่เสาตะลุง อย่างกระดุกกระดิกไม่ได้. พวกมนุษย์พากันถือหอกซัด พากันเข้าล้อม กระทำให้เกิดความพรั่นพรึง ช้างถูกเขาบังคับดังนั้น ไม่อาจอดกลั้นเวทนาความหวั่นไหวได้ ทำลายเสาตะลุงเสีย ไล่กวดมนุษย์ให้หนีไปแล้วเข้าป่าหิมพานต์. พวกมนุษย์ ไม่อาจจะจับช้างนั้นได้ก็พากันกลับ, ช้างนั้นได้เป็นสัตว์กลัวตาย, เพราะเรื่องนั้นได้ยินเสียงลมเป็นต้น ก็ตัวสั่น กลัวตาย ทิ้งงวงวิ่งหนีไปโดยเร็ว เป็นเหมือนเวลาที่ถูกมัดติดเสาตะลุง ถูกบังคับไม่ให้พรั่นพรึงฉะนั้น, ไม่ได้ความสบายกาย หรือความสบายใจมีแต่ความหวั่นระแวงเที่ยวไป. รุกขเทวดาเห็นช้างนั้นแล้ว ยืนบนค่าคบไม้ กล่าวคาถานี้ว่า :-
„ลมย่อมพัดไม้แห้ง ที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมาย ให้หักลง แน่ะ ช้างตัว ประเสริฐ ถ้าท่านยังกลัวต่อไม้แห้งนั้นท่านจักซูบผอมเป็นแน่.“
ในคาถานั้นประมวลอรรถาธิบายได้ดังนี้ :- ลมต่างด้วยลมที่มาแต่ทิศบูรพาเป็นต้น ย่อมระรานต้นไม้ที่ทุรพลใดเล่าต้นไม้นั้นมีมากมายในป่านี้ คือหาได้ง่าย มีอยู่ในป่านั้น ๆถ้าเจ้ากลัวลมนั้น ก็จำต้องกลัวอยู่เป็นนิจ จักต้องถึงความสิ้นเนื้อและเลือด เหตุนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่ากลัวเลย. เทวดาให้โอวาทแก่ช้างนั้น ด้วยประการฉะนี้ ตั้งแต่นั้นมาแม้ช้างนั้น ก็หายกลัว.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศสัจธรรมแล้วทรงประชุมชาดกนี้ว่า ช้างในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนรุกขเทวดาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: