เป็นเมืองกรุงทุ่งนาหรือป่าใหญ่ ทางมาไปครบครันธัญญาหาร มีคนดีที่ศึกษาพยาบาล ปลอดภัยพาลควรอยู่กินถิ่นนั้นแล.
ถิ่นอันสมควร ควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม ๔ อย่างได้แก่ :- ๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึงอยู่แล้วสบาย เช่นสะอาด เดินทางไปมาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุขเป็นต้น ๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึงอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่นมีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น ๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึงที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพลเป็นต้น ๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึงมีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรมเช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้เป็นต้น
ที่มา : http://www.dhammathai.org
"ปฏิรูปเทสวาโส เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การอยู่ในประเทศที่เหมาะสม เป็นอุดมมงคล"
บัดนี้ จะได้วิสัชนาในมงคลที่ ๔ ตามพระบาลีว่า "ปฏิรูปเทสวาโส นาม จตสฺโส ปริสา เย ปเทเส พุทฺธสาสนสฺส ปติฏฺฐิเต ปฎิวสนฺติ" อธิบายความว่า บริษัททั้ง ๔ มีอยู่ในประเทศใด ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา ประเทศนั้นชื่อว่าปฏิรูปเทส เป็นประเทศอันสมควร จัดเป็นมงคลอันประเสริฐแท้จริง ปฏิรูปเทสนั้นท่านประสงค์เอามัชฌิมประเทศ มีสัณฐานดังตะโพน วัดกลมโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ในท่ามกลางแห่งแผ่นดิน เป็นที่บังเกิดแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นต้น
มีพระยาบรมจักรพรรดิ์เป็นที่สุด ที่นั้นเป็นปฏิรูปเทสแท้ อีกนัยหนึ่งท่านว่า ประเทศใดที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำสั่งสอน อุบาสก อุบาสิกาให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ นับถืออุโบสถในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ให้ทำเนือง ๆ ไม่ขาดประเทศนั้นก็จัดเข้าในปฏิรูปเทส ความว่า บุคคลผู้ใดอยู่ในปฏิรูปเทส ย่อมได้อนุตตริยะ ๖ ประการ
ที่ ๑ ทัสสนานุตตริยะ ความเห็นอันประเสริฐ คือ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ฆ่ากิเลสตายทำลายกิเลสหลุด ถึงวิมุตติ ตรัสรู้ซึ่งพระอริยสัจทั้ง ๔ ด้วยพระองค์เอง หรือได้เห็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ปฏิบัติดี พร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญา
ที่ ๒ สะวะนานุตตริยะ ความได้ฟังอันประเสริฐ คือได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสเทศนาเอง หรือได้ฟังธรรมของสาวกแห่งพระพุทธเจ้าเทศนา
ที่ ๓ ลาภานุตตริยะ ความได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ศรัทธาความเลื่อมใส ในคุณแห่งพระพุทธเจ้า หรือได้ความเชื่อความเลื่อมใส ในสาวกแห่งพระพุทธเจ้า
ที่ ๔ สิกขานุตตริยะ ความได้ศึกษาอันประเสริฐ คือ ศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไตรสิกขาทั้ง ๓ ตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่ตรัสด้วยพระองค์เอง
ที่ ๕ ปาริจะยานุตตริยะ ความบำรุงบำเรออันประเสริฐ คือบำรุงบำเรอซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง หรือบำรุงบำเรอซึ่งสางกของพระพุทธเจ้า
ที่ ๖ อะนุสสะตานุตตริยะ ความระลึกอันประเสริฐ คือ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์เ้ป็นต้น หรือระลึึกถึงสาวกของพระพุทธเจ้า ๑ อนุตตริยะทั้ง ๖ นี้ ย่อมมีแก่บุคคลผู้อยู่ในปฏิรูปเทส...
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: