วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อุภโตภฏฺฐชาตกํ - ว่าด้วยผู้เสียหายหมดทุกอย่าง

อุภโตภฏฺฐชาตกํ - ว่าด้วยผู้เสียหายหมดทุกอย่าง

"อกฺขี  ภินฺนา  ปโฏ  นฏฺโฐ,       สขิเคเห  จ  ภณฺฑนํ;    อุภโต  ปทุฏฺฐา  กมฺมนฺตา ,     อุทกมฺหิ  ถลมฺหิ จาติ ฯ  ตาของท่านก็แตก ผ้าของท่านก็หาย ภรรยาของท่านก็ทะเลาะกับหญิงเพื่อนบ้าน ท่านมีการงานเสีย ๒ ทาง คือ ทั้งทางน้ำและทางบก."

อรรถกถาอุภโตภัตถชาดกที่ ๙ 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อกฺขี  ภินฺนา  ปโฏ  นฏฺโฐ  ดังนี้.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย พากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า „ผู้มีอายุทั้งหลาย ขอนไม้ไหม้ไฟทั้งสองข้าง ท่ามกลางเปื้อนคูถ ไม่อำนวยประโยชน์สมเป็นไม้ในป่า ไม่อำนวยประโยชน์สมเป็นไม้ในบ้าน แม้ฉันใดเล่า, พระเทวทัต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บวชแล้วในพระศาสนา อันประกอบด้วยธรรมเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ ยังพลาด เสื่อมถอยจากประโยชน์ทั้งสองด้านเสียได้ คือเสื่อมถอยจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ ทั้งไม่สามารถทำประโยชน์แห่งความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้“

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตพลาดจากประโยชน์ทั้งสองด้าน แม้ในอดีตก็ได้เคยพลาดจากประโยชน์ทั้งสองด้านมาแล้วเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเอาเรื่องให้อดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา ในครั้งนั้น พวกพรานเบ็ด อยู่กันเป็นชุมนุม ณ หมู่บ้านตำบลหนึ่งครั้งนั้น พรานเบ็ดคนหนึ่ง ถือเบ็ดไปกับลูกชายรุ่นหนุ่ม ไปที่บึงซึ่งพวกพรานเบ็ดพากันจับปลาโดยปกติอยู่แล้วลงเบ็ด เบ็ดติด ที่ตอ ๆ หนึ่งใต้น้ำ พรานเบ็ดไม่สามารถจะดึงขึ้นมาได้ ก็คิดว่า „เบ็ดคงติดปลาตัวใหญ่ เราต้องส่งลูกชายไปหาแม่ ให้ก่อการทะเลาะกับพวกคนใกล้เคียง เมื่อเป็นเช่นนี้ ใคร ๆ ก็จะไม่คอยจ้องจะเอาส่วนแบ่งจากปลาตัวนี้“ แล้วบอกลูกชายว่า „ไปเถิดลูก เจ้าจงไปบอกแม่ ถึงเรื่องที่เราได้ปลาตัวใหญ่ ให้แม่เขาก่อการทะเลาะวิวาทกับคนใกล้เคียงเสีย.“

ครั้นเขาส่งลูกไปแล้ว เมื่อไม่อาจจะดึงเบ็ดมาได้ เกรงสายเบ็ดจะขาด จึงแก้ผ้าวางไว้บนบกโดดลงน้ำ เพราะอยากได้ปลา หาได้พิจารณาว่า „จะเป็นปลาหรือไม่“ จึงกระทบเข้ากับตอ นัยน์ตาแตกทั้งสองข้าง ผ้านุ่งที่วางไว้ บนบกเล่า ขโมยก็ลักไปเสีย เขาเจ็บปวดเอามือกุมนัยน์ตาทั้งสองข้างไว้ ขึ้นจากน้ำ ซมซานหาผ้านุ่ง.

ฝ่ายว่า ภรรยาของเขาคิดว่า „เราจักก่อการทะเลาะ ทำให้ใคร ๆ ไม่จ้องขอส่วนแบ่ง“ ดังนี้แล้ว เอาใบตาลประดับหูข้างหนึ่งเท่านั้น ตาข้างหนึ่งก็มอมเสียอุ้มลูกหมาใส่สะเอว เดินไปนั่งหัวบ้านท้ายบ้าน.

ครั้งนั้น หญิงเพื่อนกันคนหนึ่ง คะนองอย่างนี้ว่า „เจ้าเอาใบตาลมาประดับที่หูข้างเดียวเท่านั้น ตาข้างหนึ่งก็มอมเสีย อุ้มลูกหมาใส่สะเอวปานประหนึ่งว่า เป็นลูกรัก เดินไปหัวบ้านท้ายบ้าน เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ ?“  นางกล่าวว่า „ไม่ได้เป็นบ้า ก็เจ้ามาคำว่า เราโดยหาเหตุมิได้ บัดนี้เราจักพาเจ้าไปหานายอำเภอ ให้ปรับเจ้าเสียแปดกษาปณ์“

ครั้นทะเลาะกันอย่างนี้แล้ว คนทั้งสองก็พากันไปยังที่ว่าการอำเภอ เมื่อนายอำเภอชำระข้อพิพาทของหญิงทั้งสองนั้น ก็ปรับหญิงผู้เป็นภรรยาของพรานเบ็ดซ้ำเข้าอีก คนทั้งหลายก็มัดนาง เร่งรัดว่า จงให้ค่าปรับแล้วเริ่มเฆี่ยน.  รุกขเทวดาเห็นพฤติกรรมนี้ของนางในบ้านและความฉิบหายของผัวนั้นในป่า ก็ยืนที่ค่าคบไม้กล่าวว่า „ดูก่อนเจ้าคนถ่อย การงานของเจ้าเสื่อมเสียหมดแล้ว ทั้งในน้ำ ทั้งบนบก เจ้าพลาดเสียแล้วจากประโยชน์ทั้งสองสถาน“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

„ตาของเจ้าก็แตก ผ้าของเจ้าก็หาย ภรรยาของเจ้าก็ทะเลาะกับหญิงเพื่อนบ้าน การงานทั้งหลายเสียหายทั้งสองด้าน ทั้งในน้ำ ทั้งบนบก.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สขีเคเห  จ  ภณฺฑนํ  ความว่า หญิงผู้เป็นสหายชื่อว่าเพื่อน ขยาย ความว่า เมียของเจ้าทำความร้าวฉาน ในเรือนของหญิงผู้เป็นสหายนั้น ถูกจับมัดเฆี่ยนลงทัณฑ์.  บทว่า  อุภโต  ปทุฏฺฐา ความว่า การงานในฐานะทั้งสองของเจ้า เสียหาย ย่อยยับอย่างนี้ทีเดียว.  ถามว่า ในฐานะทั้งสองอย่างไหนบ้าง ?  ตอบว่า ทั้งทางน้ำและทั้งทางบกได้แก่ การงานในน้ำเสียหายเพราะนัยน์ตาแตกและผ้านุ่งถูกขโมยลัก การงานบนบกเสียหาย เพราะเมียทำความร้าวฉานกับเพื่อนบ้าน ถูกจับมัดเฆี่ยนลงทัณฑ์.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า พรานเบ็ดในครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต ส่วนรุกขเทวดาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถาอุภโตภัตถชาดกที่ ๙

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: