ไม่รู้ว่ากำลังคุยกับพระพุทธเจ้า (เค้าเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี)
[ณ แคว้นมคธ กรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าขอเข้าพักในโรงหม้อของนายช่างหม้อชื่อภัคควะ นายช่างว่าไม่ขัดข้อง แต่ตอนนี้มีนักบวชคนหนึ่ง (ชื่อปุกกุสาติ) เข้าไปพักอยู่ก่อนแล้ว ถ้าท่านนั้นอนุญาต ก็เชิญพักได้ตามสบาย]
พ: ภิกษุ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราจะขอพักที่นี่ด้วยหนึ่งคืน. ป: ท่านผู้มีอายุ (คำเรียกขานที่ภิกษุแก่พรรษากว่าเรียกภิกษุที่อ่อนพรรษากว่า) ที่นี่กว้างขวาง เชิญท่านพักตามสบายเถิด
[หลังจากที่ทั้งสองได้นั่งสมาธิเงียบๆเป็นเวลานาน พระพุทธเจ้าก็คิดว่าคนๆนี้ดูน่าเลื่อมใส จึงเริ่มชวนคุย]
พ: ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบธรรมะของใคร ? ป: พระพุทธเจ้าคือศาสดาของข้า ข้าชอบธรรมะของท่าน. พ: ตอนนี้พระพุทธเจ้าท่านนั้นอยู่ที่ไหน ? ป: อยู่ที่กรุงสาวัตถี. พ: ท่านเคยเห็นพระพุทธเจ้าไหม ? ถ้าเห็นแล้วจะรู้จักไหม ? ป: ข้าไม่เคยเห็น ถึงเห็นก็ไม่รู้จัก.
[พระพุทธเจ้านึกในใจว่าคนคนนี้บวชเพราะเรา เราควรแสดงธรรมแก่เขา]
พ: เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน จงตั้งใจฟัง. ป: ดีแล้วท่านผู้มีอายุ.
พ: ภิกษุ ธาตุทั้ง 6 คือดิน (อวัยวะต่างๆ) น้ำ (เลือด น้ำในตัว) ไฟ (ความร้อน ความอบอุ่น) ลม (ลมหายใจ ลมในตัว) อากาส (ช่องว่างในตัว) ล้วนไม่ใช่ตัวเราของเรา บังคับไม่ได้ ไม่มีตัวตน เมื่อเห็นความจริงนี้แล้ว ก็จะเบื่อหน่ายและคลายความยึดมั่นถือมั่น
สิ่งที่จะเหลืออยู่คือ การรับรู้ (วิญญาณ) คือรู้ว่ากำลังสุข กำลังทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก็เกิดจากสิ่งที่เข้ามากระทบ (ผัสสะ) หากสิ่งนั้นดับไป ความรู้สึกก็หมดไป เกิดความสงบขึ้น. ต่อจากนั้น สิ่งที่เหลืออยู่คือจิตที่วางเฉย (อุเบกขา) อันบริสุทธิ์ ไม่คิด ไม่ยึดติด ไม่ถือว่ามีตัวมีตน กิเลสหมดแล้ว ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตายอีก
[ถึงตอนนี้ ปุกกุสาติรู้ตัวแล้วว่ากำลังฟังพระพุทธเจ้าอยู่ จึงได้กราบเท้าและขออภัยท่านที่เรียกท่านว่าผู้มีอายุ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ให้อภัย]
ป: ขอให้ข้าพเจ้าได้บวชในสำนักของท่านเถิด. พ: เธอมีบาตรและจีวรครบแล้วหรือ ? ป: ยังไม่ครบท่าน. พ: ถ้างั้นก็ยังบวชไม่ได้
[ปุกกุสาติจึงออกไปหาบาตรจีวร แต่ในระหว่างนั้นเองก็ถูกแม่โคฆ่าตาย ภิกษุที่ทราบข่าวจึงถามพระพุทธเจ้าว่า ปุกกุสาติจะไปเกิดที่ไหน]
พ: ปุกกุสาติบรรลุธรรม ไปเกิดเป็นเทพ เพราะหมดกิเลสรัดรึงใจให้อยู่กับทุกข์ขั้นต่ำ 5 ข้อ (สิ้นสัญโญชน์เบื้องต่ำ 5 ข้อ คือ 1. ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวมีตน 2. ไม่ลังเลสงสัยในพระธรรม 3. ไม่ยึดถือข้อบังคับปฏิบัติที่งมงายผิดๆตามๆกันมาโดยขาดปัญญา 4. ไม่รักใคร่ปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ 5. ไม่หงุดหงิดขุ่นข้องใจ) จะปรินิพพานในโลกนั้น ไม่กลับมาเกิดอีก.
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 23 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ภาค 3 เล่ม 2 ธาตุวิภังคสูตร), 2559, น.312-325
0 comments: