วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

จิตเหนือโลก ด้วย“อตัมมยตา”


จิตเหนือโลก ด้วย“อตัมมยตา”

.... “อตัมมยตา” มีปาฎิหาริย์ คือ ดุนดันจิตให้ขึ้นไปเหนือโลก อย่ามาอยู่ที่นี่กับอารมณ์เหล่านี้ ที่มันปรุงแต่ง ซ้ายที ขวาที หน้าที หลังที กระตุกข้างนั้นที กระตุกข้างนี้ที ไม่มีความสงบสุข อตัมมยตาจะดุนดันจิตให้ละสิ่งเหล่านี้ ไม่ไยดีกับสิ่งเหล่านี้ ดุนขึ้นไปให้อยู่เหนือโลก เหนือโลกเป็นโลกุตตระ ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ ถ้ามันขึ้นไปอยู่เหนืออารมณ์.  เหนือโลกเหล่านี้แล้ว ไม่มีอะไรดึงดูดเอาไว้ได้ ทำให้จิตอยู่เหนือโลกแห่งการปรุงแต่ง 

.... โลกนี้เป็นโลกแห่งการปรุงแต่ง ปรุงแต่งไว้หลอกลวงกัน มีอตัมมยตาแล้วมันไม่มีความโง่ถึงขนาดไปหลงใหลในโลกแห่งการหลอกลวง ซึ่งเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง

.... “อตัมมยตา” หมายถึง ความเป็นผู้มีสติปัญญา ความสามารถรอบรู้และรู้สึกตัว ไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์ใดในภายนอกและกิเลสใดในภายในมาปรุงแต่งจิต ให้กระเพื่อมเป็นกิเลสขึ้นมาในทุกๆกรณี ความมีสติปัญญามากพอ จึงมีความรู้คือปัญญา มีความรู้สึกตัวคือสติ จนไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์ใดๆในภายนอก จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตาม หรือว่า กิเลสภายใน อนุสัย เป็นต้นก็ตาม มาปรุงแต่งจิตให้จิตไหวไปจากปกติไปสู่ความเป็นจิตที่มีกิเลส ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าในที่ไหนๆ ไม่ว่าในระดับใดๆ นี่ความเป็นอตัมมยตามีความหมายอย่างนี้ ทำให้จิตไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นกิเลส 

.... ธรรมดาจิตก็ไม่ได้เป็นกิเลส ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่วเย้า มาปรุงให้มันเป็นกิเลส หรืออนุสัยภายในแสดงออกมาเป็นอาสวะ มันเป็นกิเลส มันมีไม่ได้ถ้ามันมีอตัมมยตากำกับอยู่ ผู้ใดมีอตัมมยตาผู้นั้นจะมีจิตปกติคงที่อยู่ในความสงบสุข เยือกเย็น บริสุทธิ์ ผ่องใสเป็นอิสระ นี่คือ "อตัมมยตา"

.... จิตอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งคู่ 

.... อตัมมยตามีปาฏิหารย์ให้จิตมนุษย์อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ เป็นคู่ๆ หมายความว่ามันตรงกันข้าม ดี-ชั่วนี้ตรงกันข้าม บุญ-บาปนี้ตรงกันข้าม สุข-ทุกข์ตรงกันข้าม นรก-สวรรค์ตรงกันข้าม เกิด-ตายนี้ตรงกันข้าม ตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ หรือว่าในกรณีโลกๆ ก็เรื่องได้เปรียบ-เสียเปรียบนี้เป็นคู่ เรื่องแพ้-เรื่องชนะก็เป็นคู่ เรื่องขาดทุน-เรื่องกำไรก็เป็นคู่ นี้เรียกว่าของเป็นคู่ หรือจะพูดอย่างศัพท์วิทยาศาสตร์ว่า positive หรือ negative มันเป็นคู่ จิตที่ไม่มีความรู้เพียงพอ มันตกอยู่ใต้อำนาจของของที่เป็นคู่ ตกอยู่ใต้อำนาจคือไปหลงรักฝ่ายหนึ่ง ไปหลงเกลียดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้อยู่ตรงกลางหรืออยู่เหนือ ตกไปในฝ่ายดีมันก็มีปัญหาไปตามแบบดี ตกไปในฝ่ายชั่วมันก็มีปัญหาไปตามแบบชั่ว อยู่เหนือไปเสีย เหนือชั่วดีก็ไม่มีปัญหาอะไร

.... อตัมมยตาจะทำให้มองเห็นว่า โอ้ ดีก็แค่นั้น ชั่วก็แค่นั้น บุญก็แค่นั้น บาปก็แค่นั้น นรกก็แค่นั้น สวรรค์ก็แค่นั้น ได้ก็แค่นั้น เสียก็แค่นั้น ขาดทุนก็แค่นั้น กำไรก็แค่นั้น หัวเราะก็แค่นั้น กำไรก็แค่นั้น ดีใจก็บ้าอย่างหนึ่ง เสียใจก็บ้าอย่างหนึ่ง ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่เอาคู่ นั่นแหละปกติ ไม่ดีใจและไม่เสียใจ

.... การเผชิญหน้ากับกิเลสนั้น ดูเถอะ มันเดือดร้อน มันมืดมัว มันหม่นหมอง มันเจ็บปวด มันสารพัดอย่างแหละ แล้วมันก็ต้องต่อสู้กับกิเลสในลักษณะที่เอาไม้สั้นไปรันขี้ กระเด็นเข้าหน้าเข้าตาคนที่ไปรันขี้นั้น ถ้ามีกิเลสแล้วมันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องมีกิเลสมันดีกว่า ไม่ต้องเอาไม้สั้นไปรันขี้ มีอตัมมยตาไม่ต้องเผชิญหน้ากับกิเลส มันไม่เคยพบกัน ไม่ต้องพบกับกิเลสดอก นี่ปาฏิหาริย์อันสูงสุดของความมี"อตัมมยตา"

.... ให้ง่ายๆเข้าก็เห็นได้ว่า ให้มันอยู่เหนืออารมณ์ร้ายโดยประการทั้งปวง คนธรรมดานี้ควรจะรู้สึกอารมณ์ร้ายที่มีประจำ ประจำโลก ประจำมนุษย์ ประจำจิต ประจำบ้านเรือน ประจำครอบครัว ยกตัวอย่างอารมณ์ร้าย ข้อแรกเป็นความรัก เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร ก้นไม่ติดพื้น มันก็เผาไปตามแบบของความรัก เป็นไฟเปียกไปตามเรื่องตามราวของมัน หาความปกติสุขไม่ได้ กระวนกระวาย กระเพื่อมไม่มีหยุด นี่ความรักอารมณ์ร้าย

.... ทีนี้ความโกรธ เอาซิ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไร มันกลายเป็นอีกโลกหนึ่งทีเดียว เป็นไฟ เป็นไฟไปทั้งนั้น แม้มันจะสนุกเมื่อแรกโกรธ แต่แล้วก็นั่งกอดเข่าหลังจากที่โกรธแล้ว

.... ความเกลียด เกลียดใครก็ตามใจเถอะ เกลียดฟ้าเกลียดฝนก็ตามใจเถอะ พอลงเกลียดแล้ว มันหาความสงบสุขไม่ได้ ไม่ต้องเกลียดดีกว่า

.... ความกลัว กลัวเข้าแล้วเป็นอย่างไร มันไม่มีแผ่นดินจะอยู่นั่น สู้ไม่กลัวไม่ได้ ” -พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “ปาฏิหาริย์แห่งอตัมมยตา” , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: