วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564

โคธชาตกํ - คบคนชั่วไม่มีความสุข


โคธชาตกํ - คบคนชั่วไม่มีความสุข

"น  ปาปชนสํเสวี,     อจฺจนฺตสุขเมธติ;        โคธากุลํ   กกณฺฏาว,  กลึ  ปาเปติ  อตฺตนนฺติ ฯ    ผู้คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้ความสุขโดยส่วนเดียว เขาย่อมทำตนให้ถึงความพินาศ เหมือนตระกูลเหี้ย ไม่ได้ความสุขจากกิ้งก่า ฉะนั้น."

อรรถกถาโคธชาดกที่ ๑ 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันทรงปรารภภิกษุคบหาฝ่ายผิดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  น  ปาปชนสํเสวี  ดังนี้.

เรื่องปัจจุบัน ก็เช่นเดียวกับเรื่องที่กล่าวแล้วในมหิฬามุขชาดก(เอกนิบาต กุรุงควรรคที่ ๓) นั้นแล.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดเหี้ย ครั้นเติบใหญ่แล้ว มีเหี้ยหลายร้อยเป็นบริวาร พำนักอยู่ในโพรงใหญ่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ บุตรของพระโพธิสัตว์นั้นชื่อว่าโคธปิลลิกะ ทำความสนิทสนมเป็นเพื่อนเกลอกันกับกิ้งก่า (ป่อมข่าง) ตัวหนึ่งเย้าหยอกกันกับมัน ขึ้นทับมันไว้ด้วยคิดว่า „เราจักกอดกิ้งก่า“.   ฝูงเหี้ยพากันบอกความสนิทสนม ระหว่างโคธปิลลิกะกับกิ้งก่านั้น ให้พญาเหี้ยทราบ

พญาเหี้ยจึงเรียกบุตรมาหากล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าทำความสนิทสนมกันในที่ไม่บังควรเลย ธรรมดากิ้งก่าทั้งหลาย มีกำเนิดต่ำ ไม่ควรทำความสนิทสนมกับมัน ถ้าเจ้าขืนทำความสนิทสนมกับมัน สกุลเหี้ยแม้ทั้งหมด จักต้องพินาศเพราะอาศัยมันแน่นอน ต่อแต่นี้ไปเจ้าอย่าได้ทำความสนิทสนมกับมันเลย".  โคธปิลลิกะ ก็คงยังทำอยู่เช่นนั้น แม้ถึงพระโพธิสัตว์จะพูดอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่สามารถจะห้ามความสนิทสนมระหว่างเขากับมันได้ จึงดำริว่า „อาศัยกิ้งก่าตัวหนึ่ง ภัยต้องบังเกิดแก่พวกเราเป็นแน่ ควรจัดเตรียมทางหนีไว้ ในเมื่อภัยนั้นบังเกิด“ แล้วให้ทำปล่องลมไว้ข้างหนึ่ง

ฝ่ายบุตรของพญาเหี้ยนั้นก็มีร่างกายใหญ่โตขึ้นโดยลำดับ ส่วนกิ้งก่าคงตัวเท่าเดิมโคธปิลลิกะ คิดว่า จักสวมกอดกิ้งก่า (เวลาใด) ก็โถมทับอยู่เรื่อย ๆ (เวลานั้น) เวลาที่โคธปิลลิกะโถมทับกิ้งก่า เป็นเหมือนเวลาที่ถูกยอดเขาทับฉะนั้น.  เมื่อกิ้งก่าได้รับความลำบาก จึงคิดว่า „ถ้าเหี้ยตัวนี้ กอดเราอย่างนี้สัก สองสามวันติดต่อกัน เราเป็นตายแน่ เราจักร่วมมือกับพรานคนหนึ่ง ล้างตระกูลเหี้ยนี้เสียให้จงได้.“

ครั้นวันหนึ่งในฤดูแล้ง เมื่อฝนตกแล้ว ฝูงแมลงเม่าพากันบินออกจากจอมปลวก ฝูงเหี้ยพากันออกจากที่นั้น ๆ กินฝูงแมลงเม่า พรานเหี้ยผู้หนึ่งถือจอบไปป่ากับฝูงหมา เพื่อขุด โพรงเหี้ย.  กิ้งก่าเห็นเขาแล้ว คิดว่า „วันนี้ความหวังของเราสำเร็จแน่“ ดังนี้แล้ว เข้าไปหาเขา. หมอบอยู่ในที่ไม่ห่างถามว่า „ท่านผู้เจริญท่านเที่ยวไปในป่าทำไม ?“

พรานตอบว่า „เที่ยวหาฝูงเหี้ย" กิ้งก่ากล่าวว่า „ฉันรู้จักที่อาศัยของเหี้ยหลายร้อยตัวท่านจงหาไฟและฟางมาเถิด“ แล้วนำเขาไปที่นั้น ชี้แจงว่า „ท่านจงใส่ไฟตรงนี้แล้วจุดไฟ ทำให้เป็นควัน วางหมาล้อมไว้ ตนเองออกไปคอยตีฝูงเหี้ยให้ตายแล้วเอากองไว้“ ครั้นบอกอย่างนี้แล้วก็คิดว่า „วันนี้เป็นได้เห็นหลังศัตรูละ“ แล้วนอนผงกหัวอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง

แม้นายพรานก็จัดการสุมไฟฟาง ควันเข้าไปในโพรงฝูงเหี้ยพากันสำลักควัน ถูกมรณภัยคุกคาม ต่างรีบออกพากันหนีรนราน พรานก็จ้องตีตัวที่ออกมา ๆ ให้ตาย ที่รอดพ้นมือพรานไปได้ก็ถูกฝูงหมากัด ความพินาศอย่างใหญ่หลวงเกิดแก่ฝูงเหี้ย.  พระโพธิสัตว์รู้ว่า „เพราะอาศัยกิ้งก่า ภัยจึงบังเกิดขึ้น“ ดังนี้นี้แล้วกล่าวว่า „ขึ้นชื่อว่าการคลุกคลีกับคนชั่ว ไม่พึงกระทำ ขึ้นชื่อว่าประโยชน์ย่อมไม่มีเพราะอาศัยคนชั่ว ด้วยอำนาจของกิ้งก่าชั่วตัวเดียว ความพินาศจึงเกิดแก่ฝูงเหี้ย มีประมาณเท่านี้“ เมื่อจะหนีไปทางช่องลม กล่าวคาถานี้ว่า :-

„ผู้คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้ความสุข โดย ส่วนเดียว เขาย่อมทำตนให้ถึงความพินาศ เหมือนอย่างตระกูลเหี้ยให้ตนถึงความวอดวาย เพราะกิ้งก่า ฉะนั้น.“ 

ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ บุคคลผู้สร้องเสพกับคนชั่ว ย่อมไม่บรรลุ คือไม่ประสบ ไม่ได้รับความสุขที่ยั่งยืนคือความสุขที่ชื่อว่าสุขชั่วนิรันดร เหมือนอย่างอะไร ?  เหมือนตระกูลเหี้ยไม่ได้ความสุข เพราะกิ้งก่า ฉันใด คนที่สร้องเสพกับคนชั่ว ย่อมไม่ได้ความสุขฉันนั้น มีแต่จะพาตนให้ถึงความวอดวายกับคนชั่ว ย่อมพาตนและคนอื่น ๆที่อยู่กับตน ให้ถึงความพินาศไปถ่ายเดียวเท่านั้น แต่ในพระบาลีท่านเขียนไว้ว่า กลึปาเปยฺย พึงพาตนให้ถึงความวอดวาย พยัญชนะ (คือข้อความ)อย่างนั้น ไม่มีในอรรถกถา ทั้งเนื้อความของพยัญชนะนั้น ก็ไม่ถูกต้อง เหตุนั้น พึงถือเอาคำตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า กิ้งก่าในครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต บุตรพระโพธิสัตว์ชื่อโคธปิลลิกะผู้ไม่เชื่อโอวาทได้มาเป็นภิกษุผู้คบหาฝ่ายผิด ส่วนพญาเหี้ยได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.  จบอรรถกถาโคธชาดกที่ ๑

CR:  หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: