วิสาสโภชนชาตกํ - ว่าด้วยการไว้วางใจ
"น วิสฺสเส อวิสฺสตฺเถ, วิสฺสตฺเถปิ น วิสฺสเส;
วิสฺสาสา ภยมนฺเวติ, สีหํว มิคมาตุกาติ ฯ
บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน, แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้วก็ไม่ควรไว้วางใจ, ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์ เกิดจากแม่เนื้อฉะนั้น."
วิสสาสโภชนชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภการบริโภคด้วยความวางใจ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า น วิสฺสเส อวิสฺสฏฺเฐ ดังนี้.
ความย่อว่า ในสมัยนั้น พวกภิกษุโดยมากพากันวางใจไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ที่หมู่ญาติถวาย เพราะคิดเสียว่า มารดาของพวกเราถวาย บิดาของพวกเราถวาย พี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาว น้า อา ลุง ป้า ถวาย คนเหล่านี้สมควรจะให้แก่เรา แม้ในเวลาเป็นคฤหัสถ์มาแล้ว ถึงในเวลาเราเป็นภิกษุก็คงเป็นผู้สมควรจะให้ได้
พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้นทรงพระดำริว่า สมควรที่เราจะแสดงพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เรียกประชุมภิกษุแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยทำการบริโภคปัจจัย ๔ แม้ที่พวกญาติพากันถวาย ด้วยว่า พวกภิกษุที่ไม่พิจารณาแล้วบริโภคเมื่อทำกาละ ย่อมไม่พ้นจากอัตภาพแห่งยักษ์และเปรต
ขึ้นชื่อว่าการบริโภคปัจจัย ๔ ที่ไม่พิจารณานี้ เป็นเช่นกับการบริโภคยาพิษ แม้ที่คนคุ้นเคยกันให้แล้วก็ตามแม้ที่คนไม่คุ้นกันให้แล้วก็ตาม ย่อมทำให้ตายได้ทั้งนั้น แม้ในครั้งก่อนสัตว์ทั้งหลายบริโภคยาพิษที่เขาให้ด้วยความพิศวาสถึงความสิ้นชีวิตไปแล้ว“ อันภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก คนเลี้ยงโคของท่านคนหนึ่ง ต้อนฝูงโคเข้าป่า ในสมัยที่ภูมิภาคแออัดไปด้วยข้าวกล้า ตั้งคอกเลี้ยงโคอยู่ในป่านั้นและนำโครสมาให้ท่านเศรษฐีตามเวลา
ก็แลในที่ไม่ห่างคนเลี้ยงโคนั้น สีหะยึดเอาเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อพวกโคซูบผอมไปเพราะหวาดหวั่นต่อสีหะ น้ำนมก็ใส อยู่มาวันหนึ่งคนเลี้ยงโคนำเอานมมาให้ท่านเศรษฐีจึงถามว่า สหายโคบาลเป็นอย่างไรหรือ น้ำนมจึงได้ใส เขาแจ้งเหตุนั้น ท่านเศรษฐีถามว่า "สหาย ก็ความปฏิพัทธ์ในอะไร ๆของสีหะนั้นมีบ้างไหม ?" เขาตอบว่า "มีครับนาย มันติดพันแม่เนื้อตัวหนึ่ง."
ท่านเศรษฐีถามว่า "แกสามารถจะจับแม่เนื้อนั้นได้ไหม ? เขา ตอบว่า พอจะทำได้ครับนายท่านเศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงจับมันให้ได้ เอายาพิษย้อมขนที่ตัว ตั้งแต่หน้าผากของมันขึ้นไปพลาย ๆ ครั้ง ทำให้แห้ง กักไว้สองสามวัน ค่อยปล่อยแม่เนื้อนั้นไป สีหะนั้นจักเลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หาถึงความสิ้นชีวิตเป็นแน่ ทีนั้นเจ้าจงเอาหนังเล็บเขี้ยวและเนื้อของมันมาให้แล้วมอบยาพิษอย่างแรงให้ส่งตัวไป
คนเลี้ยงโควางข่ายจับแม่เนื้อนั้นได้ด้วยอุบายแล้วได้กระทำตามสั่ง สีหะเห็นแม่เนื้อนั้นแล้ว เลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หาอย่างรุนแรง ถึงความสิ้นชีวิต ฝ่ายคนเลี้ยงโค ก็เอาหนังเป็นต้น ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้นแล้วกล่าวว่า "ขึ้นชื่อว่าเสน่หาในพวกอื่นไม่ควรกระทำ สีหะผู้เป็นมฤคราช ถึงจะสมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างนี้ ก็เพราะอาศัยความติดพันด้วยอำนาจกิเลส เลียสรีระของแม่เนื้อ ทำการบริโภคยาพิษ ถึงสิ้นชีวิตไปแล้ว" เมื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน กล่าวคาถานี้ว่า :- „บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน, แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ, ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น.“
ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ ผู้ใดในกาลก่อน เคยเป็นภัยยังไม่เป็นที่มักคุ้นกับตน ไม่พึงวางใจ คือไม่พึงทำความมักคุ้น กับผู้ไม่คุ้นเคยนั้น ผู้ใดแม้ในกาลก่อนจะไม่เคยเป็นภัย เป็นผู้สนิทสนมมักคุ้นอยู่กับตน แม้ในมักคุ้นกันนั้น ก็ไม่ควรวางใจคือไม่พึงทำความสนิทสนมเลยทีเดียว,
กึ การณา - เพราะเหตุไร ? เพราะภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกันได้แก่ ภัยนั่นแหละ ย่อมมาแต่ความคุ้นเคยทั้งในมิตร ทั้งในอมิตร, กถํ - อย่างไร ? เหมือนอย่างภัยของราชสีห์ เกิดแต่แม่เนื้อฉะนั้น คืออย่างเดียวกันกับภัยที่มาถึงกระชั้นชิดประจวบเข้าแก่สีหะ จากสำนักแม่เนื้อที่ตนกระทำความวางใจ ด้วยอำนาจมิตตสันถวะอีกนัยหนึ่งมีอธิบายว่า อย่างเดียวกันกับแม่เนื้อที่ปรารถนาจะมาหา เข้าใกล้สีหะด้วยความพิศวาสดังนี้บ้าง.
พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกัน ด้วยประการฉะนี้ ทำบุญทั้งหลายมีให้ทานเป็นต้นแล้วไปตามยถากรรม. พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า มหาเศรษฐีในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: