พิฬารวตชาตกํ-ว่าด้วยผู้เอาธรรมบังหน้า
"โย เว ธมฺมํ ธชํ กตฺวา, นิคูฬฺโห ปาปมาจเร; วิสฺสาสยิตฺวา ภูตานิ, พิฬารํ นาม ตํ วตนฺติฯ ผู้ใดแลเชิดชูธรรมให้เป็นธง แต่ซ่อนความประพฤติไม่ดีไว้ล่อผู้อื่นให้ตายใจ, ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่า เป็นความประพฤติที่หลอกลวง."
อรรถกถามูสิกชาดกที่ ๘
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า โย เว ธมฺมทฺธชํ กตฺวา ดังนี้.
ความย่อว่า ในครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หลอกลวงให้ทรงทราบแล้ว พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็หลอกลวงเหมือนกัน“ ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดหนู อาศัยความเจริญเติบโต มีร่างกายอ้วนใหญ่คล้ายกับลูกสุกรอ่อน มีหนูหลายร้อยเป็นบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในป่า. ครั้งนั้น มีหมาจิ้งจอก ตัวหนึ่ง ท่องเที่ยวไปตามประสา เห็นฝูงหนูนั้นคิดว่า „เราจักลวงกินหนูเหล่านี้“ แล้วแหงนหน้าจ้องดวงอาทิตย์สูดดม ยืนด้วยเท้าข้างเดียว ในที่ไม่ไกลกับที่อาศัยของฝูงหนู
พระโพธิสัตว์เที่ยวหากินเห็นมันแล้ว คิดว่า „หมาจิ้งจอกนี้คงเป็นผู้มีศีล“ จึงเดินไปสู่สำนักของมัน พลางถามว่า „ท่านผู้เจริญท่านชื่ออะไรเล่า? " มันตอบว่า „เราชื่อธรรมิกะ“ ถามว่า „ท่านไม่ยืนเหนือแผ่นดินสี่เท้า ยืนด้วยเท้าข้างเดียวเพราะเหตุไร? “ มันตอบว่า „เมื่อเราเหยียบแผ่นดินสี่เท้าละก็แผ่นดินไม่อาจทนอยู่ได้ เหตุนั้น เราต้องยืนเท้าเดียวเท่านั้น“
ถามว่า „ทำไมต้องยืนอ้าปากด้วยเล่า? “ มันตอบว่า „เราไม่กินอาหารอื่น กินลมอย่างเดียว“ ถามว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมจึงต้องจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยเล่า? “ มันตอบว่า „เรานอบน้อมพระอาทิตย์“ พระโพธิสัตว์ฟังคำของมันแล้ว มั่นใจว่า „สุนัขจิ้งจอกตัวนี้คงมีศีลเป็นแน่" แต่นั้นก็ไปสู่ที่บำรุงของมันกับฝูงหนู ทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า
ครั้นในเวลาที่หนูผู้โพธิสัตว์นั้นทำการบำรุงแล้วไป หมาจิ้งจอกก็จับเอาหนูตัวสุดท้าย กินเนื้อเสียแล้ว เช็ดปากยืนอยู่. ฝูงหนูบางตาลงโดยลำดับ หนูทั้งหลายปรึกษากันว่า „เมื่อก่อน พวกเราต้องเบียดเสียดกันอยู่ แทบไม่มีที่จะยืน, เดี๋ยวนี้ดูหลวม ที่อยู่แม้เท่านั้น ก็ยังไม่เต็ม นี่มันเรื่องอะไรกัน? “ แล้วพากันบอกเรื่องราวแก่พระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์คิดว่า „เหตุไรเล่าหนอ พวกหนูจึงเบาบางไป“ ตั้งข้อสงสัยในหมาจิ้งจอก ดำริว่า „ต้องสอบสวนหมาจิ้งจอกนั้นในเวลาบำรุง“ ให้พวกหนูออกหน้า ตนเองอยู่หลังเพื่อน หมาจิ้งจอกวิ่งไปสะกัด พระโพธิสัตว์ไว้
พระโพธิสัตว์เห็นมันกอดจับตน ก็หันกลับพูดว่า „เจ้าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ การบำเพ็ญพรตของเจ้านี้ มิใช่เป็นไปเพื่อความประพฤติดีปฏิบัติชอบ แต่เจ้าประพฤติแอบอ้างเอาธรรมเป็นธงขึ้นไว้ เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
„ผู้ใดแลเชิญชูธรรมให้เป็นธง ทำให้สัตว์ทั้งหลายตายใจ ซ่อนตนประพฤติชั่ว, ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่าเป็นความประพฤติที่หลอกลวง.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เว ความว่า ในหมู่ชนมีกษัตริย์เป็นต้น คนใดคนหนึ่งก็ตาม. บทว่า ธมฺมทฺธชํ กตฺวา ความว่า เทิดทูนกุศลกรรมบทสิบประการเป็นธง คือ ธรรม เสมือนว่า ตนปฏิบัติธรรมนั้นอยู่เชิดชูขึ้นแสดง. บทว่า วิสฺสาสยิตฺวา ความว่า ทำให้ฝูงสัตว์เกิดความวางใจ ด้วยสำคัญผิดว่า ผู้นี้มีศีล. บทว่า พิฬารนฺนาม ตํ วตํ ความว่า พรตของผู้ที่เทิดธรรมเป็นธงอยู่อย่างนี้แล้วซ่อนกระทำความชั่วอยู่ลับ ๆนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นพรตอันประกอบด้วยความล่อลวง.
พระยาหนูกล่าวพลาง กระโดดขึ้นเกาะคอมันไว้ กัดที่ซอกคอใต้คาง ให้ถึงความสิ้นชีวิต ฝูงหนูกลับมากัดกินหมาจิ้งจอก เสียงดังมุ่มม่ำ ๆ แล้วพากันไป ได้ยินว่า หนูพวกที่มาก่อนก็ได้กินเนื้อ พวกที่มาทีหลังก็ไม่ได้ นับแต่นั้นมาพวกหนูก็หมดภัยได้ความสุข.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า หมาจิ้งจอกในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุหลอกลวงในครั้งนี้ส่วนพญาหนูได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถามูสิกชาดกที่ ๘
ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali
0 comments: