วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กระแสปฏิจจสมุปบาท คือ ตัวชีวิต เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นพระพุทธเจ้า

กระแสปฏิจจสมุปบาท คือ ตัวชีวิต เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นพระพุทธเจ้า

ปฏิจจสมุปบาท” นั่นแหละ คือเรื่อง ตัวชีวิต ตัวเรา แล้วก็ถูกให้ความหมายผิดๆว่า “ตัวกู ตัวกู” แต่ที่ถูกนั้นไม่ใช่ตัวกู เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ.

ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ คือ ธาตุทั้ง ๖ มันทำให้เกิดอัตตภาพร่างกายนี้ขึ้นมา แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งกระแสของปฏิจจสมุปบาท ตามกฎของธรรมชาติ ถ้ารู้จักตัวเองหรืออัตตภาพของตัวเองเพียงเท่านี้ก็จะดับทุกข์ได้ เป็นความจริงที่ลึกซึ้ง เพราะว่าเมื่อเห็นความจริงข้อนี้แล้วมันดับทุกข์ได้.

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาท นั่นคือการเห็นธรรม ธรรมะ 

การเห็นธรรมะ คือ การเห็นเราตถาคต   เห็นเราตถาคต คือ เห็นธรรม  เห็นธรรม คือ เห็นเราตถาคต ต้องเห็นปฏิจจสมุปบาท คือ การเห็นธรรม

เพราะฉะนั้น การเห็นปฏิจจสมุปบาท คือการเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ จำประโยคนี้ไว้ มีประโยชน์มาก 

พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่า ไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองทุกคน ทุกคนเอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่

เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่างที่ท่านตรัสว่า “เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นธรรม” เห็นธรรม คือเห็นเราตถาคต ฉะนั้น จงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ...”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาทที่ควรศึกษา” บรรยายเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ 

“เราจะต้องเห็นพระพุทธเจ้าให้ตรง ตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ อย่างที่ตรัสว่า :-  “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม; ผู้ที่ไม่เห็นธรรม ไม่ได้ชื่อว่าเห็นเรา แม้แต่ผู้นั้นจะจับจีวรของเราอยู่”    แล้วยังมีตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท” 

เมื่อเอาพระพุทธภาษิตทั้งสองแห่งนี้มาต่อกันเข้า มันก็จะได้ความว่า “ผู้ที่เห็นธรรม คือ เห็นปฏิจจสมุปบาท; นั่นแหละคือ ผู้ที่เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง.”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “พุทธจริยา” หน้า ๔

“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท”  ( ม. มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙ )

“ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุจับชายผ้าสังฆาฏิแล้วเดินตามรอยเท้าเรา ติดตามไปข้างหลัง แต่ภิกษุนั้นมีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้ว ภิกษุนั้นก็ยังชื่อว่าอยู่ห่างไกลเรา เราก็ห่างไกลภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นยังไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ชื่อว่าไม่เห็นเรา

ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุอยู่ไกลเราถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่ภิกษุนั้นไม่มีความละโมบ ไม่กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตไม่พยาบาท ไม่คิดประทุษร้าย มีสติตั้งมั่น มีความรู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้วภิกษุนั้นก็ชื่อว่าอยู่ใกล้เรา เราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ชื่อว่าเห็นเรา”

สังฆาฏิกัณณสูตร,  พระไตรปิฎกภาษาไทย (มจร.)  ขุ. อิติ. เล่มที่ ๒๕ / ข้อ ๙๒ / หน้า ๔๖๕

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: