วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ภังคานุปัสสนาญาณ”

“ภังคานุปัสสนาญาณ”

การกระทำไว้ในใจว่า “สิ่งที่ยังไม่ดับ นั่นแหละกำลังดับ, สิ่งที่ยังไม่แตก นั่นแหละกำลังแตก” แล้วปล่อยจิตจากนิมิตแห่งความเกิดและความตั้งอยู่แห่งสังขารทั้งปวง พิจารณาดูแต่ความแตกแห่งสังขารทั้งปวงอย่างเดียวเนืองๆว่า “สังขารทั้งปวงแตกอยู่ๆ”

เหมือนการคอยมองดูความแตกของภาชนะเก่าๆที่คนกำลังทุบ หรือเหมือนการคอยมองดูความแตกกระจายของฝุ่นละเอียดที่คนกำลังโปรย หรือเหมือนการคอยมองดูความแตกของเมล็ดงาที่คนกำลังคั่ว นี้เรียกว่า “ภังคานุปัสสนาญาณ” ปัญญาตามรู้เห็นความแตกดับแห่งสังขารทั้งปวงเนืองๆ

มีพลานิสงส์ ๘ ประการ คือ  

๑.​​ ละภวทิฏฺฐิได้ (ละการเห็นว่ามีภพอันเป็นอมตะได้)   

๒. สละความใยดีในชีวิตได้   

๓. ได้ประกอบภาวนาอันชอบทั้งกลางวันทั้งกลางคืน  

๔. มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ (ช่วยให้ดำเนินชีวิตแบบคนมีศีลได้บริบูรณ์)  

๕. ละความขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ในภายนอกได้ (ใจไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอก)  

๖. เป็นผู้ปราศจากความกลัว  

๗. ได้ทดสอบความอดทนและความยินดีแต่พอดี (ได้ทดสอบขันติโสรัจจะ)  

๘. สามารถอดกลั้นต่อความลำบากในการบำเพ็ญอธิกุศล (ความลำบากในการบำเพ็ญฌานและวิปัสนา)  และสามารถอดกลั้นต่อความยินดีในอกุศล (ความยินดีในกามคุณ) ได้

ดังพระพุทธพจน์ว่า “พระมุนีผู้สำคัญตนว่า “เป็นเหมือนคนที่มีผ้านุ่งผ้าห่มและมีศีรษะถูกไฟไหม้อยู่แล้ว” เห็นคุณอันเยี่ยม ๘ ประการนี้แล้ว พิจารณาในภังคานุปัสนานั้นเนืองๆ ไป ย่อมสำเร็จเป็นภังคานุปัสสีบุคคล เพื่อบรรลุอมตธรรมได้” ดังนี้.

สาระธรรมจากวิสุทธิมรรคภาค ๓ (ภังคานุปัสนาญาณ)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

3/6/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: