การปฏิบัติธรรม ต้องมีตลอดเวลา คือเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต
.... “ปฏิบัติธรรม” ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำการทำงาน คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ
.... คำว่า “ปฏิบัติ” นี้ เดิมนั้นแปลว่า “เดินทาง” มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้มีคำคล้ายๆกันอีกคำหนึ่งคือ “ปฏิปทา” ปฏิปทาแปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เราแปลกันว่า “ทางสายกลาง” มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง และ ปฏิปทา แปลว่า ทาง คือที่ที่จะเดิน คำว่าปฏิปทาก็คือที่ที่จะเดิน
.... คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัติ นี้เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกริยาก็มีรูปเป็น ปฏิปชฺชติ เช่นในคำว่า “มคฺคํ ปฏิปชฺชติ” แปลว่า เดินทาง เพราะฉะนั้น ปฏิปชฺชติ มาเป็น ปฏิบัติ หรือเป็น ปฏิปทา ก็ตาม ก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่า ทางที่เดิน ถ้าเป็นการเดินทางก็นิยมใช้ในรูปว่า “ปฏิปตฺติ” หรือไทยใช้ว่า “ปฏิบัติ” ถ้าเป็นทางที่เดินก็นิยมใช้ “ปฏิปทา” เพราะฉะนั้น เราเอาถ้อยคำสำหรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง มาประยุกต์ใช้ในทางนามธรรม
.... เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมมาใช้ในการเดินทางชีวิต หรือเอามาช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี การปฏิบัติธรรมก็จึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิ อะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆจังๆ ถ้าจะเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ Intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้นหรือลงลึกเฉพาะเรื่อง
.... ที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม คือเอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม...” -สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมบรรยาย ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ภายหลังพิมพ์เป็นหนังสือ ตั้งชื่อเรื่องว่า “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง” , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: