วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

บรรยายเรื่องมงคลสูตร ๓๘ ประการ

บรรยายเรื่องมงคลสูตร ๓๘ ประการ

พหู  เทวา  มนุสฺสา  จ    มงฺคลานิ  อจินฺตยุํ,       อากงฺขมานา  โสตฺถานํ  พฺรูหิ  มํ  คลมุตฺตมํ.   พวกมนุษย์และเทวดาเป็นอันมาก หวังความสวัสดี ได้พากันคิดเรื่องมงคล ขอพระองค์ได้ทรงโปรดตรัสเรื่องมงคลแก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด.

ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสมงคล ๓๘ ประการ ดังที่มีผู้บรรยายมงคล ๓๘ ต่อเนื่องกันดังนี :-

- สาธุชนผู้หวังประโยชน์สุขทั้ง ๓ อย่าง คือ ประโยชน์สุขในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) ประโยชน์สุขในโลกหน้า (สัมปรายิกัตถประโยชน์) และประโยชน์สุขอันสูงสุด (ปรมัตถ์ประโยชน์ ) พึงละเว้นพาลชนเสีย คบหาแต่บัณฑิต, เมื่อคบหาแต่บัณฑิต ย่อมได้บูชาผู้ที่ควรบูชา.

- อันการอยู่ในประเทศที่สมควร, และความเป็นผู้ได้กระทำบุญไว้ในกาลก่อน ตักเตือนให้เกิดการฝักใฝ่ในการบำเพ็ญบุญกุศล, นำมาซึ่งตั้งตนไว้โดยชอบ.  

- เมื่อตั้งตนไว้โดยชอบแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ได้ศึกษาหาความรู้ เป็นพหูสูตคงแก่เรียน ประดับด้วยศิลปะ และประดับด้วยวินัย, ทำให้เป็นผู้รู้ในการกล่าววาจาอันเป็นสุภาษิตอันเหมาะสมแก่ความเป็นผู้มีความรู้ที่ดีนั้น.

- ยังไม่ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด ก็ชำระหนี้เก่าโดยการบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาตราบนั้น, ประกอบหนี้ใหม่ ด้วยการสงเคราะห์บุตร และภรรยา, ถึงความเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์มีประการต่าง ๆ ด้วยการงานที่ไม่คั่งค้างอากูร.

- ยึดสาระแห่งโภคะไว้ได้ ด้วยการให้ทาน และยึดเอาสาระแห่งชีวิตไว้ได้ ด้วยการประพฤติธรรม, และกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่คน ของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติ และประโยชน์เกื้อกูลแก่คนอื่น ๆ ด้วยการงานที่ไม่มีโทษ.

- งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นจากบาป, งดเว้นการทำร้ายตนเองด้วยการสำรวมระวังในการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งของความประมาท อันเป็นหนทางนำไปสู่อบาย, เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย.

- ละเพศคฤหัสถ์ด้วยการถือบวชเป็นเพศบรรพชิต ยังข้อวัตรสัมปทาให้สมบูรณ์ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้า, และมีความถ่อมตน, ละความละโมภในปัจจัยด้วยความสันโดษ, ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิ ด้วยความเป็นผู้กตัญญู, ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม.

- ครอบงำอันตรายทุกอย่างได้ด้วยขันติ, ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยการเป็นผู้ว่าง่าย, ฝักใฝ่ใคร่ที่จะเห็นสมณะผู้ทรงศีลและมีคุณธรรม, บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยเสียได้ ด้วยการสนทนาธรรม.

- ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญตบะ คือความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส, ถึงความเป็นผู้มีจิตตวิสุทธิด้วยพรหมจรรย์ อันเป็นสมณะธรรมขั้นสูง, กอรปด้วยปัญญาเป็นเครื่องเห็นอริยสัจจ์, ด้วยปฏิปทานี้ แล้วกระทำ นิพพานให้แจ้ง.

- เมื่อถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว จักเป็นผู้มีจิตไม่เดือดร้อนอะไร ๆ แม้ถูกระทบด้วยโลกธรรม ๘ ประการ, คือ เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหว, ไม่เศร้าโศก, ปลอดจากธุลี, มีจิตเกษมเป็นสุข,

- และผู้ที่มีจิต มีความเกษมปลอดโปร่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่แม้ศัตรูใด ๆ ก็ให้พ่ายแพ้ไม่ได้ ในที่ทั้งปวง จึงนับได้ว่า เป็นผู้ถึงความสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อแล.

- ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย กระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ไม่พ่ายแพ้ต่อข้าศึกในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นั่นเป็นมงคลอันสูงสุดของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

ข้าศึก ๔  :- ๑) ขันธมาร  ๒) กิเลสมาร  ๓) อภิสังขารมาร  ๔) เทวปุตตมาร.  ผู้บรรลุแล้ว มาร ๔ อย่างนี้ ทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้เลย ฯ  

                  มงคล ๓๘ ประการ 

๑) อเสวนา จ พาลานํ         ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา

ปูชา จ ปูชนียานํ             เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๒) ปฏิรูปเทสวาโส จ           ปุพฺเพกตปุญฺญตา

อตฺตสมฺมาปณิธิ จ          เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๓) พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ    วินโย จ สุสิกฺขิโต

สุภาสิตา จ ยา วาจา      เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๔) มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ          ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห

อนากุลา จ กมฺมนฺตา      เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๕) ทานญฺจ ธมฺมจริยาจ       ญาตกานญฺจ สงฺคโห

อนวชฺชานิ กมฺมานิ         เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๖) อารตีวิรตี ปาปา              มชฺชปานา จ สญฺญโม

อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ      เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๗) ขนฺตี จ โสวจสฺสตา        สมณานญฺจ ทสฺสนํ

กาเลน ธมฺมสากจฺฉา      เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๘) คารโว จ นิวาโต จ          สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา

กาเลน ธมฺมสฺสวนํ          เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๙) ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ      อริยสจฺจานทสฺสนํ

นิพฺพานสจฺฉิกิริยา          เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๑๐) ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ     จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ

อโสกํ วิรชํ เขมํ              เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ.

๑๑) เอตาทิสานิ กตฺวาน       สพฺพตฺถมปราชิตา

สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงคลมุตฺตมํ.

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: