วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา ตอนที่ ๔๐

มิลินทปัญหา ตอนที่ ๔๐ ปัญหาที่ ๗ ฆฏิการปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า   “ฆฏิการสฺส  กุมฺภการสฺส  อาเวสนํ  สพฺพํ  เตมาสํ  อากาสจฺฉทนํ  อฏฺฐาสิ,  น  เทโวติวสฺสิ” (ม.ม. ๑๓/๓๕๗)  ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ มีอากาศเป็นหลังคา ตั้งอยู่ตลอด ๓ เดือนฝนไม่รั่วรด ดังนี้ 

และยังตรัสไว้อีกว่า  “กสฺสปสฺส  ตถาคตสฺส  กุฏิ  โอวสฺสิ” (ม.ม. ๑๓/๓๕๖)  พระคันธกุฏี ของพระตถาคตกัสสปพุทธเจ้า ฝนรั่ว ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร พระคันธกุฎีของพระตถาคตผู้ทรงมีกุศลมูลหนาแน่นอย่างนี้ ฝนยังรั่วได้เล่า ขึ้นชื่อว่าพระอานุภาพของพระตถาคตนั้นยิ่งใหญ่ ใครๆ ก็ปรารถนา.  พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ มีอากาศเป็นหลังคาหาฝนรั่วรดมิได้ จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ มีอากาศเป็นหลังคา หาฝนรั่วรดมิได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ มีอากาศเป็นหลังคา ตั้งอยู่ตลอด ๓ เดือนฝนไม่รั่วรด ดังนี้จริง และตรัสไว้ว่า พระคันธกุฏี ของพระตถาคตกัสสปพุทธเจ้า ฝนรั่ว ดังนี้จริง ขอถวายพระพร ช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีกุศลมูลหนาแน่น เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าตาบอด ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ขอเขาต่อหน้าเลย ก็รื้อเอาหญ้ามุงเรือนของเขาไปมุงพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาค เพราะการรื้อเอาหญ้าไปนั้น ช่างหม้อก็ได้รับความปลาบปลื้มมากมาย หาที่เสมอเหมือนไม่ได้ อันเป็นความปลาบปลื้มใจที่ตั้งมั่นดี ไม่สั่น ไม่หวั่นไหว ทั้งได้ทำโสมนัสที่ไม่อาจจะวัดได้ให้เกิดขึ้นยิ่งๆ ขึ้นว่า โอหนอ พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดในโลกทรงเป็นผู้ที่แสนคุ้นเคยกับเรา ดังนี้ วิบากมีในอัตภาพนี้ ได้บังเกิดแก่เขาแล้ว เพราะเหตุนั้น ขอถวายพระพร เป็นความจริงว่า พระตถาคตมิได้ทรงหวั่นไหวไปเพราะอาการที่ผิดแปลกไปเพียงเท่านั้น.   ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พญาภูเขาสิเนรุย่อมไม่สั่น ไม่หวั่นไหว แม้เพราะถูกลมตีตั้งหลายแสนครั้ง ฉันใด มหาสมุทรซึ่งเป็นทะเล ประเสริฐยอดเยี่ยม ก็ย่อมไม่เต็มเปี่ยมไม่ถึงความเปลี่ยนแปลงไป แม้เพราะน้ำหลายหมื่นหลายแสนสายจากมหาคงคา ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ไม่ทรงหวั่นไหว เพราะอาการที่ผิดแปลกไปเพียงเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล

ขอถวายพระพร ข้อที่พระคันธกุฎีของพระตถาคตฝนรั่ว ใด ข้อนั้น ทรงยอมให้เป็นไป เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ชนหมู่ใหญ่ ขอถวายพระพร พระตถาคตทั้งหลายเมื่อทรงเล็งเห็นอำนาจแห่งประโยชน์ ๒ อย่างเหล่านี้อยู่ ก็จะไม่ทรงเสพปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง คือทรงเล็งเห็นว่า พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่า ท่านผู้นี้เป็นอัครทักขิเณยยบุคคล ดังนี้ จึงถวายปัจจัยแก่พระผู้มีพระภาค แล้วก็จะหลุดพ้นจากทุกข์คติทั้งปวงได้ ๑, คนอื่นอย่าติเตียนได้ว่า ผู้นี้เอาแต่แสดงปาฏิหาริย์แสวงหาเครื่องยังชีพ ๑ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เมื่อทรงเล็งเห็นอำนาจแห่งประโยชน์ ๒ อย่างเหล่านี้อยู่ ก็จะไม่ทรงเสพปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าท่านท้าวสักกะ หรือท่านท้าวมหาพรหม หรือพระองค์เองพึงกระทำ (เนรมิต) พระคันธกุฏีนั้น ไม่ให้ฝนรั่ว ไซร้ การกระทำนั้น ก็พึงน่าตำหนิ มีโทษ มีข้อที่นักปราชญ์อื่นจะข่มขี่เอาได้ว่า ท่านเหล่านี้ทำแต่สิ่งแปลกๆ สร้างแต่สิ่งน่าพิศวง ให้ชาวโลกงมงาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น การกระทำนั้นจึงจัดว่าน่าตำหนิ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะไม่ตรัสขอสิ่งของ เพราะการที่ไม่ตรัสขอสิ่งของนั้น จึงเป็นผู้ที่ใครๆ ไม่อาจกล่าวติเตียนได้.   พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบฆฏิการปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่มีเรื่องเกี่ยวกับนายช่างหม้อผู้มีชื่อว่า ฆฏิการ ชื่อว่า ฆฏิการปัญหา.  เพื่อความแจ่มแจ้งในเนื้อความปัญหา เพิ่งทราบถึงความเป็นมา มีในเรื่อง ฆฏิการสูตร เกี่ยวกับความตอนนี้อย่างนี้ว่า :-  ในกาลที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงอุบัติในโลก ประกาศพระศาสนาอยู่นั้น คราวหนึ่ง พระคันธกุฎีของพระองค์มีฝนรั่วรดเข้าไปข้างในได้ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายไปยังบ้านของนาย ฆฏิการ ผู้เป็นอุบาสกผู้อุปัฏฐากที่ยอดเยี่ยม นำเอาหญ้ามาซ่อมหลังคาพระคันธกุฎี ภิกษุเหล่านั้นไปแล้วกลับมากราบทูลว่าไม่มีหญ้าที่บ้านของนาย ฆฏิการ จึงรับสั่งให้ไปรื้อหลังคาบ้านของนาย ฆฏิการ นำเอาหญ้าที่ใช้มุงหลังคานั้นมา เมื่อภิกษุเหล่านั้นไปยังบ้านของช่างปั้นหม้ออีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำอย่างนั้น ได้แจ้งให้มารดาบิดาของนายช่างหม้อทราบ คนทั้ง ๒ นั้นก็ดีใจนัก บอกให้ไปด้วยความเต็มใจ เมื่อนายฆฏิการกลับมาทราบเรื่องจากมารดาบิดาของตนแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัสมีประมาณยิ่งกล่าวว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ข้อที่พระกัสสปะอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้คุ้นเคยกับเรายิ่งนัก อย่างนี้ ดังนี้ กุศลจิตของนายฆฏิการเป็นเหตุให้ที่อยู่อาศัยของตน ทั้งๆ ที่มีหลังคาโล่ง ปราศจากหลังคา ฝนที่ตกมาก็ไม่รั่วรดเข้าไปภายใน ตลอด ๓ เดือน ในหน้าฝน, และพระราชาแคว้นกาสีทรงสดับแล้ว ก็จงอนุโมทนายิ่ง พระราชทานสิ่งของเครื่องใช้แก่นายฆฏิการมากมาย

แง่ปมที่ขัดแย้งในปัญหา มีอยู่ว่า ขึ้นชื่อว่าพระอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยิ่งใหญ่ หาอนุภาพของผู้อื่นเทียบเสมอมิได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าพระองค์ทรงใช้พระอนุภาพซึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ย่อมป้องกันฝนไม่ให้รั่วรดพระคันธกุฏีได้แล้ว เพราะเหตุใดจึงไม่ทรงกระทำอย่างนั้น ส่วนนายฆฏิการเป็นผู้ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอานุภาพอย่างนั้น ฝนก็ยังไม่อาจรั่วรดหลังคาเข้าไปข้างในได้ ถ้าคำหนึ่งถูกต้อง ควรเชื่อถือได้ คำนอกนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ไม่ควรเชื่อถือ.  คำว่า พระตถาคตก็ไม่ทรงหวั่นไหว เพราะอาการที่ผิดแปลกไปเพียงเท่านั้น คือเมื่อมีอาการที่ผิดแปลกไป คือมีเรื่องสร้างความไม่สะดวก สร้างความอยู่ไม่ผาสุก อันได้แก่การที่มีฝนตกรั่วรดพระคันธกุฎีเกิดขึ้น พระตถาคตก็ไม่ทรงมีพระทัยหวั่นไหววุ่นวาย เที่ยวหาเครื่องมุงบัง โดยที่สุด แม้ต้องรื้อหลังคาบ้านผู้อื่น เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เอง

คำว่า ทรงยอมให้เป็นไป เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ชนหมู่ใหญ่ คือ แม้เมื่อจะทรงใช้พระอานุภาพป้องกันฝน ก็ย่อมทรงกระทำได้แน่แท้ แต่ไม่ทรงกระทำอย่างนั้น เพราะทรงประสงค์อนุเคราะห์ชนหมู่ใหญ่ คือนายฆฏิการ มารดาบิดาของนายฆฏิการ โดยการที่คนเหล่านั้นจะได้รับของพระราชทานจากพระราชา และมีเรือนที่ฝนไม่อาจรั่วรด และองค์พระราชาพร้อมทั้งพวกข้าบริการ โดยการที่เห็นวิบากที่น่าอัศจรรย์นี้แล้ว ก็ขนขวายแต่ในการบำเพ็ญกุศล อันจะเป็นเหตุให้ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ตลอดกาลนาน.  คำว่า ไม่ทรงเสพปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง คือไม่ทรงใช้สอยปัจจัย คือพระคันธกุฎีที่ทรงเนรมิตขึ้นมาด้วยพระองค์เอง โดยประการที่ฝนไม่อาจรั่วรดได้ หรือไม่ทรงเนรมิตปัจจัยแม้ทุกอย่างด้วยพระองค์เอง เพื่อจะทรงใช้สอยเอง.  คำว่า สร้างแต่สิ่งแปลกๆ สร้างแต่สิ่งที่น่าพิศวงให้ชาวโลกหลงงมงาย คือ สร้างแต่สิ่งแปลกๆ คือน่าอัศจรรย์ สร้างแต่สิ่งน่าพิศวง คือน่าฉงนใจ ล่อให้ชาวโลกหลงงมงาย เพื่อที่คนเหล่านั้นจะได้นับถือบูชา ไม่มุ่งไปในอันอนุศาสน์สั่งสอนเพื่อให้ละอกุศล เจริญกุศล และเพื่อเพิ่มพูนปัญญาเป็นสำคัญ.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗.  ปัญหาที่ ๘ พรามณราชวาทปัญหา.

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อหมสฺมิ  ภิกฺขเว  พฺราหฺมโณ  ยาจโยโค” (ขุ.อิติ. ๒๕/๓๕๒) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ดังนี้ 

และยังตรัสไว้อีกว่า  “ราชหมสฺมิ  เสล” (ม.ม. ๑๓/๕๐๕)  ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากพระตถาคตตรัสไว้ว่า ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ทรงเป็นกษัตริย์บ้างเป็นพราหมณ์บ้าง ในชาติเดียวกัน ชื่อว่าจะมี ๒ วรรณะได้ก็หาไม่ ปัญหาแม้นี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ดังนี้ จริงไซร้ และตรัสไว้อีกว่า ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา ดังนี้จริง ก็เหตุที่ทำให้พระตถาคตทรงได้ชื่อว่า เป็นทั้งพราหมณ์ เป็นทั้งพระราชา มีอยู่.   

พระเจ้ามิลินท์, เหตุที่ทำให้พระตถาคตทรงได้ชื่อว่าเป็นทั้งพราหมณ์ เป็นทั้งพระราชานั้น คืออะไรเล่า พระคุณเจ้า นาคเสน ?  

พระนาคเสน ขอถวายพระพร อกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหลายทั้งปวง พระตถาคตทรงลอยไปเสียได้แล้ว คือทรงละได้แล้ว ไปปราศแล้ว ถึงความพินาศแล้ว ตัดขาดแล้ว สิ้นแล้ว ถึงความสิ้นไปแล้ว ดับแล้ว สงบแล้ว เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์.  

ธรรมดาว่า พราหมณ์ ย่อมเป็นผู้สละออกไปจากภพคติ โยนิทั้งปวง หลุดพ้นจากมลทิน ละออง หาผู้ทัดเทียมกันไม่ได้ ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงเป็นผู้สลัดออกไปจากภพ คติ โยนิ ทั้งปวง หลุดพ้นจากมลทิน ละออง หาผู้ทัดเทียมไม่ได้ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์.  ธรรมดาว่า พราหมณ์ ย่อมเป็นผู้มากด้วยทิพย์วิหารอันยอดเยี่ยม ประเสริฐเป็นเลิศ ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มากด้วยทิพยวิหารอันยอดเยี่ยม ประเสริฐเป็นเลิศ แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์

ธรรมดาว่า พราหมณ์ ย่อมเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการศึกษา (ท่องพระเวท) การสอน (พระเวท) วิธีการรับเอาทาน การทรมานตน ความสำรวมตน ขนบธรรมเนียม คำอนุศาสน์ก่อนเก่า และประเพณีวงศ์ ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการศึกษา การสอน วิธีการรับเอาทาน การทรมานตน ความสำรวมตน ขนบธรรมเนียม คำอนุศาสน์ก่อนเก่า และประเพณีวงศ์ แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์.  ธรรมดาว่า พราหมณ์ ย่อมเป็นผู้มีปกติเข้าฌานด้วยสุขวิหารฌานที่ยิ่งใหญ่ ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคก็ทรงเป็นผู้มีปกติเข้าฌาน ด้วยสุขวิหารฌานที่ยิ่งใหญ่ แม้เพราะเหตุนั้นบัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์

ธรรมดาว่า พราหมณ์ ย่อมรู้จักอภิชาติ (ประเภทหรือพันธุ์ของสัตว์) ความเป็นไป และความท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่และคติทั้งปวง ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักอภิชาติ ความเป็นไป และความท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่และคติทั้งปวง ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์

ขอถวายพระพร พระนามว่า พราหมณ์ ของพระผู้มีพระภาคนี้ ไม่ใช่นามที่มารดาตั้งให้ ไม่ใช่นามที่บิดาตั้งให้ ไม่ใช่นามที่พี่น้องชายตั้งให้ ไม่ใช่นามที่พี่น้องหญิงตั้งให้ ไม่ใช่นามที่มิตรคนสนิทตั้งให้ ไม่เคยนานที่พวกญาติสาโลหิตตั้งให้ ไม่ใช่นามที่พวกสมณะและพราหมณ์ตั้งให้ ไม่ใช่นามที่พวกเทวดาตั้งให้ พระนามว่าพราหมณ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ มีในที่สุดแห่ง วิโมกข์ (ที่สุดแห่งวิโมกข์คือพระอรหัตตผล) คำว่า พราหมณ์ นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ในเพราะเหตุสักว่าเป็นบัญญัติที่ปรากฏขึ้น โดยเป็นพระนามที่ทรงได้มาพร้อมกับการที่ทรงย่ำยีกองทัพมารกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้าที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้มาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณที่โคนโพธิพฤกษ์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พราหมณ์.  

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุใดจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชาเล่า ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ธรรมดาว่า พระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งย่อมครองราชสมบัติ ปกครองชาวโลก ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงปกครองชาวโลกพร้อมทั้งเทวดาพร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม หมู่ประชาพร้อมทั้งสมณและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ในหมื่นโลกธาตุ แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา

ขอถวายพระพร ธรรมดาว่า พระราชาทรงครอบงำมนุษย์ทุกคน ทรงทำหมู่พระญาติให้บันเทิง ทำหมู่ศัตรูให้เศร้าโศก ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวสะอาดปราศจากมลทิน ที่มีคันถือเป็นไม้แก่นมั่นคง ประดับด้วยซี่ไม่ต่ำกว่าร้อย นำมาซึ่งพระยศและพระสิริที่ยิ่งใหญ่ ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทำกองทัพมารผู้ปฏิบัติผิดให้เศร้าโศก ทรงทำเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ปฏิบัติชอบให้บันเทิง ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวสะอาดปราศจากมลทิน คือพระวิมุตติอันประเสริฐเป็นยอดที่มีคันถือเป็นไม้แก่นมั่นคงคือขันติ ประดับด้วยซี่ตั้งร้อยคือพระญาณอันประเสริฐ นำมาซึ่งพระยศและพระสิริที่ยิ่งใหญ่ในหมื่นโลกธาตุ แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา

ธรรมดาว่า พระราชา ย่อมทรงเป็นผู้ที่ชนทั้งหลายมากมาย ผู้เข้าไปเฝ้า หรือผู้พบเห็น ควรถวายบังคม ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาค ก็ทรงเป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมากมาย ผู้เข้าไปเฝ้า หรือผู้พบเห็นควรถวายบังคม แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา.  ธรรมดาว่า พระราชา ทรงโปรดปรานบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ก็ทรงให้พรประเสริฐ ทำให้เขาพอใจด้วยสิ่งที่ต้องการ ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาค ทรงโปรดปรานบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้ทำถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว ก็ทรงให้พรประเสริฐยอดเยี่ยม คือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง และทรงทำให้พอใจด้วยพรที่ต้องการได้อย่างไม่มีเหลือ แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา

ธรรมดาว่า พระราชา ย่อมทรงติเตียน รับสั่งให้ฆ่า ให้กำจัดบุคคลผู้ละเมิดข้อบังคับ ขอถวายพระพร ภิกษุอลัชชี แม้เมื่อละเมิดกฎข้อบังคับในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมเป็นผู้ถูกดูหมิ่นให้เก้อเขิน ถูกตำหนิ ถูกติเตียน เคลื่อนไปจากพระศาสนาของพระชินวร แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา.  ธรรมดาว่า พระราชา เมื่อทรงครองราชสมบัติโดยธรรม แสดงสิ่งที่เป็นธรรม และไม่ใช่ธรรมอันด้วยคำอนุศาสน์ตามประเพณีแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมองค์ก่อนๆ ก็ย่อมเป็นที่น่าชื่นใจเป็นที่รัก เป็นที่ปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย ดำรงราชสกุลวงศ์ไว้ในได้ตลอดกาลลนาน ขอถวายพระพร แม้พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงแต่สิ่งที่เป็นธรรมและไม่ใช่ธรรม พร่ำสอนชาวโลกด้วยธรรมอันคำอนุศาสน์ตามประเพณีแห่งพระสยัมภูพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก็ทรงเป็นที่น่าชื่นใจ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำพระศาสนาให้เป็นไปตลอดกาลนาน ด้วยกำลังแห่งพระคุณธรรม แม้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกขานพระตถาคตว่า พระราชา ขอถวายพระพร มหาบพิตร เหตุที่ทำให้พระตถาคตทรงได้ชื่อว่าเป็นทั้งพราหมณ์เป็นทั้งพระราชา มีหลายอย่างตามประการดังกล่าวมานี้ ภิกษุผู้มีวิหารแสนละเอียดอ่อน พรรณนาเหตุนั้นไป แม้ตลอดกัปก็ไม่อาจทำให้สิ้นสุดได้ (เพราะฉะนั้น) ประโยชน์อะไรด้วยการพรรณนาถึงเหตุให้มากเกินไปเปล่า ควรจะรับเอาเหตุที่พรรณาอย่างสังเขปนี้เท่านั้น เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบพรามณราชวาทปัญหาที่ ๘.  คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าโดยพระนามว่า พราหมณ์ และว่า พระราชา ชื่อว่า พรามณราชวาทปัญหา

บรรดาพวก พราหมณ์ ซึ่งสำคัญตนว่าเป็นเหล่ากอของพรหม ย่อมมีคุณสมบัติ มีความประพฤติเป็นไป มีกิจที่ควรทำประจำเป็นต้น ที่กำหนดกันไว้ว่าเป็นของพวกพราหมณ์ คือความเป็นผู้ลอยบาป โดยการอาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำเป็นต้น เป็นผู้ก้าวล่วงความสงสัยในพระพรหมซึ่งเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้ประพฤติวัตรพรหมจรรย์เพื่อการออกจากภพทั้งหลาย เข้าถึงเฉพาะพรหมโลก เป็นผู้มากด้วยทิพย์วิหาร คือฌานสมาบัติ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการศึกษา การสอนในพระเวทย์ ๓ วิธีการรับเอาทานโดยเกี่ยวกับการใช้เป็นเครื่องบูชายันต์ เป็นต้น เป็นผู้มีปกติเข้าฌานด้วยสุขวิหารฌาน คือฌานเครื่องอยู่เป็นสุข เป็นผู้รู้จักอภิชาติ คือการจำแนกเผ่าพันธุ์วรรณะสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้พระผู้มีพระภาค ก็ทรงเป็นผู้พระคุณสมบัติคือความเป็นผู้ลอยบาป คือละอกุศลทั้งหลายทั้งปวงได้ด้วยพระอรหัตตมรรคญาณเป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นจึงทรงได้พระนามว่า พราหมณ์.  

คำว่า มีในที่สุดแห่งวิโมกข์ ความว่า พระอรหัตตมรรคชื่อว่าวิโมกข์ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้หลุดพ้น พระอรหัตตผลอันมีในลำดับแห่งพระอรหัตตมรรคนั้น ชื่อว่า ที่สุดแห่งวิโมกข์ พระนามว่า พราหมณ์ แห่งพระผู้มีพระภาคนี้ มีในที่สุดแห่งวิโมกข์ คือมีขึ้น ปรากฏขึ้น เมื่อพระอรหัตตผลเกิดขึ้น.  คำว่า เป็นสัจฉิกาบัญญัติ คือเป็นบัญญัติที่มีเพราะการกระทำพระสัจจธรรมให้แจ้ง.  แม้ในการที่ทรงได้พระนามว่า พระราชา บัณฑิตก็เพิ่งทราบคำอธิบายตามทำนองดังกล่าวมานี้ อธิบายว่า ทรงได้พระนามว่า พราหมณ์ และพระนามว่า พระราชา โดยพระคุณสมบัติที่มีจริง เป็นจริง ไม่ใช่ทรงได้มาโดยสักว่าชื่อ, สักว่าวรรณะ, สักว่าคนทั้งหลายพร้อมใจกันยกขึ้นให้ดำรงในอิสริยะฐานะเท่านั้น ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๔๐

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา :  http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: