[สมัยหนึ่ง พราหมณ์ที่ชื่อชาณุสโสณี ได้อาบน้ำสระผมในวันอุโบสถ นุ่งผ้าโขษมพัสตร์ (ผ้าป่าน) ถือหญ้าคาสดมายืนอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้นจึงถามว่า]
พ: พราหมณ์ วันนี้เป็นวันอะไรของพราหมณ์หรือ ท่านจึงได้อาบน้ำสระผม นุ่งผ้าโขษมพัสตร์ ถือหญ้าคาสดมายืนอยู่ตรงนี้?
ช: พระโคดม วันนี้เป็นวันล้างบาปของพราหมณ์.
พ: พิธีล้างบาปของพราหมณ์ทำกันอย่างไร?
ช: พราหมณ์ทั้งหลายจะอาบน้ำสระผม นุ่งผ้าโขษมพัสตร์คู่ใหม่ ทาพื้นด้วยขี้วัวสด ปูพื้นด้วยหญ้าคาสด นอนอยู่ระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ลุกขึ้นพนมมือ บูชาไฟ 3 ครั้ง แล้วกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายขอล้างบาปกับท่านผู้เจริญ’ จากนั้นเติมไฟให้ลุกโพลงด้วยเนยใส น้ำมัน และเนยข้น เมื่อล่วงคืนนั้นไป ก็เลี้ยงกันด้วยของขบเคี้ยวต่างๆ นี่คือพิธีล้างบาปของเหล่าพราหมณ์.
พ: พิธีล้างบาปของพราหมณ์นั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนพิธีล้างบาปในวินัยของพระอริยะนั้นเป็นอีกอย่าง.
ช: พระโคดม พิธีล้างบาปในวินัยของพระอริยะนั้นเป็นอย่างไร ขอท่านโปรดอธิบายแก่ผมด้วยเถิด.
พ: ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใส่ใจฟังให้ดี เราจะกล่าว. พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นว่าผลของการมีความเห็นที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ คือไม่เข้าใจว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร การไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร และจะดับทุกข์ได้อย่างไร รวมถึงไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงตลอด เกิดดับไม่มีตัวตน) เป็นสิ่งเลวร้ายทั้งในภพปัจจุบันและภพต่อไป เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมจะละมิจฉาทิฏฐิ ล้างบาปจากมิจฉาทิฏฐิ
พิจารณาเห็นว่าผลของการมีความคิดที่ผิด (มิจฉาสังกัปปะ)...วาจาที่ผิด (มิจฉาวาจา)...การประพฤติตัวในทางที่ผิด (มิจฉากัมมันตะ)...การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด (มิจฉาอาชีวะ)...ความเพียรที่ผิด (มิจฉาวายามะ)...การมีสติที่ผิด (มิจฉาสติ)...การมีสมาธิที่ผิด (มิจฉาสมาธิ)...การรู้ที่ผิด (มิจฉาญาณะ)...การหลุดพ้นในแนวทางที่ผิด (มิจฉาวิมุตติ) เป็นสิ่งเลวร้ายทั้งในภพปัจจุบันและภพต่อไป. เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมจะละมิจฉาทิฏฐิ...มิจฉาสังกัปปะ...มิจฉาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...มิจฉาอาชีวะ...มิจฉาวายามะ...มิจฉาสติ...มิจฉาสมาธิ...มิจฉาญาณะ...มิจฉาวิมุตติ. ล้างบาปจากมิจฉาทิฏฐิ...มิจฉาสังกัปปะ...มิจฉาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...มิจฉาอาชีวะ...มิจฉาวายามะ...มิจฉาสติ...มิจฉาสมาธิ...มิจฉาญาณะ...มิจฉาวิมุตติ
พราหมณ์ พิธีล้างบาปในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างนี้แล
ช: ท่านพระโคดม คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ผมขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำผมว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 38 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต ภาค 5 ปัจโจโรหณิวรรค ปฐมปัจโจโรหณีสูตร ข้อ 119), 2559, น.379-381
0 comments: