สิ่งที่เข้าใจกันผิดๆ สอนกันผิดๆ
“เรื่องความเคยชินเป็นนิสัย ที่เรียกว่า สังโยชน์ อนุสัย นี้ ที่โรงเรียนนักธรรมสอนกันผิดๆว่า กิเลส สังโยชน์ อนุสัย เป็นของแน่นอน นอนอยู่ในสันดานเลย อย่างนี้เป็นการสอน “สัสสตทิฏฐิ” กิเลสเป็นของเที่ยง นอนอยู่ในสันดาน ครูสอนอย่างนี้เรียกว่าสอนผิดๆ ในโรงเรียนนักธรรม
กิเลสนี้ จะเป็นของเที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐินั้นไม่ได้ กิเลสก็เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนั้นทุกที ก็เพราะว่าเคยชินแต่อย่างนั้น นับตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่ เคยชินแต่เรื่องยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องผิด เรื่องถูก ฉะนั้น เมื่อมี“อนุสัย” กิเลสก็เกิดมาอย่างนี้ทั้งนั้น ทุกทีไป ทีนี้ ตัวไปมองผิวเผิน ก็เลยคิดว่ากิเลสเป็นของอย่างนั้น นอนอยู่ในสันดาน ไม่เปลี่ยนแปลง
สอนอย่างนี้เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรม ทำให้นักเรียนเข้าใจผิดไปว่า สังโยชน์ อนุสัย นี้ ไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับ เป็นของนอนนิ่งอยู่ในสันดาน พร้อมที่จะให้เกิดกิเลสชั้นกลาง ชั้นหยาบ อะไรขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นวัตถุมากไป มันเป็น “สัสสตทิฏฐิ” มากไป ผิดหมด คนเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ถ้าเป็นสัสสตะอย่างนั้นเสียแล้ว
ความที่เราหลงใน เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องดี เรื่องชั่ว นี้ จนชิน ชินมากเกินไป จึงเป็นอนุสัยสังโยชน์ ซึ่งดูคล้ายๆกับว่ามีประจำอยู่ในสันดาน ที่แท้ก็เป็นของเพิ่งเกิดทุกที ทุกทีที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับสัมผัส รับอะไรเข้ามา ถึงกับมีพระพุทธภาษิตว่า “แม้แต่อวิชชาก็เพิ่งเกิด” อันนี้เข้าใจยากต้องอธิบายกันหลายชั่วโมง จะไม่พูดในวันนี้ แต่ให้จำไว้เถิดว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “แม้แต่อวิชชาก็เพิ่งเกิด แล้วก็เกิด-ดับ เกิด-ดับ เหมือนกัน”
อวิชชาไม่ใช่เป็นของเที่ยงเป็นสัสสตะอยู่ในสันดานอะไรนั้น มันเกิดดับ เกิดดับตามขณะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับอารมณ์นี้ ถ้าใครสอนอวิชชาว่าเป็นของเที่ยงแน่นอน ประจำอยู่ในสันดานนี้ ก็พูดอย่างภาษาคน ไม่ใช่ภาษาธรรม เท่ากับพูดอย่างเขลาๆ ทำเรื่องจิตใจเป็นเรื่องวัตถุไปหมด แล้วเข้าใจผิดว่า วัตถุนี้ไม่เกิด ไม่ดับ ที่จริงวัตถุนี้ก็เกิดดับ เกิดดับ แต่ว่าช้ามากเท่านั้น กระแสจิตเร็วกว่านั้นมากจนดูไม่ทัน จนกลับเห็นเป็นว่า ไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับ ไปเสียอีก”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “เรื่องได้-เรื่องเสีย” บรรยายเมื่อวันที่ี ๙ ธันวาคม ๒๕๑๐ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๑”
ศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องระวังเรื่อง “ มิจฉาทิฏฐิ ”
“พุทธศาสนาเราเป็นพวก “วิภัชชวาท” คือสอนว่าสิ่งต่างๆนี้ มันประกอบด้วย“ส่วนประกอบ” แบ่งแยกออกได้ เป็นเบญจขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ เป็นอะไรเหล่านี้ไปได้ นี่เป็น “วิภัชชวาท” ส่วนพวกอื่นเขาสอนเป็น“อัตตา” ที่ไม่แบ่งแยก นี่เขาก็เป็น“อวิภัชชวาท” อย่างนี้เป็นต้น มันจัดพวกได้เป็นคู่ๆ กันมาอย่างนี้ เราก็ต้องรู้เรื่องนี้ กล่าวคือ เรื่องเกี่ยวกับ “สุญญวาท - อสุญญวาท” นี้ให้ดี จะต้องระวังให้มากที่สุด. พวกที่ถือเป็น “ตัวตน” นั่นแหละ มันเป็น “สัสสตทิฏฐิ” ต้องระวังให้ดี คำว่า “สัสสตทิฏฐิ” ถ้าใครไปเชื่อว่า “มีตัวตนเที่ยงแท้ ไม่แบ่ง ไม่ประกอบด้วยขณะ และไม่ว่าง” แต่เป็น“ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร” คนเดียวกันนี่แหละ ไปเกิด แล้วก็ไปเกิด แล้วก็ไปเกิด คนเดียวกันนี่แหละ นั่นเป็น“สัสสตทิฏฐิ” คือเป็น “มิจฉาทิฐิ” ฉะนั้น ระวังให้ดี
จะต้องรู้ให้ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “อวิชชา” นี้ ก็เกิด-ดับ แม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า “อนุสัยสังโยชน์” นี้ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ เกิด-ดับ อย่าได้เข้าใจว่าอวิชชาเป็นของดิ่ง ตายตัว ไม่มีเกิด ไม่มีดับ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันเกิดเมื่อมีการกระทบทางอารมณ์ ทางอายตนะ เป็นต้น อวิชชาจึงเกิดเสร็จแล้วมันก็ดับไปตามขณะ แม้สังโยชน์หรืออนุสัยก็เหมือนกัน มันมีการเกิดและการดับ การที่สอนการโดยไม่ระมัดระวังว่า “อนุสัยนอนเนื่องในสันดาน” เป็นตัวเดียวกันแท้ ไม่มีเกิด ไม่มีดับ อย่างนี้ เป็นสัสสตทิฏฐิ นั่นแหละคือไม่ว่าง และ ไม่ใช่พุทธศาสนา
เมื่อเรารู้เรื่อง “ความว่าง” ว่าหมายถึง ว่างจากความยึดถือว่าตัวตนเท่านั้นเอง ไม่ใช่ไม่มีอะไร นั่นก็เพื่อป้องกัน “สัสสตทิฏฐิ” แล้วพร้อมกันนั้นก็ระวังที่จะเป็น “อุจเฉททิฏฐิ” (ความเห็นว่าขาดสูญ ตรงกันข้ามกับสัสสตทิฏฐิ / ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ ) คือไปถือว่าไม่มีอะไร มีแต่สูญเปล่า นั่นมันก็เป็น “อุจเฉททิฏฐิ” ไป ถ้าไปมีตัวตนเที่ยงแท้ถาวรคนเดียวกันเรื่อย มันก็เป็นสัสสตทิฏฐิ ฉะนั้น ความว่างนี้ ถ้าถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ย่อมไม่เป็นทั้งสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิเป็นแน่นอน...”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมเทศนาหัวข้อเรื่อง “อุปสรรคการเข้าถึงธรรม” บรรยายที่ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๑
พระพุทธศาสนา เป็น “วิภัชชวาท” คือ มองความจริงอย่างวิเคราะห์ แยกแยะ จำแนก แจกแจง ให้เห็นครบทุกแง่ ทุกด้าน
“วิภัชชวาท” คือ การแสดงความจริงหรือการสอนโดยจำแนกแยกแยะ หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่จำแนกแยกแยะมองความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มีหลักการแสดงความจริงด้วยวิธีอย่างนั้น ก็เรียกว่า “วิภัชชวาท” หรือ “วิภัชชวาที”
เป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะมองอะไรข้างเดียว ด้านเดียว พอเจออะไรอย่างหนึ่ง ด้านหนึ่ง ก็สรุปตีความว่า นั่นคือสิ่งนั้น ความจริงคืออย่างนั้น แต่ความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นมีหลายด้าน ต้องมองให้ครบทุกแง่ทุกมุม พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะจำแนกแยกแยะ ดังที่เรียกว่า “วิภัชชวาท”
คำว่า “วิภัชช” แปลว่า จำแนกแยกแยะ มีการจำแนกแยกแยะทั้งในด้านความจริง เช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคน ท่านจะจำแนกออกไปเป็นขันธ์ ๕ โดยแยกออกไปเป็น รูปธรรม และ นามธรรม ก่อน แล้วแยก “นามธรรม” ออกไปอีกเป็น ๔ ขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แม้แต่ ๔ ขันธ์นั้น แต่ละขันธ์ยังแยกแยะออกไปอีก อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการจำแนก คือแยกแยะความจริงให้เห็นทุกแง่ทุกด้าน ไม่ตีคลุมไปอย่างเดียว คนจำนวนมากมีลักษณะตีขลุมและก็คลุมเอาอย่างเดียว ทำให้มีการผูกขาดความจริงโดยง่าย... (ท่านยกตัวอย่าง ขอข้ามข้อความส่วนนี้ไป)
หลักการต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ธรรมในพระพุทธศาสนานี้มีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเป็นข้อๆ จัดเป็นหมวดธรรมต่างๆ เช่น หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก
พระพุทธเจ้าเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า “ภควา” ภควา นั้นแปลได้ ๒ อย่าง แปลว่า ผู้มีโชค ก็ได้ แปลว่า ผู้จำแนกแจกธรรม ก็ได้ นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า “วิภัชชวาท” คือ เป็นนักวิเคราะห์ จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบทุกแง่ทุกด้านของความจริง”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”
0 comments: