วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๑)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๑)  ปัญหาที่ ๙ คาถาภิคีตโภชนกถาปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  

“คาถาภิคีตํ  เม  อโภชเนยฺยํ,    สมฺปสฺสตํ  พฺราหฺมณ  เนส  ธมฺโม,    คาถาภิคีตํ  ปนุทนฺติ  พุทฺธา,   ธมฺโม  สตี พฺราหฺมณ  วุตฺติ  เรสา”  โภชนะที่เราขับกล่อมคาถาได้มา เป็นของที่ไม่ควรบริโภค ดูก่อน พราหมณ์ ข้อว่า โภชนะที่ขับกล่อมคาถาได้มานี้ ก็ยังจัดว่าเป็นของควรบริโภคนี้ ไม่ใช่ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงเห็นอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงหลีกเลี่ยง โภชนะที่ขับกล่อมคาถาได้มา ดูก่อน พราหมณ์ การเลี้ยงชีพนี้ พึงมีเมื่อมีธรรม  ดังนี้ 

แต่ว่าอีกครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงธรรม กล่าวธรรมแก่บริษัท ก็ตรัส อนุปุพพิกถา คือทานกถาก่อน ตรัส สีลกถาทีหลัง พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้สดับคำตรัสของพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นอิสระในโลกทั้งปวงพระองค์นั้น แล้วก็จัดแจงถวายทาน พระผู้มีพระภาคทรงบริโภคใช้สอยทานที่เขาจะถวายนั้น พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า โภชนะที่เราขับกล่อมคาถาได้มา เป็นของที่ไม่ควรบริโภค ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสทานกถาก่อน ดังนี้เป็นต้น ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสทานคาถาก่อน จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า โภชนะที่เราขับกล่อมคาถาได้มาเป็นของไม่ควรบริโภค ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใรหรือ พระคุณเจ้า ท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง กล่าวถึงวิบากผลแห่งการถวายบิณฑบาตแก่พวกคฤหัสถ์ พวกคฤหัสถ์เหล่านั้น ฟังธรรมคาถาของท่านผู้นั้นแล้ว เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสถวายทานอยู่เรื่อยๆ ท่านเหล่าใดบริโภคใช้สอยทานที่เขาถวายนั้น ท่านเหล่านั้นทุกท่านล้วนชื่อว่า บริโภคใช้สอยผู้ชนะที่ขับกล่อมคาถาได้มา ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า โภชนะที่เราขับกล่อมคาถาได้มา เป็นของที่ไม่ควรบริโภค ฯลฯ ดูก่อน พราหมณ์ การเลี้ยงชีพนี้ พึงมีเมื่อมีธรรม ดังนี้ จริงและพระผู้มีพระภาคย่อมประธานคาถาก่อนจริง ก็ตรัสทานกถาก่อนนั้น เป็นกิจที่พระตถาคตทั้งหลายทุกพระองค์ทรงกระทำ ทรงทำจิตของสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีในทางกถานั้นแล้ว ภายหลังทรงชักชวนให้ประกอบในศีล ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าพวกคนทั้งหลายย่อมให้ของเล่น เช่นว่า คันไถน้อยๆ ไม้หึ่งกังหันน้อยๆ เครื่องตวงน้อยๆ รถน้อยๆ ธนูน้อยๆ แก่พวกเด็กน้อยทั้งหลาย ก่อนเทียว ภายหลังจึงชักชวนให้เด็กน้อยเหล่านั้น ประกอบในการงานที่สมควรของตน ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ทรง ทำจิตของสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีในทานคาถาก่อน ภายหลังจึงทรงชักชวนให้ประกอบในศีล ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าธรรมดาว่า แพทย์ ตลอด ๔-๕ วันแรกก็ให้ผู้เจ็บป่วยดื่มน้ำมันก่อน เพื่อเสริมสร้างกำลัง เพื่อให้ยินดี ภายหลังจึงให้ขับถ่ายฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ทรงทำจิตของสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีในทานคาถาก่อน ภายหลังจึงทรงชักชวนให้ยินดีในศีล ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร จิตของทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นธรรมชาติที่อ่อนโยน มีความนุ่มนวลแจ่มใส พวกทายกเหล่านั้น ย่อมไปถึงฝั่งทะเลคือสังสารวัฏ ได้ด้วยสะพานคือทาน ด้วยเรือคือทานนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุศาสน์ทานคาถา อันเป็นพื้นฐานแห่งการงานของคนเหล่านั้นก่อน แต่ไม่ได้ทรงยอมให้ภิกษุรูปไหนๆ ใช้วิญญัติ.  

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านกล่าวถึงคำว่าวิญญัติ ข้าพเจ้าขอถามว่า ชื่อว่า วิญญัตินั้น มีเท่าไหร่ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร วิญญัติ มี ๒ อย่าง คือกายวิญญัติ และ วจีวิญญัติ ใน วิญญัติ ทั้ง ๒ อย่างนั้น กายวิญญัติที่มีโทษก็มีอยู่ ไม่มีโทษก็มีอยู่ วจีวิญญัติ ที่มีโทษก็มีอยู่ ที่ไม่มีโทษก็มีอยู่.  กายวิญญัติที่มีโทษ เป็นไฉน ? ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว ก็ยืนอยู่ในโอกาสที่ไม่สมควร ทำการยืนให้เสียหายไป นี้ชื่อว่ากายวิญญัติที่มีโทษ พระอริยะบุคคลทั้งหลายย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้กายวิญญัติที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าตำหนิ น่ารังเกียจ น่าติเตียน น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแตกทำลาย

ขอถวายพระพรยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว ก็ยืนอยู่ในโอกาสที่ไม่สมควร โก่งคอเพ่งมองไป เหมือนอย่างนกยูงเพ่งมอง ด้วยคิดว่า ทายกเหล่านี้จะมองเห็นเราได้ โดยวิธีการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นพวกทายกกล่าวนั้นจึงมองเห็นเธอ แม้นี้ ก็ชื่อว่ากายวิญญัติมีโทษ พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้กายวิญญัติที่มีโทษนั้น บอกให้พวกทายกรู้ และบุคคลนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าตำหนิ น่ารังเกียจ น่าติเตียน น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพ ในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแตกทำลาย

ขอถวายพระพร ยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว ใช้แก้มบ้าง ใช่คิ้วบ้าง ใช้หัวแม่มือบ้าง บอกทายกให้รู้ แม้นี้ ก็จัดว่าเป็นการวิญญัติที่มีโทษ พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้กายวิญญัติ อย่างที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น หน้าตำหนิ น่ารังเกียจ หน้าติเตียน หน้าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพในความเห็นของพระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมถึงความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแตกทำลาย

กายวิญญัติที่ไม่มีโทษ เป็นไฉน ? ภิกษุในพระศาสนานี้ เข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายแล้ว เป็นผู้มีสติ มีจิตตั้งมั่น มีสัมปชัญญะไปในที่ที่สมควรบ้าง ในที่ที่ไม่สมควรบ้าง ตามที่ทรงอนุศาสน์ไว้ หยุดยืนในที่ที่สมควร เมื่อมีผู้ต้องการถวาย ก็หยุดยืน เมื่อไม่มีผู้ต้องการถวาย ก็หลีกไป มีชื่อว่ากายวิญญัติที่ไม่มีโทษ ก็พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมบริโภคปัจจัยที่ใช้กายวิญญัติที่ไม่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่น่ายกย่อง น่าชมเชย น่าสรรเสริญ มีความประพฤติขูดเกลากิเลส ถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ทีเดียว ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ ได้ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

“น  เว  ยาจนฺติ  สปฺปญฺญา  ธีโร  จ  เวทิตุมรหติ  อุทฺทิสฺส  อริยา  ติฏฺฐนฺติ  เอสา  อริยาน  ยาจนา” (ขุ.ชา. ๒๗/๒๑๙)  ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมไม่ขอเขาเลยทีเดียว ก็ทายกผู้เป็นนักปราชญ์ย่อมรู้ได้เอง เพราะเขาเจาะจงมา พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงหยุดยืน นี้คือการขอพระอริยเจ้าทั้งหลาย  ดังนี้ 

วจีวิญญัติที่มีโทษ เป็นไฉน ? ขอถวายพระพร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ กล่าวขอของหลายอย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเครื่องบริขารคือยาอันเป็นปัจจัยสำหรับคนป่วยไข้ ด้วยวาจา มีชื่อว่าวจีวิญญัติที่มีโทษ ก็พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้วัดวิญญาณที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าติเตียน น่าตำหนิ น่ารังเกียจ น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพ ในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแตกทำลาย

ขอถวายพระพร ยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ เมื่อจะกล่าวให้ผู้อื่นได้ยิน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาตมภาพมีความต้องการด้วยสิ่งนี้ ดังนี้ และภิกษุรูปนั้นก็มีความอยากเกิดขึ้นพร้อมกับวาจาที่กล่าวให้ผู้อื่นได้ยินนั้น แม้นี้ก็จัดว่าเป็นวจีวิญญัติที่มีโทษ ก็พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้วจีวิญญัติที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าติเตียน น่าตำหนิ น่ารังเกียจ น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพ ในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแตกทำลาย

ขอถวายพระพร ยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้เปล่งวาจาให้บริษัทได้ยินว่า ควรถวายของแก่ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้และอย่างนี้เถิด ดังนี้ คนเหล่านั้นพอได้สดับคำของภิกษุรูปนั้น ก็น้อมถวายปัจจัยที่ภิกษุรูปนั้นแนะนำ แม้นี้ก็จัดว่าเป็นวจีวิญญัติที่มีโทษ ก็พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้วจีวิญญัติที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าตำหนิ น่าติเตียน น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพ ในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้ที่มีอาชีวะแตกทำลาย

ขอถวายพระพร แม้ท่านพระสารีบุตรเถระ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตคืนหนึ่ง เกิดป่วยไข้ขึ้น พอท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามถึงยา ก็เปล่งวาจาบอกไป ยาเกิดขึ้น (แสวงหามาได้) เพราะการที่ท่านเปล่งวาจานั้น ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระคิดว่า ยานี้เกิดขึ้นเพราะการเปล่งวาจาของเรา อาชีวะของเราขอจงอย่าแตกทำลายเลย ดังนี้ เพราะกลัวการแตกทำลายแห่งอาชีวะ ท่านจึงสละทิ้งยานั้นเสีย ไม่ใช่รักษาชีวิตมิใช่หรือ อาชีวะแม้อย่างนี้ ก็จัดว่ามีโทษ พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคปัจจัยที่ใช้ววจีวิญญัติที่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูหมิ่น น่าตำหนิ น่าติเตียน น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเคารพ ในความเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะแต่ทำลาย

วจีวิญญัติที่ไม่มีโทษ เป็นไฉน ? ขอถวายพระพรภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ เมื่อปัจจัยมีอยู่ ก็กล่าวขอยาในตระกูลทั้งหลายที่พวกญาติได้ปวารณาไว้ นี้ชื่อว่าวจีวิญญัติที่ไม่มีโทษ ก็พระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมบริโภคปัจจัยที่ใช้วจีวิญญัติที่ไม่มีโทษนั้น บอกให้ทายกรู้ และบุคคลผู้นั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่ น่ายกย่อง น่าชมเชย น่าสรรเสริญ มีความประพฤติขูดเกลากิเลส ถึงซึ่งความนับว่าเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ทีเดียว เธอเป็นผู้ที่พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอนุโมทนา

ขอถวายพระพร ส่วนข้อที่พระตถาคตทรงละเว้นโภชนะ ของ กสิภารทวาชพนาหมณ์ ใด โภชนะนั้น บังเกิดเพราะการผูกปัญหา การแก้ปัญหา การฉุดคร่า การข่มขี่ และการทำคืน เพราะฉะนั้น พระตถาคตจึงทรงปฏิเสธบิณฑบาตนั้น ไม่ทรงใช้เลี้ยงชีพ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อพระตถาคตเสวยพระกระยาหาร เทวดาโปรยปรายทิพยโอชะลงในบาตรทุกคราว หรือ หรือว่าโปรยปรายในบิณฑบาต ๒ คราว คือในสูตรมัททวะ และข้าวมธุปายาส เท่านั้นเล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เมื่อพระตถาคตเสวยพระกระยาหาร เทวดาย่อมถือเอาทิพยโอชะยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วเกลี่ยลงไปในคำข้าวแต่ละคำที่ทรงตักขึ้นมา ทุกคราวไป.   ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า นายวิเสท (พ่อครัว) ของพระราชา เมื่อพระราชาเสวยพระกระยาหาร ย่อมถือเอาแกงกับมายืนอยู่ใกล้ๆ แล้วคอยเกลี่ยแกงกับลงในคำข้าวทุกๆ คำ ฉันใด ขอถวายพระพรเมื่อพระตถาคตเสวยพระกระยาหาร เทวดาย่อมถือเอาทิพยโอชะมายืนอยู่ใกล้ๆ คอยเกลี่ยทิพยโอชะลงในคำข้าวที่ทรงตักขึ้นมา ทุกคราวไป ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร แม้ที่เมืองเวรัญชา เมื่อพระตถาคตจะเสวยพระกระยาหารที่สุกขยวปุลกวิหาร เทวดาก็ใช้ทิพยโอชะคอยน้อมเข้าไปทำแต่ละคำให้ชุ่ม เพราะเหตุนั้นพระกายของพระตถาคตจึงได้กระปรี้กระเปร่า

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่พวกเทวดาเป็นผู้ถึงความขวนขวายอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ในการปรนนิบัติพระสรีระ จัดว่าเป็นลาภของพวกเทวดาเหล่านั้นหนอ ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบคาถาภิคีตโภชนกถาปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่มีคำพูดเกี่ยวกับโภชนะที่ขับกล่อมคาถาได้มาชื่อว่า คาถาภิคีตโภชนกถาปัญหา.  คำว่า โภชนะที่ขับกล่อมคาถาได้มา เป็นต้น พระราชาทรงยกมาอ้างในที่นี้ ด้วยทรงมีพระประสงค์จะทรงชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงตำหนิโภชนะ คือปัจจัยแม้ทั้ง ๔ นั่นแหละ ที่ได้มาโดยการใช้คำพูดกล่อม หว่านล้อม ชักจูง ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธา เริ่มใส แล้วน้องเข้าไปถวายด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ว่าเป็นโภชนะที่ไม่สมควรบริโภค เพราะฉะนั้น จึงสงเคราะห์คำพูด แม้ที่มิใช่คาถา.  คำว่า โภชนะที่ เราขับกล่อมคาถาได้มา ดังนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคตรัสแก่กสิภารทวาชพราหมณ์ ใน กสิภารทวาชสูตร หลังจากที่พราหมณ์ได้สดับธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วเกิดความเลื่อมใส น้อมเอาโภชนาหารเข้าไปถวายแก่พระองค์.  คำว่า อนุปุพพิกถา แปลว่า คาถา (คำพูด) ที่พึงมีตามลำดับ มีอย่างนี้ คือ  

- ทานกถา กถาว่าด้วยทาน,   - ศีลกถา กถาว่าด้วยศีล,   - สัคคกถา กถาว่าด้วยสวรรค์,   - กามาทีนวกถา กถาว่าด้วยโทษของกาม,  - โอการกถา กถาว่าด้วยความเสื่อม,  - สังกิเลสคาถา กถาว่าด้วยความเศร้าหมอง,  - เนกขัมมานิสังสกถา  กถาว่าด้วยอานิสงส์แห่งเนกขัมมะ (การออกบวช) 

ดังนี้ แง่ปมที่ขัดแย้งในปัญหามีอยู่อย่างนี้ คือ เมื่อทรงติเตียนโภชนะ ที่ใช้คำพูดขับกล่อมหว่านล้อม ชักจูง ให้เขาเกิดความเลื่อมใส แล้วเขาน้อมถวายได้มา ไฉนจึงตรัสอนุปุพพิกถา อันมีการกล่าวถึงทาน อานิสงส์มากมายที่พึงได้รับเพราะการให้ทาน เป็นเบื้องต้นก่อน เล่า เพราะเมื่อตรัสอย่างนี้ ผู้ฟังย่อมเกิดความเลื่อมใสในทาน ทราบว่าทานมีอานิสงส์มากมายอย่างนี้แล้ว ต้องการอานิสงส์ที่พึงได้รับนั้น ก็ย่อมน้อมเอาปัจจัยทั้งหลายเข้าไปถวายอยู่เรื่อยๆ มิใช่หรือ ?

คำว่า วิญญัติ ได้แก่ อาการที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว แห่งอิริยาบถใหญ่และย่อยทั้งหลายที่ทำขึ้นด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้ (หรือตนเองรู้อย่างนั้นแล้ว) ก็ทำขึ้น มี ๒ อย่าง คือ  กายวิญญัติ อันเป็นอาการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแห่งกาย มี นั่งนอนยืนเดิน กวักมือ พยักหน้า ส่ายหน้า เป็นต้น และ วจีวิญญัติ อันเป็นอาการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหววาจา กล่าวคือ ฐานที่อุบัติแห่งเสียง มีคอ ศีรษะ เพดานปาก เป็นต้น

และอวัยวะที่ใช้เป็นเครื่องแต่งเสียง มีลิ้นเป็นต้น ในเวลาที่เปล่งคำพูด ก็กายวิญญัติและวจีวิญญัตินั้นชื่อว่ามีโทษก็เพราะเป็นเหตุต้องอาบัติ เป็นเหตุขัดขวางการบรรลุคุณธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นเหตุให้ผู้ที่ยังไม่ศรัทธาไม่เกิดศรัทธา ผู้ที่ศรัทธาอยู่แล้วเสื่อมศรัทธา เป็นเหตุให้ทายกผู้ถวายปัจจัยได้รับอานิสงส์แห่งทานน้อย เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ภิกษุรูปใดเลี้ยงชีพโดยใช้วิญญัติที่มีโทษทั้ง ๒ อย่างนี้ อาชีวะ คือการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น ก็ย่อมถึงความนับว่าแต่ทำลาย อธิบายว่า เป็นมิจฉาอาชีวะ พึงทราบถึงกายวิญญัติและวจีวิญญัติที่ ไม่มีโทษ โดยประการตรงข้ามกับที่กล่าวแล้วนี้ เถิด

เรื่องของท่านพระสารีบุตรเกี่ยวกับคราวที่ท่านเกิดโรคลมในท้อง แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ เที่ยวหาบิณฑบาตที่เหมาะสมแก่โรคตามคำบอกของท่าน มาถวายแก่ท่านนั้น ท่านมิได้บอกกล่าวแก่ท่านพระโมคคัลลานเถระ ด้วยเห็นแก่การจะได้มา ท่านถูกพระเถระถาม ก็บอกกล่าวไปตามที่ท่านเคยใช้บำบัดในสมัยที่ยังเป็นฆราวาสเท่านั้นอย่างเดียว และตัวท่านเองก็เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นเหตุเสียหายแห่งอาชีวะ แต่ท่านเกรงว่าภิกษุอื่นที่ไม่รู้อัธยาศัยข้อนี้ จะถือเป็นเยี่ยงอย่าง นำไปประพฤติปฏิบัติกันแพร่หลาย อันจะเกิดเป็นโทษขึ้น เพราะเหตุนั้น แม้ว่าจะเป็นบิณฑบาตที่ได้มาโดยความบริสุทธิ์ ท่านก็ปฏิเสธไม่รับบิณฑบาตที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระนำเข้าไปถวายแก่ท่านนั้น โดยกล่าวว่า จงนำไปเททิ้งเสียเถอะ มันเป็นบิณฑบาตที่ไม่สมควรฉัน ดังนี้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐ ธัมมเทสนาย อัปโปสสุกกปัญหา

พระยามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า พระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปนี้ บ่มพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่ ดังนี้ และยังกล่าวอีกว่า เมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน เปรียบเหมือนว่า นายขมังธนู หรือศิษย์ของนายขมังธนูได้ซ้อมวิธีการยิงธนูไว้ เพื่อประโยชน์แก่การสงคราม มาตลอดหลายวันแล้ว แต่เมื่อการรบครั้งใหญ่มาถึง ก็กลับท้อแท้ใจไปเสีย ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปนี้ บ่มพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่ แต่พอพระองค์ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็กลับทรงท้อแท้พระทัยในอันจะแสดงธรรมไปเสีย ฉันนั้น

พระคุณเจ้านาคเสน อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าพวกนักมวย หรือพวกลูกศิษย์ของนักมวย ซ้อมการชกต่อยตลอดเวลาหลายวันแล้ว แต่เมื่อการชกมวยมาถึง ก็กลับท้อแท้ใจไปเสีย ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปนี้ บ่มพระสัพพัญญุตญาณเพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่ แต่พอพระองค์ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็กลับทรงท้อแท้พระทัยในอันจะแสดงธรรมไปเสีย ฉันนั้น

พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงท้อแท้พระทัย เพราะทรงกลัวหรือหนอ หรือว่าทรงท้อแท้พระทัยเพราะไม่ประสงค์ปรากฏตัว หรือว่าทรงท้อแท้พระทัยเพราะทรงอ่อนแอ หรือว่าทรงท้อแท้พระทัยเพราะทรงหาความเป็นพระสัพพัญญูไม่ได้ เล่า เหตุผลในเรื่องนั้นคืออะไร ขอเชิญท่านจงบอกเหตุผล เพื่อข้ามความสงสัยเถิด พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปนี้ บ่มพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า เมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อการแสดงธรรม จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปนี้ บ่มพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่ ดังนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาที่ลึกซึ้ง คลี่คลายได้ยาก แม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงใช้เวลาในระหว่าง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป บ่มพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อโปรดชนหมู่ใหญ่ จริง และเมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พ่อทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม จริง ก็แต่ว่า ข้อที่น้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรมนั้น เพราะทรงเล็งเห็นความเป็นของลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เห็นได้ยาก รู้ได้ยาก สุขุม แทงตลอดได้ยากแห่งพระธรรม เล็งเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ยินดีในอาลัย และยึดถือสักกายยทิฏฐิมั่นคงนัก แล้วก็ทรงเกิดพระปริวิตกว่า เราจะทำอะไรดีหนอ เราจะทำอย่างไรดีหนอ ดังนี้ แล้วก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม ข้อนี้จัดว่าเป็นพระทัยที่คิดคำนึงถึงการแทงตลอดธรรมของสัตว์ทั้งหลาย

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า หมอผ่าตัดเข้าไปหาคนผู้ถูกโรคหลายอย่างบีบคั้นแล้ว ก็คิดอย่างนี้ว่า จะใช้วิธีรักษาอย่างไหนได้หนอ หรือว่าจะใช้ยาอะไรเล่าหนอ คนผู้นี้จึงจะหายเจ็บป่วยได้ ดังนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเล็งเห็นชนผู้ถูกโรคคือกิเลสทั้งปวงบีบคั้น และทรงเล็งเห็นความเป็นของลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สุขุมแทงตลอดได้ยาก แห่งพระธรรมแล้ว ก็ทรงดำริอย่างนี้ว่า เราจะทำอะไรดีหนอ เราจะทำอย่างไรดีหนอ ดังนี้ แล้วก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้จัดว่าเป็นพระทัยที่คิดคำนึงถึงการแทงตลอดธรรมของสัตว์ทั้งหลาย

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ขัตติยราชาผู้ทรงได้มุทธาภิเษก ทรงเห็นชนทั้งหลาย คือคนเฝ้าประตู ทหารยาม ชาวบริษัท ชาวนิคม ลูกจ้าง ไพร่พล อำมาตย์ ขุนนาง ข้าราชการ แล้วก็ทรงเกิดพระทัยคิดอย่างนี้ว่า เราจะทำอะไรดีหนอ เราจะทำอย่างไรดีหนอ ดังนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเล็งเห็นความเป็นของลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สุขุม แทงตลอดได้ยาก แห่งพระธรรม เล็งเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ยินดีในอาลัย และยึดถือสักกายทิฏฐิมั่นคงนัก แล้ว ก็ทรงเกิดพระปริวิตกว่า เราจะทำอะไรดีหนอ เราจะทำอย่างไรดีหนอ ดังนี้แล้ว ก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้จัดว่าเป็นพระทัยที่คิดคำนึงถึงการแทงตลอดธรรมของสัตว์ทั้งหลาย

ขอถวายพระพร มหาบพิตร อีกนัยหนึ่ง เป็นธรรมดาสำหรับพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ที่พระพรหมจะต้องทูลขอร้องให้ทรงแสดงธรรม ก็ในข้อที่ว่านั้น มีเหตุผลอะไรอยู่เล่า ในสมัยนั้น พวกคนทั่วไปทั้งหลาย พวกสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้เทิดทูนพระพรหม เคารพพระพรหม นับถือพระพรหมไว้เบื้องหน้า เพราะเหตุที่พระพรหมทูลขอให้ทรงแสดงธรรมนั้น ชาวโลก พร้อมทั้งเทวดาก็จะนอบน้อม ปลงใจเชื่อ น้อมใจเชื่อ ด้วยความนอบน้อมต่อพระตถาคตผู้มีพลานุภาพ มีพระอิสริยยศ ผู้มีญาณ มีปัญญา ผู้ยอดเยี่ยมสูงส่ง พระองค์นั้น ขอถวายพระพร พระพรหมทูลขอร้องให้พระตถาคตทรงแสดงธรรม ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวมากระนี้ นี้

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์บางคน ย่อมนอบน้อม กระทำความยำเกรงต่อบุคคลใด หมู่ชนที่เหลือก็ย่อมนอบน้อม กระทำความยำเกรงด้วยความนอบน้อม ต่อบุคคลผู้มีพลานุภาพยิ่งกว่าผู้นั้น ฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อพระพรหมนอบน้อม ชาวโลกพร้อมทั้งเทวดาก็จะนอบน้อมต่อพระตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ชาวโลกย่อมเป็นผู้บูชาผู้ที่พระพรหมบูชา เพราะฉะนั้น พระพรหมนั้นจึงทูลขอร้องพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ เพื่อให้ทรงแสดงธรรม ซึ่งก็เพราะเหตุนั้นแหละ พระพรหมจึงทูลขอร้องพระตถาคตเจ้าให้ทรงแสดงธรรม

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านคลี่คลายปัญหาได้ดีแล้ว เป็นคำกล่าวเฉลยที่งดงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบธัมมเทสนาย อัปโปสสุกกปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาเกี่ยวกับความที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในการแสดงธรรม ชื่อว่า ธัมมเทสนาย อัปโปสสุกกปัญหา.  คำว่า บ่มพระสัพพัญญุตญาณ คือบ่มทำเครื่องสร้างความเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่การบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.  ในคำว่า ทรงน้อมพระทัยไป เพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม นี้ ถามว่า ทรงน้อมพระทัยไป เพื่อความขวนขวายน้อย อย่างไร ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม อย่างไร ? ตอบว่าอย่างนี้คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาอย่างนี้ว่า

“อธิคโต  โข   มยายํ   ธมฺโม  คมฺภีโร ฯเปฯ  ตโมกฺขนฺเธน  อาวุฏา” (วิ.มหา. ๔/๗-๘)

ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้แล ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่ที่เที่ยวไปแห่งความคิด (เที่ยวคิดเอาไม่ได้) ละเอียดอ่อน ผู้เป็นบัณฑิตเท่านั้น อาจรู้ได้ ก็หมู่สัตว์นี้ เป็นผู้มีอาลัย (กามคุณ ๕) เป็นที่ยินดี ยินดีในอาลัย บันเทิงในอาลัย ฯลฯ และถ้าเราพึงแสดงธรรม เราก็ไม่อาจทำผู้อื่นให้รู้ทั่วถึงได้ ข้อนั้นเป็นความลำบากของเรา ข้อนั้นเป็นความเบียดเบียนตัวเรา

บัดนี้ เราไม่ควรประกาศธรรมที่บรรลุได้โดยยาก เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่สัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกความยินดียินร้ายครอบงำอยู่ จะรู้ได้ง่ายเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ถูกราคะย้อมใจ ผู้กองความมืดห่อหุ้มไว้ ย่อมมองไม่เห็นธรรม ที่เป็นไปทวนกระแสที่ประณีต ที่ลึกซึ้ง ที่เห็นได้ยาก ที่ละเอียดได้เลย ดังนี้ แล้วก็ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม

ในคำเหล่านั้น คำว่า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย คือทรงมีพระทัยน้อมไปในอันอุตสาหะแต่น้อย ไม่มุ่งทำประโยชน์สัตว์อื่น.  คำว่า ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม คือทรงมีพระทัยน้อมไปในอันจะทำเวลาให้ล่วงไปด้วยการเสวยสุขในสมาบัติทั้งหลาย จนกว่าวาระเสด็จดับขันธปรินิพพานมาถึง ไม่ได้ทรงมีพระทัยมุ่งไปในอันแสดงธรรม.  คำว่า เพราะไม่ประสงค์ปรากฏตัว คือเพราะไม่ทรงประสงค์ให้ผู้อื่นรู้ได้ รู้จักพระองค์

คำว่า เป็นธรรมดาสำหรับพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ที่พระพรหมจะต้องทูลขอร้องให้แสดงธรรม เป็นต้น คือ เป็นธรรมดาว่า ท่านท้าวมหาพรหม ครั้นทรงทราบพระปริวิตกข้อนี้ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ทรงคิดว่า โลกจะพินาศละหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะพินาศละหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในข้อที่พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องละจากพรหมโลก เข้าไปทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรม ดังนี้ เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็จะเสด็จจากพรหมโลก เข้าไปทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคก็จะทรงยอมรับคำทูลขอร้องของท่านท้าวมหาพรหม ต่อจากนั้นก็เสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ เพื่อแสดงธรรม ชาวโลก ซึ่งส่วนมากเป็นผู้เทิดทูนพระพรหม ครั้นเห็นว่า แม้แต่พระพรหมซึ่งเป็นผู้ประเสริฐสุด ก็ยังมีความเคารพในพระธรรม ยังมีความนอบน้อมในพระตถาคต ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ตั้งใจฟังธรรมอย่างเคารพ ซึ่งข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนเหล่านั้นนั่นแหละ และพระศาสนาก็จะตั้งมั่นแผ่ไพศาลได้ แม้พระผู้มีพระภาคผู้ทรงหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทรงประสงค์ความเป็นไป อันเป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายแต่กาลก่อนทุกพระองค์ ดังกล่าวนี้แหละ เป็นประการหนึ่งด้วย จึงทรงมีพระทัยน้อมไปเพื่อขวนขวายน้อย ไม่ใช่เพื่อแสดงธรรม.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๑)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: