วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๐)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๐) รุกขอเจตนาภาวปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อเจตนํ  พฺราหฺมณ  อสฺสุณนฺตํ,  ชาโณ  อชานนฺตมิมํ   ปลาสํ   อารทฺธวีริโย  ธุวํ  อปฺปมตฺโต,  สุขเสยฺยํ  ปุจฺฉสิ  กิสฺส  เหตุ” (ขุ.ชา. ๒๕/๑๓๒)  ดูก่อน พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ เธอผู้ปรารถความเพียร ไม่ประมาทอยู่เป็นนิจ รู้อยู่ ก็ยังถามถึงการอยู่เป็นสุขกับต้นไม้ซึ่งหาเจตนาไม่ได้ ฟังไม่ได้ ไม่รู้อยู่ เล่า ดังนี้ และยังตรัสไว้อีกว่า  “อิติ  ผนฺทนรุกฺโขปิ,  ตาวเท  อชฺฌภาสถ,  มยฺหมฺปิ  วจนํ  อตฺถิ,  ถารทวาช   สุโณหิ  เม” (ขุ.ชา. ๒๗/๓๔๔)  ดูก่อน ภารทวาชะ แม้ว่าเราจะมีคำตอบอยู่ แต่ขอท่านจงถามต้นสะคร้ออย่างนี้ก่อนเถิด แล้วจึงค่อยฟังเรา ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าต้นไม้เป็นสิ่งไม่มีเจตนาจริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ต้นตะคร้อได้พูดจากับพราหมณ์ ภารทวาชะ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า ต้นตะคร้อได้พูดจากับพราหมณ์ภารทวาชะจริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า ต้นไม้เป็นสิ่งที่ไม่มีเจตนา ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้นี้ มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้นไม้เป็นสิ่งไม่มีเจตนา ดังนี้จริง แต่ที่ตรัสว่าต้นไม้ไม่ได้พูดจากับพราหมณ์ภารทวาชะนั้น เป็นอันตรัสไปตามโวหารโลก ขอถวายพระพร ขึ้นชื่อว่าต้นไม้ซึ่งหาเจตนาไม่ได้ย่อมหาการพูดจาไม่ได้ คำว่าต้นไม้ นี้ เป็นชื่อเรียกเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นี้ ก็คำว่า “ต้นไม้พูดจา” นี้ เป็นบัญญัติในทางโลก ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ชนทั้งหลายย่อมเรียกเกวียนที่เต็มไปด้วยข้าวว่า “เกวียนข้าว” ความจริงเกวียนที่ทำด้วยข้าวนั้น ไม่มี มีแต่เกวียนที่ทำด้วยไม้ แต่เพราะในเกวียนนั้นมีข้าวอยู่เกลื่อนกล่น ชนทั้งหลายจึงเรียกว่า เกวียนข้าว ฉันใด ขอถวายพระพร ต้นไม้พูดจาไม่ได้หรอก ต้นไม้ไม่มีเจตนา แปลว่า ที่ต้นไม้นั้นมีเทวดาตนใดสิงสถิตอยู่ก็ย่อมมีชื่อเรียกเทวดาตนนั้นว่า ต้นไม้ ฉันนั้นเหมือนกัน ก็คำพูดว่า ต้นไม้พูดจา นี้ เป็นบัญญัติของชาวโลก.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า คนผู้กำลังกวนนมส้มอยู่ ย่อมกล่าวว่า “เรากำลังกวนเปรียง” ก็สิ่งที่เขากำลังกวนอยู่ไม่ใช่เปรียง เป็นนมส้มนั่นเทียว เขากำลังกวนอยู่ ก็กล่าวว่า เรากำลังกวนเปรียง ฉันใด ขอถวายพระพร ต้นไม้พูดจาไม่ได้หรอก ต้นไม้ไม่มีเจตนา แปลว่าที่ต้นไม้นั้น มีเทวดาตนใดสิ่งสถิตย์อยู่ ก็ย่อมมีชื่อเรียกเทวดาตนนั้นว่า ต้นไม้ฉันนั้นเหมือนกัน ก็คำพูดว่า ต้นไม้พูดจา นี้ เป็นบัญญัติของชาวโลก.   ขอถวายพระพรอีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เวลาที่ผู้คนต้องการทำสิ่งที่ยังไม่มี ให้สำเร็จ ย่อมกล่าวว่า เรากำลังทำสิ่งที่มีอยู่ให้สำเร็จ ย่อมกล่าวถึงสิ่งที่ยังไม่สำเร็จว่าสำเร็จ จัดว่าเป็นโวหารของชาวโลก ฉันใด ขอถวายพระพร ต้นไม้พูดจาไม่ได้หรอก ต้นไม้ไม่มีเจตนา แต่ว่าที่ต้นไม้นั้น มีเทวดาตนใดสิงสถิตย์อยู่ ก็ย่อมมีชื่อเรียกเทวดาตนนั้นว่า ต้นไม้ ฉันนั้นเหมือนกัน ก็คำว่า ต้นไม้พูดจา นี้ เป็นบัญญัติของชาวโลก ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายกล่าวขานกันด้วยโวหารของชาวโลก ใด พระตถาคตก็จะทรงแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยโวหารของชาวโลกนั้นนั่นเทียว.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบรุกขอเจตนาภาวปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงไม่มีเจตนาแห่งต้นไม้ชื่อว่า รุกขอเจตนาภาวปัญหา.   คำว่า ต้นไม้หาเจตนามิได้ คือ ต้นไม้ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความคิด ไม่มีจิต.  ขอยกข้อความในอรรถกถา ปลาสชาดก ซึ่งเป็นที่มาแห่งคาถาแรก มาแสดงโดยย่อ.  พระพุทธเจ้าทรงแสดงชาดกเรื่องนี้แก่พระอานนท์ผู้กำลังเศร้าโศก เพราะเหตุที่พระตถาคตใกล้เสด็จดับขันปรินิพพาน ว่าในกาลอดีต เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็น ปราสรุกเทวดา (เทวดาไม้ทองกวาว) ครั้งนั้น มีพราหมณ์ยากจนเข็ญใจผู้หนึ่ง เห็นคนทั้งหลายผู้ถือมงคลเทวดา ต่างพากันทำพลีกรรมบูชาเทวดากัน ก็ใคร่จะปรนนิบัติบูชาเทวดาสักตนหนึ่ง บ้าง จึงไปที่ต้นทองกวาวใหญ่ต้นหนึ่ง ปรับพื้นที่โคนต้นให้เรียบ ถางหญ้า ล้อมรั้ว เกลี่ยทราย บูชาด้วยดอกไม้ของหอมทั้งหลาย จุดประทีปตั้งไว้ กล่าวว่า ขอท่านจงอยู่อย่างเป็นสุขเถิด ดังนี้ แล้วก็หลีกไป ในวันที่ ๒ ก็มาถามถึงการอยู่อย่างเป็นสุขกับต้นทองกวาว เทวดาแปลงเพศเป็นพราหมณ์แก่เฒ่า เข้าไปถามว่า ดูก่อน พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ เธอผู้ปรารภความเพียร ไม่ประมาท อยู่เป็นนิจ รู้อยู่ ก็ยังถามถึงการอยู่เป็นสุขกับต้นไม้ ซึ่งหาเจตนาไม่ได้ ฟังไม่ได้ ไม่รู้อยู่ เมื่อพราหมณ์เข็ญใจตอบว่า มาทำการนอบน้อมต่อต้นไม้อยู่อย่างนี้ เพราะเห็นแก่ทรัพย์ ดังนี้ แล้วก็คืนร่างเป็นเทวดา แล้วก็บอกที่ฝังขุมทรัพย์แก่พราหมณ์

ส่วนคาถาที่ ๒ ปรากฏอยู่ใน ผันทนชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่พระศาสดาตรัสปรารภการทะเลาะกันแห่งองค์พระญาติที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี มีใจความย่อว่า ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ช่างไม้คนหนึ่ง แบกขวานเข้าป่าไปตัดต้นไม้ทำรถขายเลี้ยงชีพ ในป่านั้นมีต้นตะคร้อใหญ่ขึ้นยืนต้นอยู่ต้นหนึ่ง ให้ต้นเป็นที่อาศัยนอนพักของหมีตัวหนึ่ง วันหนึ่ง มีกิ่งไม้หักตกลงมาเพราะลมที่พัดกระทบ กิ่งไม้ทิ่มแทงคอหมีที่นอนอยู่ภายใต้ต้นหน่อยหนึ่ง หมีตื่นตกใจพรวดพลาดลุกหนีไป โกรธผูกอาฆาตต้นสะคร้อว่าไม่ชอบใจตนที่มาอาศัยนอนพักอยู่ใต้ต้น แล้วจงใจทำร้ายจึงใคร่จะโค่นเสีย ครั้นเห็นว่าพราหมณ์ช่างไม้เที่ยวแสวงหาไม้ทำกงล้อรถอยู่ในป่า ก็เข้าไปกล่าวเป็นภาษามนุษย์ว่า ตนพบเห็นต้นไม้ที่เหมาะแก่การทำเป็นกงล้อได้เป็นอย่างดียิ่งอยู่ต้นหนึ่ง เมื่อช่างไม้แสดงความอยากได้ ก็พาช่างไม้ผู้นั้นไปชี้ให้ดูไม้สะคร้อต้นนั้น แล้วหลีกไป เทวดาที่สิงสถิตย์อยู่ที่ต้นสะคร้อนี้ ครั้นทราบความข้อนี้แล้วก็โกรธ ใคร่จะกระทำตอบแทนแก่หมีตัวนั้น จึงแปลงเป็นมนุษย์ท่าทางอย่างคนทำการงานในป่าผู้หนึ่ง เข้าไปหาช่างไม้ แสร้งถามความประสงค์ แนะนำช่างไม้ผู้นั้นว่า ถ้าจะให้กงล้อที่ทำด้วยไม้สะคร้อนั้นแข็งแรงดี ขายได้ราคาดี ก็ควรจะได้หนังหมีมาทำเป็นสายรัดโดยรอบ เมื่อช่างไม้เห็นคล้อยตาม และถามว่า จะหาหนังหมีนั้นได้แต่ไหน เทวดาแปลงก็บอกว่า ผู้ใดบอกท่านว่าต้นสะคร้ออยู่ที่ไหน หมีก็อาศัยนอนพักอยู่ใต้ต้นสะคร้อต้นที่ผู้นั้นบอกนั้นนั่นแหละ ช่างไม้ทราบดังนั้นแล้ว ก็รอโอกาสอยู่ ต่อมาเมื่อหมีตัวนั้นเข้าไปพักอาศัยใต้ต้นสะคร้อนั้นอีก ก็เข้าไปฆ่าหมีตาย ตามวิธีที่เทวดาแปลงคอยแนะนำ ถลกหนังไว้ แล้วใช้ขวานโค่นต้นสะคร้อ.  สวนพระคาถาว่า “อิติ ผนฺทนรุกฺโขปี” เป็นต้นนั้น เป็นคำที่เทวดากล่าวกับพราหมณ์ช่างไม้ เรียกตามโดยโคตรว่า “ภารทวาชะ”.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ ปิณฑปาตมหัปผลปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระเถระผู้ทำสังคายนาพระธรรม ได้กล่าวคำนี้ว่า      “จุนฺทสฺส  ภตฺตํ  ภุญฺชิตฺวา,  กมฺมารสฺสาติ  เม  สุตํ  อาพาธํ  สมฺผุสี  ธีโร,  ปพาฬฺหํ  มรณนฺติกํ” (ที.มหา. ๑๐/๑๔๙) ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นปราชญ์เสวยพระกระยาหาร ของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็ทรงเกิดอาพาธหนักจวนเจียนมรณะ ดังนี้   แต่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้เป็นอีกอย่างหนึ่งว่า  

"เทฺวเม    อานนฺท    ปิณฺฑปาตา   สมสมผลา   สมวิปากา   ฯเปฯ   อญฺเญหิ  ปิณฺฑปาเตหิ   มหปฺผลตโร  จ  มหานิสํสตโร”  (ที.มหา. ๑๐/๑๕๘)  นี่แน่ะอานนท์ บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้ มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก บิณฑบาต ๒ อย่างอะไรบ้าง ? ได้แก่ บิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างหนึ่ง บิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อย่างหนึ่ง บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้ มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก ดังนี้  พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารของนายจุนทะแล้ว พระอาพาธที่แรงกล้าก็เกิดขึ้น และพระเวทนาสาหัสจวนเจียนมรณะก็เป็นไป จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำตรัสที่ว่า นี่แน่ะอานนท์ บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าบิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกายาหารของนายจุนทะแล้ว พระอาพาธที่แรงกล้าก็เกิดขึ้นและพระเวทนาสาหัสจนเจียนมรณะก็เป็นไป ดังนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง พระคุณเจ้านาคเสน บิณฑบาตนั้น เมื่อถึงความเป็นยาพิษไป จะมีผลมากได้หรือหนอ เมื่อทำให้เกิดโรค จะมีผลมากได้หรือหนอ เมื่อทำอายุให้พินาศ จะมีผลมากได้หรือหนอ เมื่อคร่าพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาค จะมีผลมากได้หรือหนอ เพื่อเป็นการข่มปรวาทะ ขอท่านจงกล่าวถึงเหตุผลในข้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ในเรื่องนี้ยังมีคนหลงเข้าใจว่า โรคถ่ายเป็นเลือด เกิดขึ้นเพราะพระกระยาหารที่สวยมากเกินไป ด้วยอำนาจแห่งความอยาก ปัญหาแม้นี้ก็มี ๒ เงื่อนตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงที่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระเถระผู้ทำการสังคายนาพระธรรม ได้กล่าวข้อความนี้ไว้ว่า  “ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นปราชญ์เสวยพระกระยาหารของนายจุนทะกัมมารบุตร แล้วก็ทรงเกิดพระอาพาธหนัก จวนเจียนมรณะ”  ดังนี้จริง และพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสความข้อนี้ว่า นี่แน่ะอานนท์ บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้ มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก บิณฑบาต ๒ อย่างอะไรบ้าง ? ได้แก่ บิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างหนึ่ง บิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อย่างหนึ่ง บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านี้ มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอื่นนัก ดังนี้ จริง ก็บิณฑบาตนั้นมีคุณมากมีอานิสงส์มากมาย เทวดาทั้งหลายผู้บันเทิง มีใจเลื่อมใสอยู่ คิดว่า บิณฑบาตครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายสำหรับพระผู้มีพระภาค ดังนี้ จึงโปรยปรายโอชะอันเป็นทิพย์ลงบนสูกรมัททวะ ซึ่งเป็นเหตุให้สูกรมัททวะสุกเสมอกัน ย่อมง่าย มีรสมากน่าชื่นใจ เกื้อกูลแก่ไฟธาตุย่อยอาหาร ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ โรคอะไรๆ ที่ยังไม่เกิด ก็เป็นอันเกิดแก่พระผู้มีพระภาคมิได้ ขอถวายพระพร เมื่อพระสรีรตามปกติของพระผู้มีพระภาค มีอันทราม กำลังไป มีอันสิ้นอายุสังขารไป โรคที่เกิดอยู่แล้ว ก็ยิ่งกำเริบขึ้น

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ไฟที่กำลังลุกโพลงอยู่ตามปกติ เมื่อป้อนเชื้ออื่นเข้าไป ก็ยิ่งลุกโพลงขึ้น ฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อพระสรีระตามปกติของพระผู้มีพระภาคมีอันทรามกำลังไป มีอันสิ้นอายุสังขารไป โรคที่เกิดอยู่แล้ว ก็ยิ่งกำเริบขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า กระแสน้ำที่ไหลไปตามปกติ เมื่อมีฝนห่าใหญ่ตกลงมา ก็กลายเป็นห้วงน้ำใหญ่ ไหลเชี่ยวกรากไป ฉันใด เมื่อสรีระตามปกติของพระผู้มีพระภาค มีอันทรามกำลังไป มีอันสิ้นอายุสังขารไป โรคที่เกิดอยู่แล้ว ก็ยิ่งกำเริบขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร หามีความผิดอะไรๆ ในบิณฑบาตนั้นไม่ และใครๆ ก็ไม่อาจจะยกความผิดให้แก่บิณฑบาตนั้นได้

พระเจ้่ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไรบิณฑบาตร ๒ อย่างนั้นจึงมีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอย่างอื่นนัก เล่า ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านั้น มีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอย่างอื่นนัก ก็ด้วยอำนาจแห่งการเข้าสมาบัติที่มีการตามพิจารณาธรรม.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านั้นมีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอย่างอื่นนัก ด้วยอำนาจแห่งการเข้าสมาบัติที่มีการตามพิจารณาธรรมเหล่าไหนบ้าง ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร บิณฑบาต ๒ อย่างเหล่านั้นมีผลเท่าๆกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตรอย่างอื่นนัก ด้วยอำนาจแห่งการเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ (สมาบัติอันเป็นวิหารธรรมที่ต้องเข้าตามลำดับ) ๙ อย่างทั้งโดยอนุโลมทั้งโดยปฏิโลม.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ อย่างเป็น อนุโลมและปฏิโลม ในเวลาเพียง ๒ วันเต็มเท่านั้นหรือ ?  พระนาคเสน, ใช่ขอถวายพระพร

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน น่าอัศจรรย์เสียจริง น่าแปลกใจเสียจริงที่อสทิสทาน (ทานที่หาทานอื่นเสมอเหมือนไม่ได้) ที่ยอดเยี่ยมในพุทธเขตนี้ ก็ยังนับเทียบกับบิณฑบาต ๒ อย่างนี้ไม่ได้ น่าอัศจรรย์เสียจริง น่าแปลกใจเสียจริงนะ พระคุณเจ้านาคเสน ตราบเท่าที่อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ อย่างเป็นของยิ่งใหญ่ ทานย่อมเป็นของมีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า ก็ด้วยอำนาจแห่งอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ อย่างนั้น ดีจริงๆ พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.  จบปิณฑปาตมหัปผลปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับความมีผลมากแห่งบิณฑบาต ชื่อว่า ปิณฑปาตมหัปผลปัญหา ในอรรถกถาเป็น ทวินนัง ปิณฑปาตานัง มหัปผลภาวปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นสิ่งมีผลมากแห่งบิณฑบาต ๒ อย่าง.  ในมหาปรินิพพานสูตร กล่าวเหตุการณ์ใกล้กาลเสด็จดับขันปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคไว้ อย่างนี้ว่า เมื่อคราวที่พระผู้มีพระภาคเสด็จหนทางไกลจากเมืองเวสาลี สู่เมืองกุสินาราเพื่อดับขันธปรินิพพานนั้น ในระหว่างทาง เมื่อเสด็จถึงเมืองปาวา ก็ได้ประทับที่สวนอัมพวันของ นายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะทราบข่าว ก็เข้ามาเฝ้า ได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดความอาจหาญ บันเทิงในธรรม ได้ทูลนิมนต์พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น ในการนี้ นายจุนทะ ได้ตระเตรียมเครื่องเสวย ชื่อว่าสูกรมัททวะ ไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคโดยเฉพาะ ก็คำว่าสูกรมัททวะนี้ อรรถกถาแห่งสูตรนี้ได้อธิบายไว้อย่างนี้ว่า

คำว่า สูกรมัททวะ ได้แก่ เนื้อสุกรโทนที่ไวไม่อ่อนเกินไป ไม่แก่เกินไป เป็นที่ทราบกันว่า เนื้อสุกรที่ว่านั้น เป็นเนื้อที่อ่อนนุ่ม และละเอียด อธิบายว่านายจุนทกัมมารบุตรตระเตรียม คือให้เขาปรุงสูกรมัททวะ นั้นไว้เป็นอย่างดี สวนอาจารย์อีกพวกหนึ่ง กล่าวว่า คำว่า สูกรมัททวะ นี้ เป็นชื่อของวิธีปรุงน้ำต้ม (น้ำซุป) ที่ประกอบด้วยโครส ๕ อย่างมีนมสดเป็นต้น สำหรับข้าวสุกที่อ่อนนุ่ม อีกพวกหนึ่ง กล่าวว่า ภัตอันมีวิธีปรุงรสอันมาในคัมภีร์ สายนเวท ชื่อว่า สูกรมัททวะ ดังนี้ นายจุนทกัมมารบุตรได้เตรียมสูกรมัททวะนั้นไว้ เพราะคิดว่า พระผู้มีพระภาคอาจจะไม่มีการปรินิพพาน ก็เทวดาทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ พร้อมทั้งทวีปบริวาร ๒,๐๐๐ ได้โปรยปรายทิพยโอชะลงไป บนสูกรมัททวะนั้น ดังนี้.  ก็สูกรมัททวะนั้น นายจุนทกัมมารบุตร ได้แต่เตรียมไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระอาพาธหนักโดยเฉพาะ จึงเป็นภัตที่ไม่เหมาะสมแก่การที่ภิกษุอื่นจะพึงฉัน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า 

 “ยนฺเต  จุนฺท  สูดรมทฺทวํ  ฯเปฯ  เตน  ภิกฺขุ  สงฺฆํ  ปริวิส” (ที.มหา. ๑๐/๑๔๘) ดูก่อน ท่านจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสูกรมัททวะที่ท่านเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้ ดังนี้

คำว่าบิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้แก่ ข้าวมธุปายาส ที่นางสุชาดาน้อมเข้าไปทูลถวายพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเลิกล้มการบำเพ็ญทุกรกริยาใหม่ๆ ซึ่งพอพระองค์ได้เสวยแล้ว ก็เป็นเหตุให้พระวรกายของพระองค์กะปรี้กระเปร่า ช่วยให้ทรงปรารภความเพียรได้ด้วยดี จนกระทั่งได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.  คำว่า บิณฑบาตที่ตถาคตได้บริโภคแล้วก็ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ บิณฑบาต คือ สูกรมัททวะ ของนายจุนทกัมมารบุตรนั่นแหละ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้เสวยแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดพละกำลัง พระอาพาธทุเลาลงไปบ้าง เพราะเวทนาที่แรงกล้าลดน้อยถอยลงไปบ้าง จนพระองค์ทรงสามารถเสด็จเดินทางไปถึงเมืองกุสินาราได้ แล้วเสด็จดับขันปรินิพพานที่เมืองนั้นด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อันเป็นพระนิพพานธาตุที่ไม่มีขันธ์เหลืออยู่ คือสงบระงับขันที่จะพึงเกิดในภพใหม่

แม้พระอานนท์เถระจะกล่าวไว้อย่างนี้ว่า  “อถ โข ภควโต จุนฺทสฺส ฯเปฯ มรณนฺติกา" (ที.มหา. ๑๐/๑๔๘) ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้วก็ทรงเกิดพระอาพาธ เวทนาแรงกล้าที่เกิดแต่โรคลงพระโลหิตก็เป็นไปจวนเจียนมรณะ ดังนี้ก็ตาม พระอานนท์ก็มิได้หมายความว่า สูกรมัททวะที่นายจุนทะทูลถวายนั้น เป็นเหตุให้ทรงเกิดอาพาธหนัก เกิดโรคลงพระโลหิต ทำให้พระองค์ต้องเสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุด ท่านเพียงแต่หมายความว่า เมื่อได้เสวยอาหารของนายจุนทะแล้ว พระอาพาธที่ทรงมีอยู่ก่อน เกิดกำเริบขึ้นมา แทบว่าจะทรงดับขันธปรินิพพานเพราะเหตุที่เสวยเข้าไปใหม่ๆ เท่านั้น ถึงอย่างไรอาหารนี้ก็ช่วยพระองค์ทรงมีพระกำลังวรกายเสด็จดำเนินไปจนถึงเมืองกุสินาราได้.  

คำว่าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ อย่าง คือสมาบัติอันเป็นวิหาร (ธรรมที่เป็นอยู่) ที่พึงเข้าตามลำดับ ๙ อย่างได้แก่ รูปฌานสมาบัติ ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น อรูปฌานสมาบัติ ๔ มีอากาสานัญจายตนะเป็นต้น สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ๑.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาที่ ๗ พุทธปูชนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อพฺยาวฏา  ตุมฺเห  อานนฺท  โหถ ตถาคตสฺส  สรีรปูชาย” (ที.มหา. ๑๐/๑๖๔)  นี่แน่ะ อานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ แต่ตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งว่า  “ปูเชถ  นํ  ปูชนิยสฺส  ธาตุํ,  เอวํ  หิ  สคฺคมิโต คมิสฺสถ” (ขุ.วิ. ๒๖/๑๕๒)  ขอท่านทั้งหลาย จงบูชาพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ควรบูชานั้นเถิด เพราะว่าพวกท่านทำอย่างนี้ ละจากโลกนี้แล้วก็จะไปสวรรค์ ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี่แน่ะอานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ขอท่านทั้งหลาย จงบูชาพระธาตุ ของพระผู้มีพระภาคผู้ควรบูชานั้นเถิด เพราะว่าพวกท่านทำอย่างนี้ ละจากโลกนี้แล้วก็จะไปสวรรค์ ดังนี้ ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสว่า ขอท่านทั้งหลาย จงบูชาพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ควรบูชาเถิด เพราะว่าพวกท่านทำอย่างนี้ ละจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปสวรรค์ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า นี่แน่ะอานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ ก็ไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด


พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า นี่แน่ะอานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ จริง และตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งว่า ขอท่านทั้งหลาย จงบูชาพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ควรบูชานั้นเถิด เพราะว่าพวกท่านทำอย่างนี้ ละจากโลกนี้แล้วก็จะไปสวรรค์ ดังนี้ จริง ก็แต่ว่า คำว่า นี่แน่ะอานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ นั้น ตรัสปรารภพระภิกษุที่เป็นชินบุตรเท่านั้น ไม่ใช่คนทุกจำพวก ขอถวายพระพร การบูชาอย่างนี้นั้น ไม่ใช่การงานของพระภิกษุผู้เป็นชินบุตร การพิจารณาสังขาร โยนิโสมนสิการ การตามพิจารณาในสติปัฏฐาน การถือเอาแต่แก่นอารมณ์ การรบกับกิเลส การบำเพ็ญประโยชน์ตน ข้อนี้ต่างหาก เป็นกิจที่ภิกษุผู้เป็นชินบุตรทั้งหลายพึงทำการบูชา เป็นกิจที่พวกมนุษย์และเทวดาที่เหลือพึงทำ

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า การศึกษาเรื่องช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ เลข การคํานวณ และพระขรรค์ เวทมนตร์ กฎหมาย การรบ การจัดแจงทัพ เป็นกิจที่พวกโอรสของพระราชาพึงทำ การไถนา การค้าขาย การเลี้ยงโค เป็นกิจที่พวกเวศย์และศูทรมากมายที่เหลือทั้งหลายพึงทำ ฉันใด ขอถวายพระพร การบูชานี้ ไม่ใช่การงานของภิกษุผู้เป็นชินบุตรทั้งหลาย การพิจารณาสังขาร โยนิโสมนสิการ การตามพิจารณาในสติปัฏฐาน การถือเอาแต่แก่นอารมณ์ การรบกับกิเลส การบำเพ็ญประโยชน์ตน ข้อนี้ต่างหาก เป็นกิจที่ภิกษุผู้เป็นชินบุตรทั้งหลายพึงทำ ส่วนการบูชา เป็นกิจที่พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่เหลือพึงทำ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พวกคัมภีร์พระเวททั้งหลาย คือ อิรุเวท ยชุเวท สามเวท อาถัพพณเวท คัมภีร์ลักขณะ คัมภีร์อิติหาสะ คัมภีร์ปุราณะ คัมภีร์นิคัณฑุ คัมภีร์เกฏพะ ฯลฯ เป็นของที่พวกพราหมณ์มานพทั้งหลายพึงทำการศึกษา การไถนา การค้าขาย การเลี้ยงโค เป็นกิจที่พวกเวศย์และศูทรมากมายที่เหลือพึงทำ ฉันใด ขอถวายพระพร การบูชานี้ ไม่ใช่การงานของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นชินบุตร การพิจารณาสังขาร โยนิโสมนสิการ การตามพิจารณาในสติปัฏฐาน การถือเอาแต่แก่นอารมณ์ การรบกับกิเลส การบำเพ็ญประโยชน์ตน ข้อนี้ต่างหาก เป็นกิจที่ภิกษุผู้เป็นชินบุตรทั้งหลายพึงทำ ส่วนการบูชา เป็นกิจที่พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่เหลือพึงทำ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ว่า พวกเธอจงอย่าประกอบในการงานที่ไม่สมควรเหล่านี้ จงประกอบแต่ในการงานที่สมควรเหล่านี้เท่านั้นเถิด และว่า นี่แน่ อานนท์ ขอพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการบูชาสรีระของตถาคตเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร พระตถาคตจะไม่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้บาตรและจีวรของตน ก็พึงสละ กระทำการบูชาพระพุทธเจ้าเถิด ดังนี้ เลยเทียว.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบพุทธปูชนปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธปูชนปัญหา.   คำว่า พระธาตุ ได้แก่พระอัฏฐิธาตุ.   คำว่า การบูชาเป็นกิจที่พวกมนุษย์และเทวดาที่เหลือพึงทำ ความว่า การบูชา มีการกราบไหว้ การตั้งดอกไม้ของหอมประทีป เป็นต้น เป็นกิจที่บุคคลที่เหลือ กล่าวคือมนุษย์และเทวดา ผู้มิใช่สมณะศากยบุตรพึงทำ คือพึงขวนขวาย เพราะเหตุไร เพราะบุคคลเหล่านี้โดยมากปรารถนาความสุขในมนุษย์สมบัติบ้าง ในสวรรค์สมบัติบ้าง ไม่ได้ปรารถนาพระนิพพานเหมือนอย่างภิกษุผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ ผู้บวชด้วยศรัทธาทั้งหลาย.  คำว่า การถือเอาแต่แก่นอารมณ์ ความว่า อารมณ์ที่มีจริงเป็นจริงโดยสภาวะ ปลอดพ้นจากสมมุติว่าสัตว์ บุคคล หญิง ชาย อัตตา สิ่งที่เนื่องกับอัตตา อันได้แก่ ขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งหลาย ชื่อว่า แก่นอารมณ์ พระภิกษุผู้เป็นชินบุตร ย่อมขวนขวายในการถือเอาแก่นอารมณ์นั้นด้วยญาณมีอรรถาธิบายว่า ย่อมขวนขวายในอันทำญาณรอบรู้ขันธ์เป็นต้นนั้น ให้เกิดขึ้น.  คำว่า จงอย่าประกอบในการงานที่ไม่สมควร คือจงอย่าประกอบในกิจทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลแก่การละกิเลส และในอีกทั้งหลายที่เกื้อกูลแก่กิเลส.  คำว่า จงประกอบแต่ในการงานที่สมควรเหล่านี้เท่านั้น คือจงประกอบแต่ในกิจที่เกื้อกูลแก่การละกิเลส และในกิจทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลแก่กิเลส เหล่านี้ คือการพิจารณาสังขารเป็นต้น นี้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๐

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: