วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กลณฺฑุกชาตกํ-ว่าด้วยสกุลของนายกลัณฑุกะ

กลณฺฑุกชาตกํ-ว่าด้วยสกุลของนายกลัณฑุกะ

"เต  เทสา  ตานิ  วตฺถูนิ,   อหญฺจ  วนโคจโร;    อนุวิจฺจ  โข  ตํ  คณฺเหยฺยุํ,  ปิว  ขีรํ  กลณฺฑุกาติฯ   สกุลของท่านไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของท่าน  ทราบแน่แล้วพึงจับท่านไป ดูกรนายกลัณฑุกะ ท่านจงดื่มน้ำนมเสียเถิด."

อรรถกถากลัณฑุกชาดกที่ ๗

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า เต เทสา ตานิ วตฺถูนิ ดังนี้.

เรื่องแม้ทั้งสองในชาดกนั้น ก็เช่นเดียวกันกับกฏาหกชาดกนั้นแหละ แต่ในชาดกนี้ ทาสของพาราณสีเศรษฐีผู้นี้มีชื่อว่ากลัณฑุกะ ในเวลาที่เขาหนีไปครอบครองธิดาของปัจจันตเศรษฐี อยู่ด้วยบริวารเป็นอันมาก พาราณสีเศรษฐี แม้จะให้คนเที่ยวสืบหา ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป จึงส่งนกแขกเต้าผู้อยู่กับตนไปว่า „ไปเถิด ไปสืบหากลัณฑุกะให้ทีเถิด“

ลูกนกแขกเต้าเที่ยวไปเรื่อย ๆ จนถึงนครนั้น ในกาลนั้น กลัณฑุกะประสงค์จะเล่นน้ำ ให้คนถือเอาดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้กับขาทนียะและโภชนียะเป็นอันมากไปสู่แม่น้ำ นั่งเรือกับเศรษฐีธิดาเล่นน้ำอยู่   ก็ในประเทศถิ่นฐานนั้น เมื่อเจ้านายใหญ่โต เล่นกีฬาในน้ำจะดื่มนมสด แกล้มด้วยเภสัชที่มีรสเข้ม เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกนั้นเล่นน้ำตลอดวันความหนาวก็ไม่เบียดเบียนได้   แต่กลัณฑุกะนี้ ถือถ้วยนมสดบ้วนปากแล้วถ่มนมสดนั้นทิ้งเสีย แม้เมื่อจะถ่มทิ้ง ก็ไม่ถ่มลงในน้ำ ถ่มลงบนหัวของเศรษฐีธิดาอีกด้วย

ฝ่ายลูกนกแขกเต้าบินถึงฝั่งแม่น้ำ ก็เกาะอยู่ที่กิ่งมะเดื่อกิ่งหนึ่ง ค้นดู ก็จำกลัณฑุกะได้เห็นกำลังถ่มรดศีรษะธิดาเศรษฐีอยู่ ก็กล่าวว่า „แนะเจ้าทาสกลัณฑุกะชาติชั่ว จงสำนึกถึงชาติกำเนิดแลพื้นเพของตนบ้างเถิด อย่าเอานมสดมาล้างปากแล้วถ่มรดศีรษะ เศรษฐีธิดาผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จำเริญด้วยความสุขเลย ช่างไม่รู้ประมาณตนเลยนะ“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :- 

„สกุลของเจ้าไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของเจ้าทราบแน่แล้ว ก็พึงจับเจ้าไป ดูราเจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มน้ำนม เสียเถิด.“ 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต เทสา ตานิ วตฺถูนิ ดังนี้ ลูกนกแขกเต้ากล่าวหมายถึงท้องแห่งมารดา ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า เจ้าอยู่ประดิษฐานอยู่แล้วในประเทศเหล่าใดประเทศเหล่านั้นมิใช่เป็นท้องของอิสระชน มีธิดากษัตริย์เป็นต้นดอก ที่แท้เจ้า อยู่แล้ว เจริญเติบโตแล้วในท้องนางทาสีต่างหาก.     ด้วยบทว่า อหญฺจ วนโคจโร นี้ นกแขกเต้าแสดง ความว่า ถึงเราจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังรู้ความนี้เลย.    บทว่า อนุวิจฺจ โข ตํ คณฺเหยฺยุํ ความว่า เมื่อเราไปบอกกล่าวถึงการประพฤติมารยาทอันเลวทรามอย่างนี้แล้ว พวกเจ้านายของเจ้า พิจารณาดูรู้แล้ว พึงจับเจ้าไป คือเกาะกุมตัวเจ้าไปเฆี่ยนและทำการตีตราเครื่องหมายทาสเป็นแน่ เพราะเหตุนั้น เจ้าจงประมาณตัว ดื่มนมสดไม่ถ่มรดศีรษะของธิดาท่านเศรษฐี นกแขกเต้าเรียกเขาโดยชื่อว่า กลัณฑุกะ

ฝ่ายกลัณฑุกะเล่าก็จำลูกนกแขกเต้าได้ ด้วยความกลัวว่า „มันพึงเผยเรื่องของเรา จึงเชิญว่า มาเถิดนายท่านมาเมื่อไรเล่า ?"  แม้นกแขกเต้าเล่าก็รู้ว่า „เจ้านี่ไม่ได้เรียกเราด้วยความปรารถนาดี แต่มีความประสงค์จะบิดคอเราให้ตาย“ จึงกล่าวว่า „เราไม่มีธุระกับเจ้า" ดังนี้แล้ว โดดจากที่นั้นไปสู่พระนครพาราณสีเล่าเรื่องราวตามที่ตนเห็นมาให้ท่านเศรษฐีฟังโดยพิสดาร  ท่านเศรษฐีคิดว่า „มันทำไม่สมควรเลย“ จึงลงอาชญาแก่เขา นำตนมาสู่พระนครพาราณสีตามเดิมแล้วใช้สอยอย่างทาสสืบไป.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า กลัณฑุกะในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถากลัณฑุกะชาดกที่ ๗

ที่มา: Palipage: Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: