วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อสาตรูปชาตกํ - สิ่งที่ครอบงำคนประมาท

อสาตรูปชาตกํ - สิ่งที่ครอบงำคนประมาท

"อสาตํ   สาตรูเปน,           ปิยรูเปน   อปฺปิยํ;

ทุกฺขํ   สุขสฺส   รูเปน,       ปมตฺตมติวตฺตตีติ ฯ

สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำผู้ประมาทแล้ว ด้วยอาการเป็นที่น่าพอใจ ด้วยอาการเป็นที่รัก และด้วยอาการที่เป็นสุข."

อสาตรูปชาดกอรรถกถา (ประวัติพระสีวลีเถระ)

พระศาสดาทรงอาศัย กุณฑิยนคร ประทับอยู่ ณ กุณฑธานวันทรงปรารภอุบาสิกานามว่าสุปปวาสา ผู้เป็นธิดาแห่งโกลิยกษัตริย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อสาตํ  สาตรูเปน  ดังนี้.

ความพิสดารว่า ในสมัยนั้น พระนางสุปปวาสา ต้องทรงบริหารพระครรภ์ถึง ๗ ปีแล้วยังต้องเจ็บพระครรภ์อีก ๗ วันเวทนาเป็นไปขนาดหนัก พระนางแม้จะถูกเวทนาขนาดหนักเสียดแทงถึงอย่างนี้ ก็อดกลั้นทุกข์เสียได้ด้วยวิตก ๓ ประการเหล่านี้ คือ   „พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเล่าทรงแสดงธรรม เพื่อการละทุกข์เห็นปานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้หนอ, หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ใดเล่าปฏิบัติแล้วเพื่อการละทุกข์เห็นปานนี้ หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแน่หนอ, ทุกข์เห็นปานนี้ไม่มีในพระนิพพานใดเล่าพระนิพพานนั้นเป็นสุขจริงหนอ“

พระนางตรัสเรียกพระสวามีมาแล้ว ขอให้ไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อกราบทูลความเป็นไปของพระนางและข่าวกราบถวายบังคม.  พระศาสดาทรงทราบข่าวการถวายบังคมแล้ว ตรัสว่า „โกลิยธิดา สุปปวาสา จงมีความสุขเถิด จงมีความสุข ไม่มีโรค ตลอดโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด“  ก็พร้อม ๆ กับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแหละพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ก็ทรงสำราญ ปราศจากพระโรคาพาธ ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรคแล้ว

ครั้นพระสวามีของพระนางเสด็จถึงนิเวศน์ ทอดพระเนตรเห็นพระนางประสูติแล้วได้ทรงเกิดอัศจรรย์หลากพระทัยว่า „น่าอัศจรรย์จริงหนออานุภาพของพระตถาคตเหลือประมาณ“ แม้พระนางสุปปวาสาทรงประสูติพระกุมารแล้ว ก็ปรารถนาจะถวายมหาทาน แด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข จึงส่งพระสวามีกลับไปเพื่อนิมนต์

ก็สมัยนั้นเล่า อุปัฏฐากของพระมหาโมคคัลลานะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขไว้แล้ว พระศาสดาจึงส่งพระสวามีของพระนางไปสู่สำนักของพระเถระเจ้า ให้ท่านทำให้อุปัฏฐากยอมตกลง เพื่อให้โอกาสแก่ทานของพระนางสุปปวาสาแล้วทรงรับทานของพระนางตลอด ๗ วันกับภิกษุสงฆ์.  ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ให้ถวายบังคมพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสู่สำนักของพระสารีบุตรเถระเจ้าโดยลำดับ

พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า „สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ?“

สีวลีกุมาร ตรัสคำเห็นปานนี้กับพระเถระเจ้าว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า, กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี“

พระนางสุปปวาสาทรงสดับถ้อยคำนั้นของพระโอรสแล้วทรงโสมนัสว่า „ลูกของเราเกิดได้ ๗ วัน คุยกับพระอนุพุทธรรมเสนาบดีได้“

พระศาสดาตรัสว่า „สุปปวาสา ยังจะปรารถนาบุตรอย่างนี้คนอื่น ๆ อีกไหมเล่า ?„

พระนางกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ากระหม่อมฉันพึงได้โอรสอื่น ๆ อย่างนี้ ๗ คน เกล้ากระหม่อมฉันพึงปรารถนาทีเดียวพระเจ้าค่ะ“

พระศาสดาทรงเปล่งพระอุทาน กระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไป ฝ่ายพระกุมารสีวลี พอมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษาเท่านั้น ก็ทรงบวชถวายชีวิตในพระศาสนา ครั้นมีอายุครบก็ได้อุปสมบทเป็นผู้มีบุญ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ บรรลือลั่นตลอดพื้นปฐพี บรรลุพระอรหัตผลแล้วได้รับฐานะเป็นเอตทัคคะในกลุ่มแห่งท่านผู้มีบุญทั้งหลาย

อยู่มาวันหนึ่ง พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา ตั้งข้อสนทนากันว่า „ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเถระที่มีนามว่าสีวลี มีบุญมาก มีความปรารถนาอันตั้งไว้แล้ว เป็นสัตว์อุบัติในภพสุดท้าย เห็นปานนี้ ต้องอยู่ในโลกโลหกุมภีถึง ๗ ปีแล้วยังต้องถึงความหลงครรภ์ ๗ วัน, น่าสงสารพระมารดาต้องทรงเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง, ท่านได้กระทำกรรมอะไรไว้หนอแล ?“

พระศาสดาเสด็จไป ณ ธรรมสภานั้นตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรในบัดนี้“ เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้วตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปีและการถึงความหลงครรภ์อีก ๗ วัน ของสีวลีผู้มีบุญมาก มีกรรมที่ตนทำไว้เป็นมูลทีเดียว, ความทุกข์ในอันบริหารครรภ์ด้วยการอุ้มท้องไว้ถึง ๗ ปีและทุกข์เพราะหลงครรภ์ถึง ๗ วัน แม้ของพระนางสุปปวาสานั้นเล่า ก็มีกรรมที่ตนกระทำไว้เป็นมูลเหมือน“ กันอันภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนาแล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี   พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่งพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต พระองค์นั้นทรงเจริญวัยแล้วทรงศึกษาสรรพศิลปวิทยา ณ เมืองตักกสิลา ครั้นพระชนกเสด็จทิวงคต ก็ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม

สมัยนั้นพระเจ้าโกศลทรงกรีฑาพลเป็นกองทัพใหญ่ เสด็จมายึดพระนครพาราณสีได้ สำเร็จโทษพระราชาเสียแล้ว กระทำอัครมเหสีของพระราชานั้นแหละให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์

ฝ่ายพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี เวลาที่พระราชบิดาเสด็จสวรรคต เสด็จหนีไปทางช่องระบายน้ำทรงรวบรวมกำลังได้ยกมาสู่พระนครพาราณสี ประทับพักแรมในที่ไม่ไกลทรงส่งหนังสือไปถึงพระราชานั้นว่า „จงมอบราชสมบัติคืน หรือมิฉะนั้นจงรบกัน"

พระราชานั้นทรงตอบหนังสือไปว่า „เราจะทำการยุทธ“    ฝ่ายพระราชมารดาของพระราชกุมารทรงสดับสาสน์นั้นแล้วลอบส่งหนังสือไปว่า „ไม่ต้องทำการรบดอก, จงล้อมพระนครพาราณสี ตัดการไปมาของพระนครเสียให้เด็ดขาดสัก ๗ วัน, แต่นั้นก็ยึดพระนครซึ่งผู้คนลำบากแล้วด้วยการสิ้นฟืน น้ำและภัตต์ โดยไม่ต้องรบเลย“

พระราชกุมารฟังข่าวของพระมารดาแล้ว ก็ล้อมพระนครไว้ ตัดการไปมาเด็ดขาดตลอด ๗ วัน ชาวเมืองไปมาไม่ได้ ก็ตัดเอาเศียรของพระราชานั้นไปถวายพระกุมารในวันที่ ๗ พระราชกุมารก็เสด็จเข้าพระนครครองราชสมบัติเมื่อสิ้นพระชนมายุ ก็เสด็จไปตามยถากรรม.

ในกาลบัดนี้ พระสีวลีนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีตลอด ๗ ปี ถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ ๗ วัน ด้วยกระแสกรรมที่ล้อมพระนครตัดการไปมาเสียเด็ดขาดถึง ๗ วันแล้วยืดเอา,  ก็แต่ว่า ท่านได้ให้มหาทาน กระทำความปรารถนาไว้แทบพระบาท แห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า „ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้เลิศกว่า บุคคลผู้มีลาภทั้งหลาย“,  และในครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า ร่วมกับชาวเมืองถวายเนยแข็ง มีมูลค่าราคาหนึ่งพันแล้วได้กระทำความปรารถนาไว้ ด้วยอานุภาพแห่งทานนั้น จึงได้เป็นผู้เลิศกว่า ผู้มีลาภทั้งหลาย,   ส่วนพระนางสุปปวาสาเล่า เพราะส่งข่าวไปว่า „จงล้อมพระนครยึดเอาเถิดพ่อ“ จึงต้องทรงบริหารครรภ์อุ้มพระอุทรตลอด ๗ ปีแล้วยังต้องเกิดครรภ์หลงอีกถึง ๗ วัน ดังนี้แล.

พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกแล้ว ตรัสพระคาถานี้เป็นอภิสัมพุทธคาถา ความว่า :-  „สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม ข่มผู้ประมาทไว้ ด้วยทีท่าอันน่าชื่นชม, ส่งที่ไม่น่ารัก ข่มผู้ประมาทไว้ ด้วยทีท่าอันน่ารัก, ทุกข์ข่มผู้ประมาทไว้ด้วยทีท่าของความสุข.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อสาตํ  สาตรูเปน  ความว่า สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม คือไม่มีรสหวานเลย ย่อมข่มผู้ประมาทด้วยทีท่าเหมือนมีรสอร่อย.   บทว่า  ปมตฺตมติวตฺตติ  มีอธิบายว่า สิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้คือสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม สิ่งที่ไม่น่ารักและทุกข์ ย่อมข่ม คือครอบงำบุคคลผู้ประมาทแล้ว ด้วยสามารถแห่งการอยู่ปราศจากสติด้วยอาการมีทีท่าอันน่าชื่นชมเป็นต้นนี้ เรื่องนี้

พึงทราบว่า ข้อที่มารดาและบุตรเหล่านั้นถูกสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม กล่าวคือการบริหารครรภ์และการอยู่ในครรภ์เป็นต้นนี้ ครอบงำแล้ว ด้วยการ เปรียบให้เห็น การปิดล้อมพระนครไว้ในครั้งก่อนเป็นต้น อันใดก็ดี,  ข้อที่บัดนี้อุบาสิกานั้น ยอมให้สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ารักเป็นทุกข์เห็นปานนี้ ครอบงำซ้ำอีกถึง ๗ ครั้ง ด้วยรูปเทียมอันชวนให้เข้าใจผิดว่า น่าชื่นชม กล่าวคือบุตร อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักเป็นต้น จึงกราบทูลอย่างนั้น อันใดก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสิ่งนั้น ๆ ทั้งหมดตรัสแล้ว.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า ราชกุมารผู้ล้อมพระนครแล้วสืบราชสมบัติในครั้งนั้นได้มาเป็นสีวลีในครั้งนี้ พระมารดาได้มาเป็นพระนางสุปปวาสาส่วนพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาได้มาเป็นเราตถาคตฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: