"อนุปาเยน โย อตฺถํ, อิจฺฉติ โส วิหญฺญติ; เจตา หนึสุ เวทพฺพํ , สพฺเพ เต พฺยสนมชฺฌคูติฯ (เวทพฺพ ชาตกํ อฏฺฐมํฯ) ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบคาย, ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน, เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศหมดสิ้น ฉะนั้น"
เวทัพพชาดกอรรถกถา (มนต์เรียกทรัพย์)
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุว่า ยาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นมีอาทิว่า อนุปาเยน โย อตฺถํ ดังนี้.
ความพิสดารว่า พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนว่า ยาก แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้ว่า ยากเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแลจึงไม่ทำตามคำของท่านผู้เป็นบัณฑิต ถูกฟันด้วยดาบขาดสองท่อน ล้มนอนอยู่ที่หนทาง และเพราะอาศัยเธอคนเดียวแท้ ๆ คนอีกพันคนต้องสิ้นชีวิตไปด้วย“, ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่งในบ้านตำบลหนึ่ง รู้มนต์ ชื่อเวทัพพะ. ได้ยินว่า มนต์นั้นหาค่ามิได้ ควรบูชายิ่งนัก เมื่อได้เวลาฤกษ์แล้ว เจ้าของมนต์ร่ายมนต์นั้น แหงนสูดอากาศแล้วฝนแก้ว ๗ ประการ ก็ตกลงมาจากอากาศ. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เรียนศิลปะอยู่ในสำนักของพราหมณ์นั้น อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์ชวนพระโพธิสัตว์ ออกจากบ้านของตนเดินทางไปสู่แคว้นเจตีด้วยกิจธุระบางประการ.
ก็ในระหว่างทางตอนที่เป็นป่าแห่งหนึ่งมีพวกโจรที่เรียกว่า เปสนกโจรประมาณ ๕๐๐ คน มั่วสุมกันสะกัดทางอยู่. พวกโจรเหล่านั้นจับพระโพธิสัตว์และเวทัพพ พราหมณ์ไว้. ก็เพราะเหตุไร โจรพวกนี้ จึงถูกเรียกว่า เปสนกโจร ? เพราะเหตุที่เล่ากันว่า พวกมันจับคนได้ ๒ คนแล้วใช้คนหนึ่งไปเอาเงินมาให้พวกมัน เพราะเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพวกมันว่า เปสนกโจร. ก็พวกโจรแม้เหล่านั้นซุ่มอยู่ที่บริเวณป่าแห่งหนึ่ง ถ้าจับพ่อกับลูกไปได้ ก็จะพูดกับพ่อว่า จงไปเอาทรัพย์มาให้เราแล้วจึงรับลูกไป โดยทำนองนี้. จับแม่กับลูกสาวได้ ก็ปล่อยแม่ไป จับพี่กับน้องได้ ก็ปล่อยพี่ไป จับอาจารย์กับลูกศิษย์ได้ ก็ปล่อยศิษย์ไป ในคราวนั้น พวกมันจึงยึดตัว เวทัพพพราหมณ์ไว้แล้วปล่อยพระโพธิสัตว์ไป.
พระโพธิสัตว์กราบอาจารย์แล้ว กล่าวเตือนว่า ผมจักไปสัก ๒-๓ วันเท่านั้น อาจารย์อย่าหวาดหวั่นไปเลยอีกประการหนึ่ง โปรดกระทำตามคำของผมด้วยเถิด ในวันนี้จักมีฤกษ์ อันจะให้ฝนคือทรัพย์ตกลงมาท่านอย่าไร้ความอดทนทุกข์ยาก อย่าร่ายมนต์ให้เงินทองไหลหลั่งลงมาเป็นอันขาด หากท่านจักให้ฝนเงินฝนทองไหลหลั่งลงมาแล้วไซร้ ตัวท่านจักถึงความย่อยยับโจรทั้ง ๕๐๐ เหล่านี้จักฆ่าท่านเสีย ครั้นเตือนอาจารย์อย่างนี้แล้ว ก็จากไปเพื่อเอาทรัพย์มา. ฝ่ายพวกโจร พอพระอาทิตย์อัษฎงค์ ก็มัดพราหมณ์ให้นอนแซ่ว.
ขณะนั้นเองจันทมลฑลอันบริบูรณ์ ก็โผล่ขึ้นจากโลกธาตุด้านทิศปราจีน. พราหมณ์มองเห็นฤกษ์ ก็คิดว่าได้ฤกษ์ที่จะให้ฝนเงินฝนทองไหลหลั่งลงมาแล้ว ทำไมเราต้องเสวยทุกข์ยากอยู่เล่า ร่ายมนต์ให้ให้แก้วตกลงมา เอาทรัพย์ให้พวกโจรแล้วก็จักเป็นอิสระไปได้ตามสบายแล้วจึงเรียกพวกโจรมาถามว่า ก่อนโจรผู้เจริญทั้งหลายพวกท่านจับเราไว้ เพื่อต้องการอะไร ? พวกโจรตอบว่า ต้องการทรัพย์ซิขอรับท่านอาจารย์. พราหมณ์จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าต้องการทรัพย์ ก็จงรีบแก้มัดเราโดยเร็ว ให้เราสนานศีรษะ นุ่งผ้าขาว ประพรมตนด้วยของหอม ประดับด้วยดอกไม้แล้วคุมเราไว้เถิด. พวกโจรฟังคำของพราหมณ์แล้วก็ทำตามทุกประการ. พราหมณ์รู้ฤกษ์แล้ว ก็ร่ายมนต์แหงนดูอากาศ. ทันใดนั้นเอง แก้วทั้งหลายก็ร่วงพรูมาจากอากาศ. พวกโจรก็พากันกอบโกยเอาทรัพย์ รวบรวมใส่ในผ้าขาวม้าแล้วพากันนำไป. แม้พราหมณ์ก็ตามพวกมันไปข้างหลังด้วย.
ครั้งนั้น มีโจรพวกอื่น จำนวน ๕๐๐ เหมือนกัน พากันจับโจรเหล่านั้นไว้. เมื่อพวกที่ถูกจับถามว่า ท่านทั้งหลายจับเราไว้ทำไม ก็ตอบว่า เพื่อต้องการทรัพย์. พวกโจรที่ถูกจับจึงบอกว่า แม้นพวกท่านต้องการทรัพย์ ก็จงจับพราหมณ์นั้นไว้เถิด แกมองดูอากาศแล้ว ให้ทรัพย์ไหลหลั่งลงมาได้ ก็ทรัพย์ของเรานี้ แกให้ทั้งนั้นแหละ. พวกโจรก็ปล่อยพวกโจรที่จับไว้พลางคุมตัวพราหมณ์ไว้กล่าวว่า จงให้ทรัพย์แก่พวกเราบ้าง. พราหมณ์กล่าวว่า ฉันต้องให้ทรัพย์แก่พวกท่านแน่นอน แต่ว่า ฤกษ์ที่จะเรียกให้ทรัพย์ไหลลงมาได้ กว่า จะมีก็อีกปีหนึ่งนับแต่วันนี้ไป ถ้าพวกท่านต้องการทรัพย์ละก็ต้องคอยถึงเวลานั้นข้าพเจ้าจักเรียกฝนทรัพย์ให้ไหลลงมาได้.
พวกโจรพากันโกรธพูดว่า ทุด ! ไอ้พราหมณ์ชั่ว ทีคนอื่นละก็แกเรียกฝนเงิน ฝนทองให้ไหลลงมาได้ทันทีทีเดียว ถึงคราวพวกเรา บอกให้คอยตั้งปี ดังนี้แล้ว ฟันพราหมณ์ขาเป็นสองท่อนด้วยดาบอันคม ทิ้งไว้ที่หนทาง, ยกพวกตามไปโดยเร็วได้ต่อสู้กับโจรพวกนั้น ฆ่าโจรพวกนั้นได้หมด ยึดเอาทรัพย์ไป เกิดแตกกันเป็นสองพวกเลยต่อสู้กันเอง ฆ่ากันตายไป ๒๕๐ แล้วก็แตกกันอีก ฆ่ากันอีก โดยทำนองนี้ จนในที่สุดเหลือ ๒ คน. แล้วฆ่ากันเองตายหมด. คนทั้งพันนั้นถึงความพินาศด้วยประการฉะนี้.
ก็คนทั้งสองที่เหลือภายหลังนั้น ยึดเอาทรัพย์นั้นมาได้ด้วยอุบายนั้น พากันเอาไปซ่อนไว้ในที่รกใกล้บ้านแห่งหนึ่ง คนหนึ่งถือพระขรรค์นั่งเฝ้าไว้ คนหนึ่งเอาข้าวสารเข้าไปสู่บ้านเพื่อหุงเป็นอาหาร. ก็ขึ้นชื่อว่าความโลภแล้ว เป็นมูลแห่งความพินาศทีเดียว เพราะฉะนั้น โจรคนที่นั่งเฝ้าทรัพย์คิดว่า เมื่อโจรคนนั้นมา ทรัพย์นี้ก็ต้องแบ่งเป็นสองส่วน อย่ากระนั้นเลย พอมันมาเราฟันเสียให้ตายด้วยพระขรรค์ก็สิ้นเรื่อง คิดแล้วก็เหน็บพระขรรค์ นั่งคอยให้คนนั้นมา.
ฝ่ายอีกคนหนึ่งก็คิดว่า ทรัพย์นั้นจักต้องแบ่งเป็นสองส่วน ถ้ากระไร เราเอายาพิษใส่อาหารให้ไอ้คนนั้นกินสิ้นชีวิตแล้ว เราก็ได้ครอบครองทรัพย์แต่ผู้เดียว. ดังนั้น พอข้าวสุกก็รีบกินเสียก่อน ส่วนที่เหลือก็ใส่ยาพิษไว้ถือมาที่อีกคนหนึ่งคอยอยู่ พอก้มลงวางอาหารเท่านั้นเอง คนที่คอยอยู่ก็ฟันด้วยพระขรรค์ขาดเป็น ๒ ท่อน เอาไปทิ้งในที่รกแล้วกลับมากินอาหารนั้นเลยตนเองก็สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง. คนทั้งหมดถึงความพินาศเพราะอาศัยทรัพย์นั้น ด้วยประการฉะนี้.
พอเวลาล่วงไปได้วันสองวัน พระโพธิสัตว์ก็ถือเอาทรัพย์มา ไม่เห็นอาจารย์ในที่นั้นเสียแล้ว เห็นแต่ทรัพย์กระจัดกระจายอยู่ ก็คิดว่า อาจารย์ไม่เชื่อคำเรา ชะรอยจักเรียกทรัพย์ให้หลั่งไหลลงมาเป็นแน่ ทุกคนต้องถึงความพินาศหมด ดังนี้แล้ว พลางเดินไปในทางใหญ่. เมื่อเดินไปถึง ก็เห็นอาจารย์ถูกตัดขาด ๒ ท่อน คิดว่า อาจารย์ต้องมาตายเพราะไม่เชื่อคำเราแล้วก็เก็บฟืนกองเป็นเชิงตะกอน เผาอาจารย์.
บูชาด้วยดอกไม้ป่าแล้วเดินต่อไป เห็นโจร ๕๐๐ ตาย เดินต่อไป เห็นโจร ๒๕๐ ตายโดยลำดับ ในที่สุดเห็นคนทั้งสองสิ้นชีวิต จึงคิดว่า คนที่ถึงความพินาศนี้ หนึ่งพันหย่อนสองคน ต้องมีโจรอีก ๒ คนแน่นอน แม้ทั้งสองคนก็จักไม่อาจรอดอยู่ได้ สองคนไปอยู่ที่ไหนเล่าหนอดังนี้แล้ว เดินต่อไป เห็นทางเข้าไปสู่ที่ซ่อนทรัพย์ของคนทั้งสองเดินต่อไป ก็เห็นกองทรัพย์ที่มัดเป็นถุง ๆไว้ได้เห็นคนหนึ่งตายคร่อมถาดข้าว
ในลำดับนั้น ก็คาดการณ์รู้เหตุทั้งหมดว่า โจรพวกนั้นจักต้องกระทำอย่างนี้แล้วก็คิดว่า บุรุษนั้นอยู่ไหนเล่า ? ค้นหาดู ก็เห็นชายคนนั้นถูกหมกไว้ที่รก จึงคิดว่า อาจารย์ของเราไม่ทำตามคำเรา เพราะ ความว่า ยากของตน แม้ตนก็ถึงความพินาศ มิหนำซ้ำทำให้คนอื่นอีกตั้งพันคนพลอยถึงความพินาศไปอนาถแท้ คนที่ปรารถนาความเจริญแก่ตน โดยเหตุมิใช่อุบายไม่ใช่การณ์ จักต้องถึงความพินาศใหญ่โตทีเดียว เหมือนอาจารย์ของเราถึงความพินาศอยู่ฉะนั้นแล้วกล่าวคาถานี้ใจ ความว่า :- „ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยเหตุมิใช่อุบาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนโจรชาวเจติรัฐ ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว คนเหล่านั้นก็พลอย ถึงความย่อยยับหมดสิ้น“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส วิหญฺญติ ความว่า บุคคลคิดว่า เราปรารถนาประโยชน์ คือความเจริญ ความสุขแก่ตน กระทำความพยายามโดยเหตุอันมิใช่อุบาย ในขณะอันมิใช่กาลย่อมเดือดร้อน คือลำบากได้แก่ ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง.
บทว่า เจตา ได้แก่ พวกโจรผู้อยู่ในแคว้นเจติรัฐ. บทว่า หนึสุ เวทพฺพํ ความว่า โจรชาวเจติรัฐ พากัน ฆ่าพราหมณ์ ผู้ได้นามว่าเวทัพพะ เพราะรู้มนต์เวทัพพะเสียแล้ว. บทว่า สพฺเพ เต พฺยสนมชฺฌคุํ ความว่า แม้คนเหล่านั้นทั้งหมด ฆ่ากันเองถึงความย่อยยับไม่ได้เหลือเลยสักคนเดียว.
เมื่อมีเหตุเช่นนี้ พระโพธิสัตว์จึงประกาศก้องไปทั้งป่าว่า อาจารย์ของเรากระทำความบากบั่นในเรื่องมิใช่ฐานะ โดยเหตุมิใช่อุบาย เรียกทรัพย์ให้หลั่งไหลลงมา แม้ตนเองก็ถึงความสิ้นชีวิต ยังเป็นปัจจัยแห่งความพินาศของคนอื่น ๆ อีก ๕๐๐ ๆ ฉันใด แม้คนอื่น ๆ ผู้ใดเล่าปรารถนาประโยชน์แก่ตน จักกระทำความพยายามโดยเหตุมิใช่อุบายผู้นั้นทั้งหมด จักพินาศด้วยตนเองเป็นแน่ ทั้งจักเป็นปัจจัยให้คนอื่น ๆ พลอยพินาศด้วยดังนี้, เมื่อเหล่าเทวดาพากันให้สาธุการ ก็แสดงธรรมด้วยคาถานี้ นำทรัพย์นั้นมาสู่เรือนของตน โดยอุบายอันชอบ กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ดำรงอยู่ตราบอายุขัย ครั้นสิ้นชีวิตก็ได้ไปเพิ่มแดนสวรรค์ให้บริบูรณ์ขึ้น.
แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนว่า ยาก แม้ในกาลก่อน ก็เป็นคนว่า ยากเหมือนกัน ก็เพราะความเป็นคนว่า ยาก จึงถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง. ดังนี้ ครั้นนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประชุมชาดกว่า เวทัพพะพราหมณ์ในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุว่า ยากในบัดนี้ ส่วนลูกศิษย์ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: