มิลินทปัญหา ตอนที่ ๓๙ ปัญหาที่ ๕ พุทธอวิเหฐกปัญหา
การเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น กระทำปาณาติบาตอันเป็นอกุศลธรรม อาจไม่ได้รับผลทางกฎหมายในเวลาปวัตติกาล แต่ในเวลาปฏิสนธิกาล “กรรมที่เคยกระทำ” ผู้กระทำ อบายเป็นที่หวังได้
ปัญหาที่ ๕ พุทธอวิเหฐกปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาค ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า “ปุพฺเพวาหํ มนุสฺสภูโต สมาโน สตฺตานํ อวิเหฐกชาติโก อโหสิ” (ที.ปา. ๑๑/๑๘๔) ในกาลก่อนนั้นเทียว เราเป็นมนุษย์ผู้เกิดมาไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ และยังตรัสไว้อีกว่า “โลมสกสฺสโป นาม อิสิ สมาโน อเนกสเตปาเณ ฆาตยิตฺวา วาชเปยฺยํ มหายญฺญํ ยชิ” (ขุ.ชา. ๒๗/๒๖๐) เราเป็นฤาษีชื่อว่า โลมสกัสสปะ ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชาวาชเปยยมหายัญ ดังนี้
พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ในกาลก่อนนั้นเทียว เราเป็นมนุษย์ผู้เกิดมาไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เราเป็นฤาษีชื่อว่า โลมสกัสสปะ ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชาวาชเปยยมหายัญ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระองค์ผู้เป็น โลมสกัสสปฤาษี ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชา วาชเปยยมหายัญ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ในกาลก่อนนั้นเทียว เราเป็นมนุษย์ผู้เกิดมาไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแต่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ในกาลก่อนนั้นเทียว เราเป็นมนุษย์ผู้เกิดมาไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้จริง และทรงเป็น โลมสกัสสปฤาษี ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชา วาชเปยยมหายัญ จริง แต่ว่า ข้อที่ฆ่าสัตว์หลายร้อยนั้น (เพราะ) ทรงเป็น วิสัญญี (คนเลอะเลือน, คนฟั่นเฟือน) กระทำไปด้วยอำนาจแห่งราคะ หาได้มีเจตนากระทำไปไม่
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ย่อมฆ่าสัตว์ บุคคล ๘ จำพวกอะไรบ้าง ? ได้แก่ – คนกำหนัด ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑, – คนโกรธเคือง ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโทสะ ๑, – คนหลง ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโมหะ ๑, – คนถือตัว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งมานะ ๑, – คนโลภ ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโลภะ ๑, – คนขาดแคลน ย่อมฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ ๑, – คนพาล ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจความสนุกสนาน ๑, – พระราชา ย่อมฆ่าสัตว์โดยเกี่ยวกับเป็นกฎวินัย ๑. พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้แล ย่อมฆ่าสัตว์ พระคุณเจ้านาคเสน ก็เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์ทำการฆ่าสัตว์เป็นปกติ
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระโพธิสัตว์หาได้ทำการฆ่าสัตว์เป็นปกติไม่ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์พึงน้อมใจทำการบูชายันต์ใหญ่ โดยเป็นปกติไซร้ ก็จะไม่ตรัสคาถานี้ว่า
“สสมุทฺทริยายํ มหึ สาครกุณฺฑลํ น อิจฺเฉ สห นินฺทาย เอวํ เสยฺห วิชานหิ” (ขุ.ชา.๒๗/๒๖๐) ดูก่อน ท่านเสยหะ ขอจงรู้ไว้อย่างนี้เถิดว่า บุคคลไม่พึงปรารถนาแผ่นดินอันมีมหาสมุทรแวดล้อมมีสาครเป็นดุจตุ้มหู พร้อมกับการนินทา ดังนี้. ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ทันทีที่ได้เห็นนางจันทวดีราชกัญญา ก็มีจิตฟุ้งซ่าน กำหนัด ถูกความเลอะเลือนครอบงำ วุ่นวาย สับสนไป ได้บูชาวาชเปยยมหายัญ อันเป็นกองโลหิตจากคอของสัตว์มากมายหมู่ใหญ่ที่ถูกฆ่าด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน พลุ่งพล่าน วุ่นวายนั้น
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่านย่อมเหยียบกองไฟที่ลุกโพลงร้อนแรงบ้าง ย่อมจับอสรพิษที่กำลังโกรธบ้าง ย่อมเข้าไปหาช้างตกมันบ้าง ย่อมแล่นลงไปสู่มหาสมุทรกว้างใหญ่มองไม่เห็นฝั่งบ้าง ย่ำบ่อน้ำครำบ้าง ย่างเหยียบแท่นหนามบ้าง พลาดตกไปในเหวบ้าง กินของสกปรกบ้าง เปลือยกายเที่ยวไปตามถนนบ้าง ย่อมกระทำกริยาที่ไม่สมควรอย่างอื่น ๆ หลายอย่างบ้าง ฉันใด ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทันทีที่ได้เห็นนางจันทวดีราชกัญญา ก็มีจิตฟุ้งซ่านกำหนัด ถูกความเลอะเลือนครอบงำ วุ่นวาย สับสนไป ได้บูชา วาชเปยยมหายัญ อันเป็นกองโลหิตจากคอของสัตว์มากมายหมู่ใหญ่ที่ถูกฆ่าด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน พลุ่งพล่าน วุ่นวายนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ขอถวายพระพร บาปที่ผู้มีจิตฟุ้งซ่านทำ ไม่เป็นบาปที่มีโทษมากแม้ในอัตภาพนี้ เช่นเดียวกัน ไม่เป็นบาปที่มีโทษมากแม้โดยการให้วิบากในภายภาคหน้า ขอถวายพระพร อาตมาภาพขอถามว่า คนบ้าบางคนในพระนครนี้ทำผิด พระองค์จะรับสั่งให้ลงโทษเขาหรือไร ? พระยามิลินท์, พระคุณเจ้า จะมีการลงโทษคนบ้าได้กระไรเล่า ข้าพเจ้าจะสั่งให้ตีแล้วไล่เขาไป นี่แหละ เป็นการลงโทษเขาล่ะ
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สำหรับคนบ้า ย่อมไม่มีการลงโทษในเพราะความผิดที่เขาทำ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น โทษแม้ในกรรมที่คนบ้าทำย่อมไม่มี หรือ ย่อมเป็นโทษที่บำบัดได้ ฉันใด ขอถวายพระพร โลมสกัสสปฤาษี ทันทีที่ได้เห็นนางจันทวดีราชกัญญา ก็มีจิตฟุ้งซ่านกำหนัด ถูกความเลอะเลือนครอบงำวุ่นวายสับสนไป ได้บูชา วาชเปยยมหายัญ อันเป็นกองโลหิตจากคอของสัตว์มากมายหมู่ใหญ่ที่ถูกฆ่าด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน พลุ่งพล่าน วุ่นวายนั้น แต่ว่า ในคราวที่ท่านเป็นผู้มีจิตปกติกลับคืน ท่านก็บวชใหม่ ทำอภิญญา ๕ ให้บังเกิดได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ฉันนั้นเหมือนกัน. พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้า นาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบพุทธอวิเหฐกปัญหาที่ ๕
คำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับความที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ ชื่อว่า พุทธอวิเหฐกปัญหา. คำว่า ในกาลก่อนนั่นเทียว เราเกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย คือ ในกาลก่อน สมัยที่เราเป็นพระโพธิสัตว์สั่งสมบารมีอยู่ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย. คำว่า เราเป็นฤาษี ชื่อว่า โลมสกัสสปะ เป็นต้น พระเถระกล่าวหมายเอาคำศัพท์ที่ปรากฏอยู่ใน โลมสกัสสปชาดก ซึ่งเป็นครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมนุษย์ถือเพศเป็นดาบส ชื่อว่า โลมสกัสสปะ ผู้ทำพิธีบูชา วาชเปยยมหายัญ อันประกอบด้วยเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยเนยใสและน้ำผึ้งที่เสกด้วยมนต์ ซึ่งในพิธีนี้ มีการฆ่าสัตว์จำนวนหลายร้อย ใช้ภาชนะรองรับเลือดที่หลั่งจากคอสัตว์เหล่านั้น นำเข้าไปประกอบเป็นเครื่องบูชายันด้วย ก็แต่ว่า เนื้อความอรรถกถาชาดกเรื่องนี้ กล่าวไว้ผิดแปลกไปจากที่กล่าวไว้ในปัญหานี้อยู่บ้าง จะขอยกมาแสดงโดยสังเขปดังต่อไปนี้
ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น โลมสกัสสปฤาษี นั้น ได้เป็นฤาษีที่มีตบะแรงกล้ามาก สามารถทำสถานที่อยู่ของท่านท้าวสักกะให้หวั่นไหวได้ ท่านท้าวสักกะ จอมเทพทรงมีความหวาดหวั่นพระทัย เกรงกลัวตบะของฤาษีนัก ทรงคิดจะกำจัดตบะของฤาษีนี้เสีย จึงเสด็จลงมาในตอนเที่ยงคืน เข้าไปในห้องบรรทมของพระราชาเมืองพาราณสี ทรงปลุกพระราชาให้ทรงตื่นบรรทม ทูลแนะนำว่า ถ้าหากพระราชาทรงต้องการครองราชสมบัติเป็นหนึ่งเดียวในชมพูทวีปไซร้ ก็ขอจงส่งพนักงานไปนิมนต์พระฤาษีมาทำพิธีฆ่าสัตว์บูชายัญเถิด พระองค์จะทรงได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ทรงปรารถนา
พระราชาครั้งทรงได้รับคำแนะนำอย่างนี้แล้ว ก็รับสั่งให้ เสยหะอำมาตย์ ไปนิมนต์พระฤาษีมา ให้แจ้งแก่พระฤาษีว่า ถ้าหากพระฤาษียินดีทำพิธีให้แล้ว พระราชาจะทรงแบ่งแผ่นดินให้ครอบครองเท่าที่ฤาษีต้องการ ท่านดาบสได้สดับแล้วก็ปฏิเสธ กล่าวแก่เสยหะอำมาตย์ว่า ดูก่อนท่าน เสยหะ ขอจงรู้ไว้อย่างนี้เถิดว่า บุคคลไม่พึงปรารถนาแผ่นดินอันมีมหาสมุทรแวดล้อม มีสาครเป็นดุจตุ้มหู พร้อมกับการนินทา (คือได้คำนินทา คือคำตำหนิติเตียนมาด้วยพร้อมกับแผ่นดินนั้นนั่นแหละ ว่า ผู้นี้ได้แผ่นดินมาเพราะการฆ่าสัตว์) ดังนี้เป็นต้น
พระราชาเมื่อไม่ทรงประสบความสำเร็จ ก็ทรงปรึกษาท่านท้าวสักกะผู้เสด็จมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง ทรงทำตามคำทูลแนะนำของท่านท้าวสักกะ รับสั่งให้เสยหะอำมาตย์นำพระราชธิดานามว่า จันทวดี ผู้แต่งตัวประดับด้วยเครื่องประดับเพียบพร้อม สวยงามดุจนางเทพกัญญาไปสู่สำนักของท่านดาบส กล่าวกับท่านดาบสว่า หากดาบสยอมรับทำพิธีบูชายัญแล้วไซร้ พระราชาก็จะพระราชทานพระธิดาองค์นี้ให้ ท่านโลมสกัสสปะเหลือบดูพระธิดาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็เกิดจิตพลุ่งพล่าน สับสนไป งงงันลืมตัวไปด้วยอำนาจแห่งราคะเสน่หา เสื่อมจากฌานไปทันที ยินดีรับคำของเสยหะอำมาตย์ ในวันรุ่งขึ้น ก็ได้เข้าไปในลานพิธีที่เขาจัดเตรียมไว้ เพราะปรารภจะฆ่าสัตว์มากมายที่เตรียมไว้แล้วนั้น ก็ได้ยินเสียงมหาชนกล่าวตำหนิ นินทาว่าท่านดาบสยอมทำบาปเห็นปานฉะนี้ได้ก็เพราะกำลังอำนาจแห่งสตรี เกิดความละอายใจอยู่ เมื่อเงื้อศัสตราขึ้น เพื่อจะตัดคอช้างมงคล ช้างเห็นแล้ว เกินความหวาดหวั่นมรณภัย ก็ส่งเสียงร้องออกมา สัตว์ทั้งหลายมีช้าง ม้าโคเป็นต้น ที่เหลือ พอได้ยินเสียงช้างมงคลร้องขึ้นมาอย่างนั้น ก็กลัวต่อมรณภัยไปตามๆ กัน ส่งเสียงร้องขึ้นมา แม้ชนทั้งหลายก็ร้องอื้ออึง ท่านโลมสกัสสปะ ได้ยินเสียงร้องของสัตว์ของคนทั้งหลายแล้ว ก็ถึงความสลดใจทิ้งศัสตรา กล่าวว่า “กรรมชั่วเช่นนี้ คนอย่างเราไม่ควรทำ”
ถวายพระพรพระราชาว่า “มหาบพิตร เพราะอยากได้พระธิดาจันทวดี อาตมาภาพถูกความอยากครอบงำจึงยอมฆ่าสัตว์ พอทีล่ะ ด้วยศาสตราสำหรับอาตมา อาตมาจะขอใช้ศาสตราคือปัญญาตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก คือศุภนิมิตร (อารมณ์ที่เป็นเหตุให้เห็นว่างาม)”
เมื่อพระราชาตรัสอ้อนวอนอยู่ พระดาบสก็หาความหวั่นไหวมิได้ ประมวลกสิณที่พินาศไปแล้วใหม่ ทำให้บังเกิดขึ้นมาอีก เหินขึ้นไปเบื้องบนอากาศ แสดงธรรมแก่พระราชา ทำลายเครื่องยัญทั้งหมด ขณะที่พระราชาตรัสขอร้องอยู่นั่นเทียว ก็เหาะไปสู่สถานที่อยู่ของตน เจริญพรหมวิหารไปตลอดชีวิต สิ้นอายุขัยแล้ว ก็เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปเบื้องหน้า ฉะนี้แล ที่กล่าวมานี้ เป็นเนื้อความในอรรถกถาชาดกเรื่องนี้ ก็เป็นอันว่า ในอรรถกถาชาดกเรื่องนี้ ไม่ได้กล่าวว่าโลมสกัสสปฤาษีได้ฆ่าสัตว์บูชายัญ. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่ ๖ ฉันทันตโชติปาลารัพภปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้เมื่อความเป็นพญาช้างฉัททันต์ ว่า “วธิสฺสเมตนฺติ ปรามสนฺโต กาสาวมทฺทกฺขิ ธชํ อิสีนํ ทุกฺเขน ผุฏฺฐสฺสทปาทิ สุญฺญา อรหทฺธโช สพฺภิ อวชฺฌรูโป” (ขุ.ชา. ๒๗/๔๙๕) เราพอจับตัวนายพรานได้ ก็คิดว่าจะฆ่ามันเสีย ได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็นธงของฤาษีทั้งหลายแล้ว เราผู้ถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว ก็เกิดความสำคัญว่า ผู้มีธงของพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ไม่สมควรฆ่า ดังนี้ และตรัสไว้อีกว่า
“โชติปาลมาณโว สมาโน กสฺสปํ ภควนฺตํ อรหนฺตํ สมฺมาสมฺพุทฺธํ มุณฺฑกวาเทน สมณกวาเทน อสพฺภาหิ ผรุสาหิ วาจาหิ อโกฺกสิ ปริภาสิ” (ม.ม. ๑๓/๓๔๗) เราเป็นโชติปาลมานพ ได้ด่าว่าบริภาษพระผู้มีพระภาคกัสสปอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคำว่าสมณะหัวโล้น ด้วยวาจาหยาบช้าทั้งหลาย ดังนี้
พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสัตว์เดรัจฉาน ได้บูชายิ่งซึ่งผ้ากาสาวะ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เราเป็นโชติปาลมานพ ได้ด่าว่าบริภาษพระผู้มีพระภาคกัสสปอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคำว่าสมณะหัวโล้น ด้วยวาจาหยาบช้าทั้งหลาย ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า โชติปาลมานพ ได้ด่าว่าบริภาษพระผู้มีพระภาคกัสสปอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคำว่าสมณะหัวโล้น ด้วยวาจาหยาบช้าทั้งหลาย จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ‘พญาช้างฉัททันต์บูชาผ้ากาสาวะ’ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสัตว์เดรัจฉานกำลังเสวยเวทนารุนแรง เผ็ดร้อนทารุณ ก็ยังบูชาผ้ากาสาวะที่นายพรานนุ่งห่มอยู่ได้ไซร้ เพราะเหตุไรพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นมนุษย์มีญาณแก่กล้า เพื่อการตรัสรู้ที่แก่กล้า เห็นพระผู้มีพระภาค กัสสปอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทศพลญาณ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้สูงส่ง มีพระรัศมีรุ่งเรืองแผ่ไปประมาณ ๑ วา ผู้ยอดเยี่ยมสูงสุด นุ่งห่มผ้ากาสาวะที่ทอจากแคว้นกาสีงดงามยอดเยี่ยมแล้ว ก็ยังไม่บูชาเล่า ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อนตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้เมื่อคราวที่ทรงเป็นพญาช้างฉัททันต์ ว่า ‘เราพอจับตัวนายพรานได้ ก็คิดว่าจะฆ่ามันเสีย ฯลฯ เป็นผู้ที่ไม่สมควรฆ่า’ ดังนี้จริง และโชติปาลมานพก็ได้ด่าว่าบริภาษพระผู้มีพระภาคกัสสปอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคำว่าสมณะหัวโล้น ด้วยวาจาหยาบช้าทั้งหลายจริง ก็แต่ว่า ข้อที่โชติปาลมานพด่าว่าบริภาษพระผู้มีพระภาคกัสสปะนั้น เป็นด้วยอํานาจแห่งชาติสกุล
ขอถวายพระพร โชติปาลมานพ เป็นผู้กลับมาเกิดในสกุลที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส มารดาบิดาพี่น้องหญิงพี่น้องชาย พวกทาสหญิงทาสชาย คนรับใช้คนที่เป็นบริวารของโชติปาลมานพนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เทิดทูนพรหม ล้วนแต่เคารพพรหม คนเหล่านี้ล้วนสำคัญว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ดังนี้ แล้วพากันตำหนิรังเกียจพวกนักบวชที่เหลือ โชติปาลมานพก็ฟังแต่คำของคนพวกนั้น พอช่างปั้นหม้อชื่อ ฆฏิการ ร้องเรียกชวนไปเฝ้าพระศาสดา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยการได้พบเห็นสมณะหัวโล้นผู้นั้นเล่า ดังนี้. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ยาอมฤตไปแตะยาพิษเข้า ก็กลายเป็นยาขมไป ฉันใด อนึ่ง น้ำเย็น ลนไฟเข้าก็กลายเป็นน้ำร้อนไป ฉันใด ขอถวายพระพร โชติปาลมานพ เป็นผู้กลับมาเกิดในสกุลที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส เขาเป็นคนมืดบอดไปด้วยอำนาจแห่งสกุล จึงได้ด่าว่าบริภาษพระตถาคตฉันนั้นเหมือนกัน
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า กองไฟใหญ่ลุกโพลงก็มีแสงสว่างดี แต่พอโดนน้ำเข้า แสงสว่างรุ่งเรืองก็ถูกขจัดไปกลายเป็นไม้เย็นท่อนดำๆ ไป เหมือนผลแก่หง่อม หลุดจากขั้วเน่าไป ฉะนั้น ฉันใด ขอถวายพระพร โชติปาลมานพเป็นผู้มีบุญ มีศรัทธา มีแสงสว่างอันไพบูลย์คือญาณ และกลับมาเกิดในสกุลที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส จึงเป็นเหมือนคนมืดบอดไปด้วยอำนาจแห่งสกุล ได้ด่าว่าบริภาษพระตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน แต่พอได้เข้าไปเฝ้า รู้จักพระพุทธคุณแล้ว ก็เหมือนจะกลายเป็นคนรับใช้ไป ได้บวชในพระศาสนาของพระชินวร ทำอภิญญา และสมาบัติทั้งหลาย ให้บังเกิดได้แล้ว ก็ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก. พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบฉันทันตโชติปาลารัพภปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาปรารภพญาช้างฉัททันต์ และโชติปาลมานพ ชื่อว่า ฉันทันตโชติปาลารัพภปัญหา. คำว่า เมื่อคราวเป็นพญาช้างฉัททันต์ เป็นต้น พระเถระกล่าวหมายเอาเรื่องใน ฉัททันตชาดก เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์ ผู้ถูกนายพรานชื่อว่า โสณุตตระ ผู้ทำตามรับสั่งของพระนางสุภัททาเทวีมเหสีของพระราชากรุงพาราณสี ฆ่าถือเอางานมีรัศมีเปล่งออกเป็น ๖ สีไป พญาช้างแม้ว่าสามารถทำร้ายนายพรานได้ ก็ไม่ทำ เพราะพอเห็นผ้ากาสาวะที่พรานใช้คลุมตัวปลอมเป็นเพศบรรพชิต ดุจเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งในบรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีอยู่ในเวลานั้น ก็เกิดจิตอ่อนโยน ระงับความคิดจะฆ่าพรานเสียได้ ทั้งพอรู้ว่าการกระทำของพรานครั้งนี้ เป็นเพียงความพยายามของพระนางสุภัททาเทวีผู้ผูกอาฆาตในตนตั้งแต่ในภพก่อนของพระนางแล้ว ก็ช่วยเหลือพราน ใช้งวงจับเลื่อย เลื่อยงาทั้งคู่มอบให้พรานไป นี้เป็นเรื่องสังเขป บัณฑิตพึงค้นหาความพิสดารได้ในอรรถกถาชาดกเรื่องนี้
คำว่า เราเป็นโชติปาลมานพ เป็นต้น พระเถระกล่าวหมายเอาเรื่องใน ฆฏิการสูตร (ม.ม. ๑๓/๓๔๖) ที่พระศาสดารับสั่งแก่พระอานนท์เกี่ยวกับเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงอุบัติเป็นโชติปาลมานพ ในกาลสมัยที่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติในโลก ประกาศศาสนาของพระองค์ โชติปาลมานพนั้น หลายครั้งที่นายช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ ผู้เป็นเพื่อนชักชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจะต้องด่าบริภาษพระองค์ทุกครั้งไปว่า “อย่าเลย ฆฏิการ เพื่อนเอ๋ย ประโยชน์อะไรด้วยการพบเห็นสมณะโล้นผู้นั้นเล่า”
เมื่อถูกชักชวนมากเข้าไม่อาจปฏิเสธได้ ก็ไปกับนายช่างหม้อ ได้เข้าเฝ้าฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสยิ่ง ได้ขอบวชในพระพุทธศาสนา ได้บวชแล้วก็ขนขวายแต่ธุระในพระพุทธศาสนา สามารถทำสมาบัติอภิญญา ที่เป็นโลกิย์ทั้งหลายให้บังเกิดได้ ตายไปก็ได้เข้าถึงพรหมโลก บัณฑิตพึงค้นหาความพิศดารในสูตรนี้เถิด
แง่ปมที่ขัดแย้งกันในปัญหา มีอยู่ว่า ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์ แม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังรู้จักจะเคารพบูชาผ้ากาสาวะได้ แม้กาสาวะนั้น จะคลุมตัวคนชั่วอยู่ก็ตาม จริงไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยที่เกิดโชติปาลมานพซึ่งเป็นมนุษย์แท้ๆ สูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่น่าจะกลับมาดูหมิ่นผ้ากาสาวะอันแสดงถึงเพศที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงครองอยู่ โดยการด่าว่าบริภาษพระองค์ ได้เลยทีเดียว
คำว่า คนเหล่านี้ ล้วนสำคัญว่าพราหมณ์เท่านั้นเป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ความว่า เพราะเหตุที่ล้วนเทิดทูนพรมนั่นเอง จึงเลื่อมใสในนักบวชคือพวกพราหมณ์ที่ประพฤติบูชาพรหม สำคัญว่าพวกพราหมณ์เท่านั้นเป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าบรรดานักบวชในลัทธิอื่น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๙
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us/
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: