วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เล่าประสบการณ์การทรมานตนเพื่อหวังพ้นทุกข์

เล่าประสบการณ์การทรมานตนเพื่อหวังพ้นทุกข์

[ณ ราวป่าด้านตะวันตก นอกนครเวสาลี พระสารีบุตรได้เข้าไปคุยกับพระพุทธเจ้าว่า]

ส:  ภันเต สุนักขัตตะ ลูกของเจ้าลิจฉวีซึ่งเคยมาบวชแล้วสึกออกไปไม่นานมานี้ ได้ไปพูดกับคนในเมืองเวสาลีว่า พระสมณโคดมไม่มีความสามารถที่พิเศษใดๆ ไม่มีความรู้อะไรที่โดดเด่นสมกับที่คนเรียกว่าพระอริยะ สิ่งที่เอามาสอนก็ได้มาจากการคิดนึกเอาไม่ใช่มาจากปัญญารู้แจ้ง และคำสอนที่ว่าก็แค่ทำให้คนพ้นทุกข์ได้เท่านั้น

พ:  สารีบุตร สุนักขัตตะเป็นคนที่ว่างเปล่าจากธรรม (โมฆบุรุษ) พูดด้วยความโกรธ คิดจะติเตียนเรา แต่กลายเป็นการสรรเสริญไปโดยไม่รู้ตัวจากคำพูดที่ว่า คำสอนของเราทำให้คนพ้นทุกข์ได้  ที่เขาพูดแบบนี้ เพราะเขาไม่เข้าใจว่า  เราเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง ถึงพร้อมด้วยความรู้วิเศษ (วิชชา) และแนวทางการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความรู้วิเศษ (จรณะ) นั้น ได้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนได้โดยไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เราสามารถใช้ฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือแยกร่าง หายตัว ทะลุกำแพงภูเขา ดำดิน เดินบนน้ำ เหาะบนฟ้า ลูบดวงดาว หรือใช้อำนาจกายไปถึงพรหมโลกได้  เราสามารถฟังเสียงทิพย์ทั้งใกล้ไกลที่มนุษย์ไม่ได้ยินได้ เราสามารถอ่านจิตผู้อื่นได้ รู้ว่าสัตว์หรือมนุษย์นั้นมีสภาวะจิตเป็นอย่างไร มีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน มีสมาธิ หรือหลุดพ้นแล้วหรือไม่

สารีบุตร ตถาคตมีกำลัง 10 อย่างจึงกล้าประกาศได้อย่างองอาจ (บันลือสีหนาท) ผลักวงล้อธรรมได้  กำลัง 10 อย่างนี้มีอะไรบ้าง  -สามารถรู้ถึงเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ  -สามารถรู้ถึงผลของการกระทำที่ทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  -สามารถรู้ถึงทางที่จะพาสัตว์ไปสู่ภูมิต่างๆ  -สามารถรู้ถึงโลกที่ประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ  -สามารถรู้ถึงการที่สัตว์มีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน  -สามารถรู้ถึงการที่สัตว์มีอินทรีย์ที่เติบโตและเสื่อมสลาย  -สามารถรู้ถึงความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และการออกจากฌานและสมาธิ  -สามารถรู้ถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก หนึ่งชาติบ้าง สิบร้อยพันแสนชาติบ้าง หลายสังวัฏฏวิวัฏฏกัปบ้าง (ช่วงเวลาที่โลกเกิดและดับไปหลายครั้ง) ว่าในภพโน้นเราชื่ออะไร เกิดที่ไหน หน้าตาอย่างไร กินอะไร สุขทุกข์แค่ไหน อายุเท่าไหร่ พอตายไปแล้วไปเกิดในภพนั้น อย่างโน้นอย่างนี้   -สามารถเห็นการเกิดตายของสัตว์ทั้งหลายว่าจะไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน เพราะทำกรรมอะไรไว้ ถ้าทุจริตก็ไปสู่ทุคติ ถ้าสุจริตก็ไปสู่สุคติ  -สามารถหลุดพ้นจากกิเลสด้วยฌานและสมาธิผ่านการฝึกจิต (เจโตวิมุตติ) และด้วยปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญาวิมุตติ)

สารีบุตร ตถาคตกล้าที่จะประกาศธรรม เพราะความมั่นใจอันเกิดจากความสามารถหยั่งรู้ของตถาคต (เวสารัชชญาณ) 4 ข้อ  คือ เราไม่เห็นว่าจะมีสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลกที่จะทักท้วงเราได้ว่า  “ท่านประกาศว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ (ตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง) แต่ยังมีธรรมบางอย่างที่ท่านยังไม่รู้”  “ท่านประกาศว่าเป็นพระขีณาสพ (ผู้สิ้นกิเลสที่ฝังลึกในจิตใจแล้ว) แต่จริงๆแล้วยังมีกิเลสอยู่”  “ท่านกล่าวว่ามีสิ่งที่เป็นอันตราย แต่สิ่งๆนั้นไม่ได้เป็นอันตรายแก่ผู้เสพจริง”  “ท่านแสดงธรรมที่ไม่สามารถทำให้คนที่ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ได้จริง”

เมื่อไม่เห็นว่าจะมีใครทักท้วงเราได้ เราจึงไม่รู้สึกหวั่นไหวใดๆ และกล้าที่จะประกาศธรรมแก่ทุกคน เราเคยนั่งใกล้ พูดคุยกับเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ มาร และพรหม มาหมดแล้ว ไม่มีเหตุที่ทำให้เราต้องกลัวหรือสะทกสะท้านแต่อย่างใด  

สารีบุตร การเกิดของสัตว์ทั้งหลายมี 4 แบบ   -แบบมาจากเปลือกไข่ (อัณฑชะกำเนิด)  -แบบมาจากมดลูก (ชลาพุชะกำเนิด)  -แบบมาจากของเน่าเสีย เช่น ปลาเน่า ขนมบูด น้ำครำ ซากศพ (สังเสทชะกำเนิด)  -แบบผุดเกิดโตเต็มตัวทันทีตามแต่กรรม (โอปปาติกะกำเนิด)

ใครที่ว่าเราซึ่งเป็นผู้รู้ผู้เห็นดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ว่าไม่มีความสามารถที่พิเศษใดๆ ไม่มีความรู้อะไรที่โดดเด่นสมกับที่คนเรียกว่าพระอริยะ สิ่งที่เอามาสอนก็ได้มาจากการคิดนึกเอาไม่ใช่มาจากปัญญารู้แจ้ง หากเขายังคิดเช่นนั้นอยู่ ก็ย่อมต้องตกนรกไป  สารีบุตร ที่ไป (คติ) ของสัตว์ทั้งหลายจะมี 5 ที่ คือ นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ และเทวดา เรารู้ชัดซึ่งทางที่จะไปสู่แต่ละที่ และยังรู้ชัดถึงทางที่จะไปสู่นิพพานด้วย

เราเคยพยายามประพฤติพรหมจรรย์มาแล้ว 4 แบบ คือ

ข่มกิเลสให้เบาบางด้วยการทรมานตัวเอง (บำเพ็ญตบะ) อย่างการเปลือยกายถอนผมและหนวด ห่มผ้าจากเปลือกไม้ ยืนโหย่งๆ นอนบนหนาม นอนกับศพในป่าช้า ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ กินข้าวแค่คำเดียว กินหญ้า กินปัสสาวะอุจจาระของตัวเอง ร่างกายซูบผอม อวัยวะน้อยใหญ่เหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากและดำ สะโพกเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังนูนเป็นปุ่มๆเหมือนเถาสะบ้า ซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อมกัน ดวงตาลึกเข้าไปในเบ้าตาเหมือนเงาดาวในบ่อลึก หนังศีรษะแห้งเหมือนน้ำเต้าขมที่ถูกตัดขั้วแต่ยังอ่อนแล้วโดนลมแดดจนเหี่ยวแห้ง คลำผิวหนังท้องก็ถึงกระดูกสันหลัง จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็จะล้มเสียที่นั้น พอเอามือลูบตัว ขนที่มีรากเน่าก็หลุดติดมาด้วย

ไม่สนใจความสะอาด (ประพฤติสิ่งเศร้าหมอง) อย่างการไม่อาบน้ำ ปล่อยให้ฝุ่นและคราบละอองเกาะบนกายเป็นปี ไม่ปัดออก  รักษาความบริสุทธิ์ (ประพฤติเกลียดบาป) อย่างการเฝ้าระวังทุกย่างก้าวไม่ให้เหยียบสัตว์เล็กๆในที่ต่างๆ ระวังแม้กระทั่งในหยดน้ำ  อยู่เงียบๆคนเดียว (ประพฤติสงัด) อย่างการหลีกหนีผู้คนไปอยู่ป่า มีคนมาแล้วต้องรีบหนีไปให้ไกล ไม่ยอมเห็นใครและไม่ให้ใครเห็น

สารีบุตร ถึงแม้จะเพียรพยายามทำเรื่องที่แสนยากขนาดนี้ เราก็ไม่ได้บรรลุธรรมใดเลย ก็เพราะว่านี่ไม่ใช่ทางที่จะออกจากทุกข์  สมณพราหมณ์บางพวกมองว่า คนหนุ่มผมดำที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด พอแก่ตัวไปก็จะเสื่อมจากปัญญานั้น บัดนี้อายุเรา 80 แล้ว แต่เราไม่เป็นอย่างนั้น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ก็ไม่เป็นอย่างนั้น แม้จะอายุมากแต่ก็ยังประกอบไปด้วยสติและปัญญาอันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนนักธนูที่มีจิตแน่วแน่ ได้รับการฝึกมาจนชำนาญแล้ว ยิงงวงตาลที่ขวางอยู่ให้ตกลงมาง่ายๆด้วยลูกศรขนาดเบา ถ้าแม้เราจะต้องถูกหามไปด้วยเตียง ปัญญาของเราก็จะยังเหมือนเดิม  สารีบุตร หากจะมีใครที่กล่าวถึงเรา ก็ควรกล่าวว่าเราเป็นสัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลง เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

[เมื่อพระพุทธเจ้ากล่าวจบ พระนาคสมาละซึ่งกำลังพัดให้พระพุทธเจ้าอยู่ทางด้านหลังขณะนั้นก็พูดขึ้นว่า]

น: ภันเต น่าแปลกจริง ผมไม่เคยฟังธรรมแล้วขนลุกแบบนี้มาก่อนเลย ธรรมนี้ชื่อว่าอะไรหรือท่าน?  พ: เธอจงจำไว้ว่าธรรมนี้ชื่อ “โลมหังสนปริยาย” (เรื่องที่ทำให้ขนลุก)

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 18 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภาค 1 เล่ม 2 มหาสีหนาทสูตร ข้อ 159), 2559, น.35-59 และ The Middle Length Discourses of the Buddha: A Translation of the Majjhima Nikaya – Bhikkhu Nanamoli and Bhikkhu Bodhi (แปลจากพระไตรปิฎกบาลี), 2015, p.164-178


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: