วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กากชาตกํ - ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว

กากชาตกํ - ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว

"นิจฺจํ  อุพฺพิคฺคหทยา,   สพฺพโลกวิเหสกา;        ตสฺมา เนสํ วสา นตฺถิ,    กากานมฺหาก  ญาตินนฺติ ฯ   ขึ้นชื่อว่ากาทั้งหลาย มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น กาทั้งหลายผู้เป็นญาติของเราจึงไม่มีมันเหลว."

อรรถกถากากชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภการประพฤติประโยชน์แก่พระประยูรญาติ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นิจฺจํ อุพฺพิคฺคหทยา ดังนี้.

เรื่องในปัจจุบัน จักมีปรากฏในภัททสาลชาดก ทวาทสนิบาต. ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกา.  อยู่มาวันหนึ่ง ปุโรหิตของพระราชา อาบน้ำในแม่น้ำนอกพระนครปะแป้ง แต่งกาย ประดับดอกไม้ นุ่งผ้าสมศักดิ์ศรี กำลังเดินเข้าพระนคร ที่ยอดเสาค่ายใกล้ประตูพระนคร

กาสองตัวกำลัง จับอยู่ ในสองตัวนั้น กาตัวหนึ่ง พูดกับอีกตัวหนึ่งว่า „สหาย เราจักขี้รดหัวพราหมณ์นี้“ อีกตัวหนึ่งค้านว่า „เจ้าอย่านึกสนุกอย่างนั้นเลย พราหมณ์นี้เป็นคนใหญ่คนโต ขึ้นชื่อว่าการก่อเวรกับอิสสรชน ละก็ร้ายนัก เพราะแกโกรธขึ้นมาแล้วพึงทำกาแม้ทั้งหมดให้ฉิบหายได้“

กาตัวนั้นพูดว่า „เราไม่อาจยับยั้งเปลี่ยนใจได้เสียแล้ว“ อีกตัวหนึ่งกล่าวว่า „ถ้าอย่างนั้น เจ้าจักได้รู้ดอก“ แล้วบินหนีไป. กาตัวหนึ่ง เวลาพราหมณ์ลอดส่วนล่างแห่งเสาค่ายก็ทำเป็นย่อตัวลงขี้รดหัวพราหมณ์นั้น พราหมณ์โกรธ ผูกเวรในฝูงกา.  ครั้งนั้น หญิงทาสีรับจ้าซ้อมข้าวคนหนึ่ง เอาข้าวเปลือกผึ่งแดดไว้ที่ประตูเรือน นั่งคอยเฝ้าอยู่นั่นแล หลับไป

แพะขนยาวตัวหนึ่งรู้ว่า หญิงนั้นประมาท มากินข้าวเปลือกเสีย นางตื่นขึ้นเห็นมันก็ไล่ไป แพะแอบมากินข้าวเปลือกในเวลาที่นางหลับอย่างนั้นนั่นเหละ สองสามครั้ง แม้นางก็ไล่มันไป ทั้งสามครั้งแล้วคิดว่า „เมื่อมันกินบ่อยครั้ง จักกินข้าวเปลือกไปตั้งครึ่งจำนวน, เราต้องเข้าเนื้อไปมากมาย คราวนี้ต้องทำไม่ให้มันมาได้อีก“

นางจึงถือดุ้นไฟนั่งทำเป็นหลับ เมื่อแพะเข้ามากินข้าวเปลือก ก็ลุกขึ้นขว้างแพะด้วยไต้ ขนแพะก็ติดไฟ เมื่อร่างกายถูกไฟไหม้มันคิดจักให้ไฟดับ จึงวิ่งไปโดยเร็ว เอาตัวสีที่กระท่อมหญ้าแห่งหนึ่งใกล้โรงช้าง กระท่อมนั้นก็ลุกโพลงไป เปลวไฟที่เกิด จากกระท่อมนั้น ลามไปติดโรงช้าง เมื่อโรงช้างไหม้ หลังช้าง ก็พลอยไหม้ไปด้วยช้างจำนวนมาก ต่างมีตัวเป็นแผลไปตาม ๆ กัน

พวกหมอไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ พากันกราบทูลพระราชา พระราชาจึงตรัสกับปุโรหิตว่า „ท่านอาจารย์ หมอช้างหมด ฝีมือที่จะรักษาฝูงช้าง, ท่านพอจะรู้จักยาอะไร ๆ บ้างหรือ ?“ ปุโรหิตกราบทูลว่า „ข้าพระองค์ทราบอยู่ พระเจ้าข้ารับ“  ทรงสั่งถามว่า „ได้อะไรถึงจะควร ?“ กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า ต้องได้น้ำมันกาพระเจ้าข้า“ รับสั่งว่า „ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงสั่งให้คนฆ่ากา เอาน้ำมันมาเถิด“  จำเดิมแต่นั้น คนทั้งหลายก็พากันฆ่ากา ไม่ได้น้ำมัน ก็ทิ้งสุมไว้เป็นกอง ๆในที่นั้น ๆภัยอย่างใหญ่หลวงเกิดแก่ฝูงกาแล้ว.

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์มีฝูงกาแปดหมื่นเป็นบริวาร อาศัยอยู่ในป่าช้าใหญ่ มีกาตัวหนึ่งมาบอกแก่พระโพธิสัตว์ ถึงภัยที่เกิดแก่ฝูงกา พระโพธิสัตว์ดำริว่า „ยกเว้นเราเสียแล้ว ผู้อื่นที่จะสามารถบำบัดภัยที่กำลังเกิดขึ้นแก่หมู่ญาติของเราได้ไม่มีเลย เราต้องบำบัดภัยนั้น“ แล้วรำลึกถึงบารมี ๑๐ ประการกระทำเมตตาบารมีให้เป็นเบื้องหน้า บินรวดเดียวเท่านั้น เข้าไปในช่องพระแกลใหญ่ที่เปิดไว้ เข้าไปซุกอยู่ภายใต้พระราชอาสน์.  ครั้งนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่ง ทำท่าจะจับพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสห้ามว่า „มันเข้ามาหาที่พึ่ง อย่าจับมันเลย“

พระมหาสัตว์พักหน่อยหนึ่งแล้วรำลึกถึงพระบารมีออกจากใต้อาสนะ กราบทูลพระราชาว่า „ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาพระราชา ต้องไม่ ลุอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้นจึงจะชอบ, กรรมใด ๆที่จะต้องกระทำ กรรมนั้น ๆ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วกระทำ จึงจะชอบ,   อนึ่ง กรรมใดที่จะกระทำ ต้องได้ผล กรรมนั้นเท่านั้นจึงจะควรกระทำ นอกนี้ไม่ควรการทำ ก็ถ้าพระราชาทั้งหลายมาทรงกระทำกรรมที่ทำไปไม่สำเร็จผลเลยอยู่ไซร้ มหาภัยมีมรณภัยเป็นที่สุด ย่อมบังเกิดแก่มหาชน, ปุโรหิตตกอยู่ในอำนาจของการจองเวรได้กราบทูลเท็จ ขึ้นชื่อว่ามันเหลวของฝูงกาไม่มีเลย“

พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว มีพระทัยเลื่อมใสให้พระโพธิสัตว์เกาะบนตั่งอันแพรวพราวด้วยทองคำ ให้คนทาช่วงปีกด้วยน้ำมันที่หุงแล้วได้แสนครั้ง ให้บริโภคอาหารที่สะอาด สมควรเป็นพระกระยาหาร ให้ดื่มน้ำ พอพระมหาสัตว์สบายหายความเหน็ดเหนื่อยแล้วจึงได้ตรัสคำนี้ว่า „พ่อบัณฑิต เธอกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่ามันเหลวของฝูงกา ไม่มีด้วยเหตุไรเล่า มันเหลวของฝูงกาจึงไม่มี“.    พระโพธิสัตว์เมื่อจะกราบทูลชี้แจงว่า ด้วยเหตุนี้ ๆ พระเจ้าข้า กระทำพระราชวังทั้งสิ้นให้เป็นเสียงเดียวกันแสดงธรรม กล่าวคาถานี้ว่า :-

 „ฝูงกามีใจหวาดสะดุ้งเป็นนิตย์ ชอบเบียดเบียนชาวโลกทั้งมวล เหตุนั้น มันเหลว ของฝูงกาผู้เป็นญาติของข้าพระองค์เหล่านั้นจึงไม่มี.“ 

ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ :- ข้าแต่มหาราชเจ้าธรรมดาฝูงกามีใจสะดุ้ง คือคอยแต่หวาดกลัวอยู่เป็นนิจทีเดียว.  บทว่า  สพฺพโลกวิเหสกา  ความว่า กาทั้งหลายชอบเที่ยวเบียดเบียนข่มเหงมนุษย์ที่เป็นใหญ่มีกษัตริย์เป็นต้นบ้างหญิงชายทั่วไปบ้าง เด็กชายเด็กหญิงเป็นต้นบ้าง เหตุนั้น คือด้วยเหตุสองประการนี้ ขึ้นชื่อว่ามันเหลวของฝูงกาผู้เป็นญาติของข้าพระองค์เหล่านั้นจึงไม่มีแม้ในอดีตก็ไม่เคยมีแม้ในอนาคต ก็จักไม่มี.  

พระโพธิสัตว์ เปิดเผยเหตุนี้ด้วยประการฉะนี้แล้วทูลเตือนพระราชาว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดาพระราชามิได้ทรงพิจารณาใคร่ครวญแล้ว ไม่พึงปฏิบัติพระราชกิจ“.   พระราชาทรงพอพระทัย บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ พระโพธิสัตว์ถวายราชสมบัติคืนแด่พระราชาดังเดิม ให้พระราชาดำรงอยู่ในเบญจศีล ทูลขอพระราชทานอภัยแก่สัตว์ทั้งปวง.  พระราชาทรงสดับธรรมเทศนาแล้ว โปรดพระราชทานอภัยแก่สรรพสัตว์ทรงตั้ง นิพัทธทาน (ทานที่ให้ประจำ)แก่ฝูงกา ให้หุงข้าวประมาณวันละหนึ่งถัง คลุกด้วยของที่มีรสเลิศต่าง ๆพระราชทานแก่กาทุก ๆวัน ส่วนพระมหาสัตว์ได้รับพระราชทานพระกระยาหารทีเดียว.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้นได้มาเป็นอานนท์ ส่วนพระยากาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถากากชาดกที่ ๑๐. จบอสัมปทานวรรคที่ ๑๔

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: