วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

บุญเปรียบเสมือนแก้วมณีโชติรส หรือแก้วสารพัดนึก

บุญเปรียบเสมือนแก้วมณีโชติรส หรือแก้วสารพัดนึก

ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวเรื่องของพระเจ้าจัณฑปัชโชตผู้ครองเมืองอุชเชนีในสมัยพุทธกาลไว้ว่า  พระองค์ทรงมีพระราชพาหนะ ๕ อย่างคือ

๑. ช้างพังชื่อว่าภัททวดีไปได้วันละ ๕๐ โยชน์

๒. ทาสชื่อว่ากากะไปได้วันละ ๖๐ โยชน์

๓. ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิและม้ามุญชเกสิ วิ่งไปได้วันละ ๑๐๐ โยชน์

๔. ช้างพลายชื่อว่านาฬาคิรีไปได้วันละ ๑๒๐ โยชน์

พระราชพาหนะทั้ง ๕ เหล่านี้บังเกิดด้วยผลบุญของพระองค์ ได้ยินว่าบุพกรรมคือกรรมเก่าของพระองค์นั้น ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ทรงเป็นคนรับใช้ของอิสรชนคนหนึ่ง ในวันหนึ่งอิสรชนผู้นั้นไปนอกพระนครได้พบกับพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต แต่ก็มิได้ภิกษาเลย กำลังเสด็จกลับด้วยบาตรเปล่า ท่านถามและขอดูบาตรเห็นบาตรเปล่าก็อยากจะถวายทาน แต่ก็ไม่อาจรับบาตรได้ เพราะยังไม่รู้ว่า “ภัตรในเรือนของตนเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ” จึงกล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรอหน่อย" แล้วก็รีบไปสู่เรือนโดยเร็วถามว่า  "ภัตรสำหรับเราเสร็จแล้วหรือยัง" เมื่อคนรับใช้ตอบว่า "เสร็จแล้ว" จึงกล่าวกะคนรับใช้นั้นว่า "พ่อ คนอื่นที่วิ่งได้เร็วกว่าเจ้าไม่มี เจ้าจงไปรับบาตรมาโดยเร็ว"

เขาวิ่งไปด้วยคำสั่งคำเดียวเท่านั้นแล้วรับบาตรนำมาให้  แม้อิสรชนท่านก็ใส่บาตรจนเต็มด้วยโภชนะของตนแล้วกล่าวว่า "เจ้าจงนำบาตรนี้ไปถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า เราจะให้ส่วนบุญอันเกิดจากทานนี้แก่เจ้า" เขารับบาตรนั้นวิ่งไปโดยเร็ว ถวายบาตรแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วกล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งไปวิ่งมาด้วยฝีเท้าอันเร็วยิ่ง ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้วันละ ๕๐ โยชน์ ๖๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า  อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้วิ่งไปวิ่งมาถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว ด้วยผลแห่งร่างกายที่ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผานี้ ขออำนาจของข้าพเจ้าจงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ในทุกภพทุกชาติ อนึ่ง ส่วนบุญในบิณฑบาตนี้ที่เจ้านายให้แล้วแก่ข้าพเจ้า ด้วยส่วนบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีส่วนได้บรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้ว"

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ทำอนุโมทนาว่า "สิ่งที่ท่านต้องการและปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน  ขอความดำริทั้งปวงจงเต็ม ดังพระจันทร์เต็มดวงในดิถีขึ้น ๑๕ ค่ำ  สิ่งที่ท่านต้องการและปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวงของท่านจงเต็ม ดังแก้วมณีชื่อว่าโชติรส (แก้วสารพัดนึก)"

คนรับใช้นั้นกลับชาติมาเกิดเป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชตปกครองกรุงอุชเชนีและทรงมีพระราชพาหนะทั้ง ๕ นั้น  เพราะฉะนั้น ทำบุญไม่จำเป็นต้องมีเงินเสมอไป ทำด้วยใจที่เลื่อมใสศรัทธาด้วยกำลังกายและกำลังสติปัญญา ทำเต็มกำลังสติปัญญาและความสามารถ ด้วยความอดทนและอ่อนน้อมต่อคุณความดีทั้งปวง บุญนั้นเป็นดังแก้วสารพัดนึก ย่อมอำนวยให้ทั้งโลกิยสมบัติและโลกุตรสมบัติ ดังนี้แล.

สาระธรรมจากธรรมบทภาค ๒ (เรื่องพระนางสามาวดี)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

11/6/64


post written by:

Related Posts

  • "กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ”"กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ” อันมีเนื้อ ความดังนี้คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตน โดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึก… Continue Reading
  • สมณกรณียธรรม ๒๐ ประการสมณกรณียธรรม ๒๐ ประการ1. เสฏฺฐภูมิสโย ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐ (ประกอบด้วยความกรุณาแลความสัตย์  เป็นต้น) 2. อคฺเค นิยโม     นิยมในกิจอันเลิ… Continue Reading
  • กุศล คืออะไร?กุศล คืออะไร?"กุศล" แปลว่า สร้างเหตุให้เกิดสิทธิ เพื่อมีโอกาสได้รับการชี้แนะเกิดปัญญา แล้วนำไปวิเคราะห์พิจารณา แก้ไขปัญหา แก้ทุกข์ต่างๆ ได้.  กุศลนี้ทำให้เ… Continue Reading
  • เรื่อง “ศีล เป็นมหาทาน”เรื่อง “ศีล เป็นมหาทาน” อันมีเนื้อความดังนี้ในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาลทันที เช่น เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชี… Continue Reading
  • "ใจเศร้าหมองกับใจหดหู่" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)"ใจเศร้าหมองกับใจหดหู่"".. "ใจหดหู่" นั้นมันสลดสังเวช แล้วมันคิดถึงตัวของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นแล้วมันหดหู่ลงไป "ส่วนใจเศร้าหมอง" นั้นคิดถึงเรื่องความแก่ ความตา… Continue Reading

0 comments: