วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ออกบิณฑบาต-ฆาตระฆัง-กระทั่งกลองเพล" โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ออกบิณฑบาต-ฆาตระฆัง-กระทั่งกลองเพล

พระพุทธศาสนาประจำชาติภาคปฏิบัติ

การรณรงค์หรือความพยายามที่จะให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เคยมีคนทำกันมา และขณะนี้ก็ยังมีคนพยายามทำกันอยู่  ความพยายามนี้จะสำเร็จเมื่อไร ตอบไม่ได้ สาเหตุที่ตอบไม่ได้ก็เพราะมีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนทำ หรือมีก็น้อย ส่วนมากชอบแย้ง ชอบขัด แต่ไม่ช่วยทำ ไม่ร่วมมือ ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ นี่คือคนไทย-คนพุทธ

การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” นั้น ควรเรียกว่าศาสนาประจำชาติภาคทฤษฎี คือเขียนไว้เป็นตัวหนังสือ แต่ศาสนาประจำชาติภาคปฏิบัติ คือที่เป็นของจริง เห็นได้ สัมผัสได้ ทำกันได้จริงๆ อยู่ที่ไหน? เราให้ความสำคัญในแง่นี้กันบ้างหรือเปล่า   เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แต่ชีวิตประจำวันหรือชีวิตจริงของคนไทยก็ยังคงทำอะไรปฏิบัติอะไรๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบผิดๆ ถูกๆ อยู่เหมือนเดิม จะได้ประโยชน์อะไร

ผมกำลังชักชวนว่า ที่พยายามจะให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ก็ยังคงช่วยกันทำต่อไป ไม่เลิก แต่พร้อมกันนั้น กิจวัตรกิจกรรมที่ประกาศให้โลกรู้ว่านี่คือพระพุทธศาสนา หรือ “พระพุทธศาสนาประจำชาติภาคปฏิบัติ” ก็ต้องทำกันด้วย ไม่ต้องรอ   อันที่จริง กิจวัตรกิจกรรมที่เป็นพระพุทธศาสนาประจำชาติภาคปฏิบัตินั่นแหละที่เป็นตัวจริงของจริง   อุปมาให้จั๊กกะจี้สักหน่อยก็ว่า-เหมือนชายหญิงอยู่ด้วยกัน นอนด้วยกัน ทำอะไรด้วยกันในชีวิตประจำวัน-นั่นแหละคือเป็นผัวเมียกันแล้วจริงๆ ส่วนจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่จดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   พระพุทธศาสนาประจำชาตินั้นเราต้องเอาทั้งสองแบบ คือจดทะเบียนด้วย แล้วก็อยู่กินกันจริงๆ ด้วย

เรื่องจดทะเบียนก็พยายามทำไป แต่เรื่องอยู่กินกันก็ต้องทำกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าต้องรอจดทะเบียนก่อนจึงจะนอนด้วยกันได้   ผมว่าที่ผ่านมาเราพลาดตรงนี้อยู่หน่อยหนึ่ง คือทุกคนพากันเล็งไปที่จุดเดียว-พยายามจะให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แต่แทบจะไม่ได้เอาใจใส่เน้นย้ำเรื่องกิจวัตรกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกว่านี่คือพระพุทธศาสนาประจำชาติ บางเรื่อง-หลายเรื่องพากันปล่อยปละละเลยเสียด้วยซ้ำ

ที่ผู้รู้ท่านท้วงติงเรื่องบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็เพราะท่านเป็นห่วงตรงนี้-ตรงที่พวกเราจะพากันประมาทชะล่าใจคิดว่าพระพุทธศาสนาของเรามั่นคงแล้ว ก็เลยไม่ทำกิจวัตรกิจกรรมอันเป็นตัวพระศาสนาจริงๆ  แล้วเราก็ประมาทชะล่าใจกันจริงๆ ด้วย-ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” นั่นเอง.  เอาละ เป็นอันว่าเราจะมาช่วยกันทำพระพุทธศาสนาประจำชาติภาคปฏิบัติกัน.  

กิจวัตรกิจกรรมอันเกี่ยวกับพระศาสนาจริงๆ ที่น่าจะทำได้คืออะไรบ้าง

ที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ ใครอ่านแล้วจะว่าเป็นเรื่องตลกก็เชิญว่าได้ตามสบาย แต่ผมเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ทำได้จริงในชีวิตประจำวัน ปู่ย่าตายายของเราท่านทำกันมาแล้ว เราในปัจจุบันก็เคยทำกันมาแล้ว หลายๆ พื้นที่-โดยเฉพาะในชนบท-ยังคงทำกันอยู่ เป็นการปฏิบัติที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ทุกอย่างมีอยู่พร้อมแล้ว ขาดอยู่อย่างเดียวคือ การมองเห็นความสำคัญหรือการให้ค่าแก่สิ่งนั้น.  ที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ก็อยู่ในชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ข้างต้น ออกบิณฑบาต-ฆาตระฆัง-กระทั่งกลองเพล ผมขออนุญาตเสนอให้คณะสงฆ์สั่งการดังต่อไปนี้ 

(๑) ออกบิณฑบาต

ให้พระภิกษุสามเณรทุกวัดทุกรูปที่สามารถเดินเหินได้ตามปกติออกบิณฑบาตทุกวัน เว้นแต่วันที่มีกิจนิมนต์ กิจอื่น-แม้แต่กิจในหน้าที่ที่มักอ้าง เช่นเป็นเจ้าคณะ เป็นเลขาฯ นั่นนี่โน่น มีงานเยอะ มัวแต่ออกบิณฑบาตก็ทำงานไม่ทัน เลิกอ้างได้แล้ว ทุกวันนี้พระบางระดับไม่ออกบิณฑบาต ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่โปรดเข้าใจเถิดว่านั่นคือหายนะของระบบวิถีชีวิตสงฆ์ การออกบิณฑบาตเป็นพุทธประเพณี ต้องถือว่าเป็นกิจสำคัญ จัดไว้เป็นลำดับต้น กิจอื่นๆ อยู่ในลำดับรอง  โลกทั้งโลกจะได้รู้ว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รู้ได้ตรงไหน รู้ได้ตรงที่พระเณรออกบิณฑบาตกันทั้งประเทศทุกเช้า คนไทยใส่บาตรกันทั้งประเทศ 

(๒) ฆาตระฆัง

ให้ทุกวัดเคาะระฆังวันละ ๒ เวลา คือเช้าแปดโมง เย็นห้าโมง และให้พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นตามเวลาที่เคาะระฆัง เฉพาะในพรรษาให้เคาะระฆังและทำวัตรสวดมนต์ในเวลาตีสี่เพิ่มขึ้นอีกเวลาหนึ่ง การอ้างกิจอื่นๆ ให้ใช้หลักการเดียวกับการออกบิณฑบาต  โลกทั้งโลกจะได้รู้ว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รู้ได้ตรงไหน รู้ได้ตรงที่มีเสียงระฆังดังทั่วประเทศทุกเช้าทุกเย็น พระเณรและชาวบ้านไหว้พระสวดมนต์กันทั้งประเทศ คนไทยได้ยินเสียงระฆังมาตั้งแต่เกิด จึงไม่มีไทยใจเตลิดออกมาด่าว่าเสียงระฆังหนวกหู

(๓) กระทั่งกลองเพล

ให้ทุกวัดตีกลองเพลในเวลา ๑๑:๐๐ ตรงทุกวัน ไม่ต้องอ้างว่าสมัยนี้เครื่องบอกเวลามีอยู่เกลื่อนไปตีทำไมกลองเพล ตีกลองเพลเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเมืองพุทธประการหนึ่ง เป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดกุศลจิตอีกประการหนึ่ง กระตุ้นเตือนอย่างไร? เช้าเห็นพระเณรออกบิณฑบาต กระตุ้นเตือนให้ใส่บาตร เพลได้ยินเสียงกลองเพล กระตุ้นเตือนให้จัดหาภัตตาหารถวายเพลพระ ไม่ได้เกณฑ์ว่าจะต้องมีใครจัดใครหา แต่เป็นการกระตุ้นศรัทธาให้เกิด  โลกทั้งโลกจะได้รู้ว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รู้ได้ตรงไหน รู้ได้ตรงที่มีเสียงกลองเพลดังทั่วประเทศทุกวัน บอกเวลาฉันจังหันของพระเณร คนไทยทำบุญทั้งเช้าทั้งเพลทุกวัน

ข้อเสนอทั้ง ๓ เรื่องนี้ เป็นการนำพระพุทธศาสนาที่เป็นรูปธรรม หรือที่เป็นวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตออกเสนอสู่สายตาโลก แม้จะเป็นเปลือก แต่เป็นประตูนำเข้าสู่พระพุทธศาสนาที่เป็นนามธรรมต่อไป กิจกรรมที่เป็นการศึกษาและปฏิบัติธรรมก็เข้ามารับช่วงต่อไปอีก

ผมบังคับคณะสงฆ์ไม่ได้ จึงได้แต่นำเสนอ คณะสงฆ์ไม่ได้ยิน ก็แล้วไป ได้ยิน แต่ไม่สนใจ ผมก็ว่าอะไรไม่ได้ ผมไม่มีอะไรจะต้องเสีย เพราะถึงอย่างไรๆ ผมก็ยังคงมีช่องทาง มีโอกาส มีเวลาทำทางไปสู่สุคติและมรรคผลสำหรับตัวเองได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ผมไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรในการบริหารการพระศาสนา ผมพยายามช่วยคิดในฐานะเป็นชาวพุทธอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ท่านที่มีตำแหน่ง มีหน้าที่ ถ้าท่านกำลังทำงานเพื่อพระศาสนาอยู่ ผมขออนุโมทนาอย่างยิ่ง แต่ท่านที่ไม่คิดจะทำอะไร อยู่ไปเรื่อยๆ ท่านไม่รู้สึกกระดากบ้างหรือ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๔:๒๑




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: