ผู้มี“อตัมมยตา”ถึงที่สุด ก็คือ“พระอรหันต์” พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบ แล้วมาสอนให้ผู้อื่น
“อตัมมยตา” กับการพักผ่อนที่แท้จริง
“ต้องพูดกันบ่อยๆ ต้องขออภัยที่ต้องพูดกันบ่อยๆว่า มันมีแต่แรดฟังเขาเป่าปี่ หรือมีแต่การเป่าปีให้แรดฟัง ทุกคราวที่มีการสวดศพป่าช้า พระจะต้องพูดประโยคหนึ่งเสมอ “เตสํ วูปสโม สุโข (เตสัง วูปะสะโม สุโข ), ประโยคนี้ต้องพูดทุกๆคราว “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข.” บาทท้ายบทท้าย คือ หมายถึงการไม่ปรุงแต่ง เมื่อไม่ปรุงแต่งก็เป็นสุขอย่างยิ่ง นี้มันสุขที่เหนือสุขไปอีก ไม่ใช่สุขที่คู่กับทุกข์ คือเป็น นิพพาน เป็นว่าง, ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีเวทนา ไม่มีการ ปรุงแต่ง
ขอให้ฟังดูให้ดีๆ ไม่มีตัวตนที่เสวยอะไร, จิตใจว่างจากตัวตน จิตใจเป็นจิตบริสุทธิ์ ไม่มีความหมายแห่ง ตัวกู-ของกู, กูไม่ได้อะไร กูไม่เสียอะไร กูไม่เป็นอยู่ที่ไหน กูไม่ขึ้นอยู่กับอะไร, นี่จึงจะเรียกว่า “เตสํ วูปสโม สุโข” ระงับเสียได้ซึ่งการปรุงแต่งทั้งหลาย, เตสํ การปรุงแต่งทั้งหลาย วูปสโม ระงับเสียได้ สุโข เป็นสุข
ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ทุกคนจะเข้าใจเรื่องอตัมมยตามานานแล้ว ไม่เป็นของใหม่ ไม่เป็นของแปลก เดี๋ยวนี้ไม่รู้เรื่อง ยังไม่เคยรู้เรื่อง, เป็นของใหม่ของแปลกอยู่ตลอดเวลา. จึงขอให้พยายามสนใจกันให้ดี ๆ ว่ามันยังมีอะไรที่เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา หรือ ภูเขาที่เส้นผมมันบังอยู่”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “เลิกอายุแล้วมาอยู่กับอตัมมยตา” บรรยายเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อตัมมยตาประทีป” หน้า ๑๙๒-๑๙๓
เตสํ วูปสโม สุโข. สงบสังขารเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง
“หยุดการปรุงแต่งเสียได้ก็คือ สงบ ระงับ แห่งสังขารเสียได้ “เตสํ วูปสโม สุโข” ที่ชักบุงสุกุลศพนั่นน่ะ เตสํ วูปสโม สุโข. สงบสังขารเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่หมายถึงความตาย นั่นภาษาคนโง่พูด ว่านอนอยู่ในโลง นั่นคือสงบสังขารเสียได้ เป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาคน.
ภาษาธรรมะ สงบสังขารเสียได้ นั่นคือหยุดการปรุงแต่งเสียได้ ไม่ปรุงแต่งกายสังขาร ไม่ปรุงแต่งวจีสังขาร ไม่ปรุงแต่งมโนสังขาร ทั้งชนิดบาป บุญ อเนญชา, ไม่ว่าชนิดไหนหมด ไม่มีการปรุง, มีหัวใจรวมอยู่ที่ดับแห่งความผัสสะเสียได้ แล้วก็ไม่มีการปรุง ก็เรียกว่า สงบแห่งสังขาร สงบแห่งสังขาร คือ หยุดการปรุง นี่ก็เป็นไวพจน์(คำที่ใช้เรียกแทนได้)แห่ง “พระนิพพาน”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ความสิ้นกรรมและไวพจน์ของนิพพาน” ณ ลานหินโค้ง เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “พุทธธรรมประยุกต์” หน้า ๑๕๙
อตัมมยตา ทำให้เป็นพระอรหันต์
ขอให้ทุกคนเข้าใจไว้ตั้งแต่บัดนี้ แม้เป็นพระใหม่บวชไม่กี่วันนี้, นี้คือธรรมะสูงสุด ยอดสุดของธรรมะ ที่ทําให้เป็นพระอรหันต์, ผู้มีอตัมมยตาถึงที่สุดก็คือพระอรหันต์, พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบ แล้วมาสอนให้ผู้อื่นมีได้ด้วย ท่านก็เป็นผู้สอน, ผู้แนะ ชี้ สั่งสอน
อตัมมยตา แปลว่า ความที่อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้, ผู้มีอตัมมยตา เรียกว่า “อตัมมโย” คือ ผู้ที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ คือ พระอรหันต์ “ตัมมยตา” คือสิ่งที่จะปรุงแต่ง ผู้ใดถูกปรุงแต่งโดยตัมมยตา เรียกว่า “ตัมมโย” ผู้ที่ถูกปรุงแต่งเสียแล้ว เลยเป็นคู่กัน อตัมมยตา คู่กับ อตัมมโย, ตัมมยตา คู่กับ ตัมมโย : ก็คือว่า ปรุงแต่ง-ปรุงแต่ง แล้วก็ ไม่ปรุงแต่ง-ไม่ถูกปรุงแต่ง การปรุงแต่งมี ก็ถูกปรุงแต่ง การปรุงแต่งไม่มี ก็ไม่ถูกปรุงแต่ง, การไม่มีสิ่งที่จะปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งไม่ได้เรียก “อตัมมยตา”
อตัมมยตา ทําให้อยู่เหนือโลก
มีจิตใจอยู่เหนือการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้ นั่นแหละคือ โลกุตตระ เหนือโลก เป็น โลกุตตระ, ถ้ายังปรุงแต่งได้ก็อยู่ในโลก จมอยู่ในโลก เป็น โลกียะ อยู่ใต้วิสัยโลก อยู่กับโลกก็อย่าอยู่ใต้โลก อยู่เหนือโลกดีกว่า, ไหนๆก็ต้องอยู่ในโลกแล้ว มีอตัมมยตาสําหรับจะไม่ให้จมลงไปในโลก แต่จะอยู่เหนือโลก เรื่องมีเท่านี้”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “อตัมมยตา เท่าที่ควรจะรู้จักกันไว้บ้าง” บรรยายเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อตัมมยตาประทีป” หน้า ๑๘๔
0 comments: