วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องการปฏิบัติบูชา

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องการปฏิบัติบูชา พูดง่ายๆว่าทรง “ให้ยกย่องคนดี”

ในการบูชา ๒ อย่างนั้น (อามิสบูชา ๑ กับ ปฏิบัติบูชา ๑) ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชา โดยเฉพาะพระสงฆ์ ไม่ทรงประสงค์ให้ยุ่งกับอามิสบูชาเลย แต่ทรงสอนให้ใส่ใจในปฏิบัติบูชา 

แม้ในฝ่ายคฤหัสถ์ชาวบ้าน ที่ยังเกี่ยวข้องกับอามิสบูชามากหน่อย ก็ต้องทราบว่า  คุณค่าที่แท้ของอามิสบูชาก็อยู่ที่มาเป็นตัวหนุนให้แก่ปฏิบัติบูชา เพื่อให้เกิดผลแก่ชีวิตที่เป็นจริง.  ปฏิบัติบูชา ก็คือ “ธรรมบูชา” นั่นเอง เมื่อเราบูชาด้วยการปฏิบัติ ก็คือเราเอาธรรมมาปฏิบัติ เมื่อเราเอาธรรมมาปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าเราบูชาธรรม คือ เชิดชูธรรม ให้ความสำคัญแก่ธรรม

การบูชาธรรม หรือ เชิดชูธรรมนี้ มิใช่มีผลต่อชีวิตของบุคคลเท่านั้น แต่มีความหมายอย่างยิ่งต่อสังคมทั้งหมดด้วย เพราะธรรมเป็นหลักที่จะดำรงรักษาชีวิตและสังคมไว้ให้มั่นคงอยู่ในความดีงามมีความสุขความเจริญ.   ธรรมนั้นปรากฏขึ้นในตัวของคนที่ปฏิบัติหรือนำเอาธรรมมาใช้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงยกย่องปฏิบัติบูชาคือธรรมบูชา จึงตรัสสอนให้หมู่มนุษย์หันมายกย่องเชิดชูคนที่ประพฤติธรรมหรือคนที่มีความดี พูดง่ายๆว่าให้ยกย่องคนดี

เมื่อสังคมมนุษย์ยกย่องเชิดชูคนดี ก็คือยกย่องเชิดชูธรรม ถ้าหมู่มนุษย์ยังเชิดชูธรรมด้วยการยกย่องคนดี ธรรมก็จะคงอยู่เป็นหลักที่จะรักษาสังคมนั้นให้ร่มเย็นเป็นสุขต่อไป.  เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมให้บูชาสถูปเจดีย์ ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคนดีมีคุณที่เคยทำประโยชน์ไว้ จะได้โยงจิตใจของผู้บูชาให้ระลึกถึงธรรม ให้ใจคนหันมาสู่ความดีงาม และจะได้ไม่ประมาท ที่จะนำเอาธรรมมาปฏิบัติด้วยตนเอง...

สถูปเจดีย์ที่เป็นวัตถุมีความหมายก็เพราะเป็นตัวแทนแก่คน จุดที่ทรงเน้นก็คือการยกย่องเชิดชูคนดีมีธรรม มีชีวิตอยู่หรือเคยเป็นอยู่ในสังคม ดังนั้น จึงมีพุทธพจน์ไว้สำหรับเตือนกันว่า…

(มีภาษาบาลี..แต่ไม่ได้ยกเอามาพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประหยัดเนื้อที่) แปลว่า “ถึงแม้ผู้ใดจะประกอบพิธีบูชา โดยใช้ทรัพย์จำนวนพันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ตลอดเวลาร้อยปี ก็มีค่าไม่เท่ากับที่จะบูชา(ยกย่องเชิดชู)บุคคลผู้ฝึกอบรมพัฒนาตนแล้วคนหนึ่งแม้เพียงครู่เดียว การบูชา(ยกย่องเชิดชู)คนที่พัฒนาตนแล้วนั่นแหละประเสริฐกว่า การเซ่นสรวงบูชาร้อยปีจะมีคุณค่าอะไร” (ขุ. ธ. ๒๕/๑๕/๒๙)”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: