สันโดษ กับไม่สันโดษ เป็นอย่างไร? ต้องเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูก
“ขอยกเรื่องสันโดษเป็นตัวอย่าง เพราะสันโดษเป็นตัวหนุนการเจริญสมาธิอย่างสำคัญ ที่จริงไม่ใช่หนุนเฉพาะสมาธิเท่านั้น แต่หนุนการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจําวัน
สันโดษนี้เราจะปฏิบัติไปทำไม? คนที่สันโดษจะมีลักษณะที่สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย มีวัตถุแค่ไหนก็สุขได้หมด ตรงข้ามกับคนที่ไม่สันโดษ ซึ่งไม่รู้จักมีความสุข เพราะสุขไม่ได้ด้วยวัตถุที่มี หมายความว่า ความสุขอยู่ที่สิ่งที่ยังไม่ได้ คนไม่สันโดษ คือจะสุขด้วยสิ่งที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็ยังไม่สุขสักที เพราะสุขด้วยสิ่งที่ยังไม่ถึง ยังไม่ได้ ส่วนคนที่สันโดษ ก็คือสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย แล้วสุขด้วยสิ่งที่มี อะไรมีแล้ว ก็สุขได้ทั้งนั้น
แต่ความสุขก็ไม่ใช่ผลที่ต้องการของสันโดษ ถ้าใครไปเข้าใจว่า สันโดษเพื่อความสุข หรือสันโดษแล้วจะได้มีความสุข ก็ผิดอีก กลายเป็นสันโดษนอน คือจะเป็นสันโดษแบบสมาธิ ที่ไม่ส่งผลต่อในกระบวนการของไตรสิกขา ที่ทำให้นั่งนิ่งเสวยความสุข สันโดษก็เหมือนกัน สันโดษแบบที่ว่าสุขง่ายด้วยวัตถุน้อยแล้วจบที่ความสุข ก็นอนสบาย ทีนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ฉันสุขแล้วพอ ก็หยุด ไม่ส่งผลต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขา ใช้ไม่ได้ ไตรสิกขาต้องเดินหน้า
สันโดษจะส่งผลอย่างไรในกระบวนการของไตรสิกขา โยมต้องมีคำตอบว่า มันส่งผลต่อไปอย่างไร ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ของสันโดษ มันเป็นผลที่พ่วงมาในตัวเอง พอเราสันโดษ เราก็มีสุข เพราะสันโดษก็คือพอใจและช่วยทำให้จิตสงบ ไม่กระวนกระวาย ไม่เร่าร้อน
ตอนนี้ถ้าใช้เป็น มันก็มากลับเป็นตัวเสริมอีก พอเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ใจเราสบายสงบแล้ว ไม่ทุรนทุราย เราก็พร้อมที่จะเอาใจมาอยู่ในกระบวนการปฏิบัติ สันโดษที่ส่งผลในกระบวนการปฏิบัติคืออย่างไร ตอนนี้ก็นอกเรื่องไปนิดหนึ่ง คือ ออกจากเรื่องสมาธิมาพูดเรื่องสันโดษ มาดูคนไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษจะมีความสุขด้วยวัตถุที่ยังไม่ได้ เขาก็ต้องตะลอนวิ่งหาสิ่งที่ยังไม่มี เมื่อเขาวิ่งหาวัตถุที่ยังไม่มีเพื่อจะมีความสุข เขาก็ไม่สุขสักที
๑. ความสุขจากวัตถุ เขาก็ยังไม่มี ๒. เขาต้องวิ่งพล่านหาความสุข ก. ใช้เวลาหมดไปกับการที่จะหาวัตถุมาเสพ ข. ใช้แรงงานหมดเปลืองไปกับการหาสิ่งเสพ ค. ครุ่นคิดอยู่แค่ว่าจะหาอะไรมาเสพ พรุ่งนี้จะไปเสพอะไรที่ไหน จะบริโภคอะไรให้มีความสุข
เป็นอันว่า สำหรับคนที่ไม่สันโดษ เขาจะใช้เวลา ใช้แรงงาน และใช้ความคิดหมดเปลืองไปกับการพยายามหาวัตถุมาเสพ แล้วเวลา แรงงาน และความคิด ก็ไม่พอที่จะหาสิ่งเสพมาบำรุงความสุข เมื่อเวลาไม่พอ ก็เบียดบังเวลาทำการทำงานทำหน้าที่ของตัว เพื่อเอาเวลานั้นไปหาสิ่งเสพบำรุงสุข
การจะได้สิ่งเสพ ก็ต้องใช้เงินทอง เงินทองไม่พอ ก็จะต้องไปเบียดบังทำทุจริตเพื่อเอาเงินไปหาซื้อสิ่งเสพ ยิ่งกว่านั้น ที่สำคัญคือ เวลาทำงานใจก็ไม่อยู่กับงาน ใจก็คิดแต่จะไปหาสิ่งเสพ เพราะยังไม่ได้ความสุขที่ต้องการ ก็ทำงานด้วยความฝืนใจ ทุกข์ทรมานใจในการทำงาน และไม่มีสมาธิ ตกลงว่า ความสุขจากวัตถุ ก็ยังไม่ได้ แล้วเวลาทำงาน ก็ทำด้วยความทุกข์ทรมานใจ เวลา แรงงานและความคิดก็หมดเปลืองไปกับการพยายามหาสิ่งเสพ แล้วยังล่อให้ทำทุจริตอีกด้วย หมดเลย คนไม่สันโดษมีแต่เสีย
คนสันโดษเป็นอย่างไร? คนสันโดษสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย มีอะไร แกก็สุขได้ทันที ความสุขจากวัตถุก็ได้แล้ว ที่สำคัญก็คือ แกไม่ต้องเอาเวลา แรงงานและความคิดไปใช้ในการพยายามวิ่งแร่หาความสุขจากการเสพ เวลาแรงงานและความคิดจึงมีอยู่เหลือเฟือ เมื่อเวลา แรงงาน และความคิดที่ออมไว้ได้ มีอยู่มากมาย ก็เอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นมาทุ่มเทให้กับการทำสิ่งที่ดีงาม ที่ทางพระท่านเรียกว่ากุศลธรรม ถ้าเป็นชาวบ้านญาติโยม ก็เอามาใช้ทำงานทำการ ทำหน้าที่ ทำประโยชน์ ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็เอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นมาใช้ในการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติค้นคว้าสั่งสอนเผยแผ่ธรรม ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่ธรรมได้เต็มที่
รวมแล้ว เราก็บำเพ็ญกิจหน้าที่ของเราได้เต็มที่ แล้วยังมีความสุขจากการทำงานหรือการปฏิบัติหน้าที่นั้นอีก เพราะเรารักงาน ชอบงาน มีความพอใจในกุศลธรรม ในการทำสิ่งที่ดีงาม เราทำงานปฏิบัติหน้าที่ไป เราก็มีความสุข สุขจากวัตถุเสพ เราก็ได้ สุขจากการทำงานทำการ เราก็ได้ แล้วเรายังมีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือที่จะมาทำงาน ทำสิ่งที่ดีงามสร้างสรรค์อีก ดีทุกอย่าง
จุดที่ต้องย้ำก็คือ สันโดษจะพลาดตอนที่ไม่มีจุดหมาย กลายเป็นสันโดษด้วนลอย มันด้วนและลอยตอนที่ว่า สันโดษแล้วจะได้ความสุข ก็เลยนอนสบาย ถ้าอย่างนั้นก็เป็นสันโดษขี้เกียจ ใช้ไม่ได้ สันโดษที่ว่าส่งผลในกระบวนการไตรสิกขา โยมจะเห็นว่า พอเราสันโดษถูกต้อง ก็จะส่งผลทำให้เรายิ่งพร้อมที่จะบำเพ็ญกุศลธรรม เพราะเรามีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือ เราก็เอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นมาทุ่มเทให้กับการทำกิจหน้าที่ ทำความดีงามสร้างสรรค์ บำเพ็ญกุศลธรรม ก้าวหน้าไปในไตรสิกขา นี่แหละสันโดษที่ถูกต้อง ส่งผลต่อไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษที่ไหน พระองค์จะไม่ตรัสไว้ด้วนๆ พระองค์จะตรัสต่อ เช่นในหลักธรรมชุดหนึ่งเรียกว่า อริยวงศ์ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า (ที.ปา.๑๑/๒๓๗/๒๓๖)
๑. ภิกษุสันโดษในจีวร ๒. ภิกษุสันโดษในอาหารบิณฑบาต ๓. ภิกษุสันโดษในที่อยู่อาศัย ๔. ภิกษุยินดีในการละอกุศลธรรมและบำเพ็ญกุศลธรรม
นี่คือ ๓ ข้อต้น มาหนุนข้อสุดท้าย พอสันโดษแล้ว ภิกษุก็มีเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะมาบำเพ็ญข้อที่ ๔ เช่น จะเจริญสมาธิและวิปัสสนา หรือจะเล่าเรียนปริยัติ จะเผยแผ่ธรรม ก็อุทิศตัวได้เต็มที่ สันโดษนี้ ถ้าไม่ตรัสไว้กับการบำเพ็ญกุศลธรรมและละอกุศลธรรม พระพุทธเจ้าก็จะตรัสไว้คู่กับความเพียร ในหลักธรรมชุดไหนมีสันโดษ หลักธรรมชุดนั้นจะมีความเพียรด้วย อันนี้เป็นหลักทั่วไป เพราะมันจะมาหนุนกัน คนที่สันโดษ ก็พร้อมที่จะเพียร
ยิ่งกว่านั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสสำทับไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม โยมต้องจำไว้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนแต่สันโดษ ถ้าถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษใช่ไหม? โยมต้องตอบว่า ต้องแยกแยะก่อน ยังไม่ใช่อย่างนั้น
ถ้าไปตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษ ก็ยังไม่ถูก เพราะพระพุทธเจ้าสอนทั้งสันโดษและไม่สันโดษ การตอบให้ถูกในกรณีอย่างนี้ ท่านเรียกว่า วิภัชชวาท คือ ต้องจำแนกแยกแยะออกไป คือ ถ้าเขาถามว่า “พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษใช่ไหม?” เราก็ตอบว่า “ใช่ก็มี ไม่ใช่ก็มี” ที่ว่า “ใช่” คืออย่างไร? คือ พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษในวัตถุเสพ หรือในวัตถุบำรุงบำเรอ ที่ว่า “ไม่ใช่” คืออย่างไร? ท่านไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะพระองค์ไม่สันโดษในกุศลธรรม พระองค์จึงตรัสรู้ ดังที่ตรัสไว้ว่า (องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑/๖๔) “ภิกษุทั้งหลาย เรารู้เข้าถึงคุณของธรรม ๒ อย่าง คือ ๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ๒. ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร ดังนี้แล โพธิญาณอันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท.”
พระพุทธเจ้าทรงบรรยายถึงการที่พระองค์ทรงไม่สันโดษและมีความเพียร ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ พระองค์ก็ไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์เสด็จไปยังสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ที่เล่าไปแล้ว ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ แล้วไปสำนักอุททกดาบส รามบุตร ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ จบสมาบัติ ๘ ถ้าพระองค์สันโดษ พอใจ ก็จบเท่านั้น อยู่แค่สมาธิ ก็ไม่ตรัสรู้ แต่พระพุทธเจ้าทรงไม่สันโดษ ไม่อิ่ม ไม่พอในกุศลธรรม ถ้าไม่บรรลุจุดหมาย ก็ไม่หยุด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงออกจากสำนักของพระอาจารย์เหล่านั้น แล้วไปบำเพ็ญเพียรต่อ ทรงก้าวสู่ปัญญา จนถึงโพธิ จึงตรัสรู้ พระองค์จึงตรัสไว้ว่า ที่พระองค์ได้ตรัสรู้นี้ ได้เห็นคุณค่าของความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
ถ้าเราสันโดษในวัตถุเสพ มันก็จะมาหนุนให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เราก็จะเอาเวลา แรงงานและความคิดมาทุ่มเทในการเพียรพยายามบำเพ็ญกุศลธรรม ทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป จึงเห็นได้ชัดว่า สันโดษในวัตถุเสพ ก็เพื่อให้พร้อมที่จะเพียร และให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็เพื่อให้มุ่งหน้าไปในความเพียร เป็นอันว่า ทั้งสันโดษ และไม่สันโดษ ก็เพื่อหนุนความเพียร”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ที่มา : ปาฐกถาธรรม แสดงที่ วัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จากหนังสือ “สมาธิแบบพุทธ”
0 comments: