มงคลที่ ๖ การตั้งตนชอบ - อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ ๏ ต้องตั้งตนกายใจในทางถูก เร่งฝังปลูกตนไว้ให้ถูกหลัก เมื่อตัวตนยังมีเป็นที่รัก ควรพิทักษ์ให้งามตามเวลา ๛
การตั้งตนชอบ หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน.
ที่มา : http://www.dhammathai.org
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การตั้งตนไว้ชอบ เป็นอุดมมงคล
บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๖ ตามพระบาลี อรรถกถาว่า จิตก็ดี อัตภาพทั้งปวงก็ดี ที่มีขึ้นแล้ว เรียกว่าตัวตน จิตและอัตภาพทั้งปวงนั้น ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ถึงซึ่งความเวียนว่ายอยู่ในสงสาร มีความแก่เจ็บ ตายเป็นต้น จึงเรียกว่าตัวตนในที่นี้ บุคคลใดตั้งตัวตนไว้ในที่ชอบประกอบตัวตนไว้ในที่มีศีลเป็นต้น เรียกว่าอัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ในที่ดีที่ชอบประกอบในสัมมาปฎิบัติ.
อธิบายว่า บุคคลทั้งหลายใดที่ไม่มีศรัทธาความเชื่อ มาทำตนให้เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นคนไม่มีศีลมาทำตนให้เป็นคน มีศีล ๑ เป็นคนมัจฉริยไม่บริจากทาน มาทำตนให้เป็นผู้บริจากทาน ๑ เป็นคนมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด มาทำตนให้เป็นสัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบ ๑ เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ เป็นผู้ตั้งตนไว้ในที่ดีที่ชอบ ประกอบในทางกุศลที่จะยกตนให้พ้นอบาย ถามว่า คนที่ไม่มีศรัทธาต้องไปอาศัยอะไร แก้ว่าต้องไปอาศัยกัลยาณมิตร คบคนที่มีจิตเป็นกุศล จะชักนำตนให้มีศรัทธา จะชักนิทานมาว่า อะตีเต กิระ ดังจะได้ฟังมาว่า ในกาลก่อนพระพุทธเจ้าของเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ไปอุบัติบังเกิดในตระกูลพวกมิจฉาทิฏฐิ ภายนอกพระพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์ก็ถือไปตามบิดามารดา ไม่มีความศรัทธาเลื่อมใส.
ครั้นได้สหายคนหนึ่งเป็นอุบาสก นับถือพระศาสนาจึงชักพาพระโพธิสัตว์ให้มาสู่สำนักพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ได้ฟังธรรมเทศนา จึงมีจิตศรัทธาบังเกิดในสันดาน คิดจำแนกแจกทางก่อสร้างกองการกุศล เหตุที่คบคนเป็นกัลยาณมิตร จึงทำจิตให้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สดับฟังพระธรรมเทศนาแสวงหาทางโพธิญาณความตรัสรู้ ที่จะเป็นพระสัพพัญญูในเบื้องหน้า ดังวิสัชนามาฉะนี้ เรียกว่าอัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ในที่อันดีประการหนึ่ง...
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: