วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ข้อคิด “ชีวิตทวนกระแส” ชีวิตแบบพุทธ เป็นแบบอย่างของชีวิตทวนกระแส

ข้อคิด “ชีวิตทวนกระแส” ชีวิตแบบพุทธ เป็นแบบอย่างของชีวิตทวนกระแส

“ในทางพระพุทธศาสนา “การปฏิบัติธรรม” ก็เป็นเรื่องทวนกระแสอยู่ไม่น้อย การดำเนินชีวิตตามแบบพุทธนั้นเป็นชีวิตที่ทวนกระแส พระพุทธเจ้าตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นทวนกระแสสังคมสมัยนั้น ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าไม่ถูกต้อง อย่างที่เราเห็นชัดๆ เช่น กระแสความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่อง “วรรณะ” การยึดถือชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดถึงความสูงต่ำของมนุษย์ กระแสการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า ให้ดลบันดาลอะไรต่างๆ หรือการหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการบูชายัญและพิธีกรรมต่างๆ ที่ประดิษฐ์ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่ออ้อนวอนเทพเจ้า สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าได้ประสบแต่พระองค์ไม่เห็นด้วย จึงทรงมาแนะนำสั่งสอนประชาชนใหม่ และได้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นทำการชักชวนประชาชนให้ดำเนินชีวิต ซึ่งถือได้ว่า “ทวนกระแส” ในสมัยนั้น

การเป็นพระเป็นการทวนกระแสโดยภาวะเลยทีเดียว อย่างเช่นคนในโลกทั่วไปตกอยู่ในกระแสที่ท่านเรียกว่า “กาม” คือความหลงระเริงเพลิดเพลิน ติดใจอยู่ใน..รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และสิ่งที่ทำให้ชื่นชม สบายใจ ถูกใจ มุ่งแต่จะเสพรสของอารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น คนเรามุ่งดำเนินชีวิตทำกิจกรรมต่างๆ ทำความเพียรพยายามต่างๆ เพื่อหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ของตน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าการกระทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้มนุษย์มัวเมาและเป็นทาสของวัตถุ ไม่พัฒนาตนเอง และขัดขวางปิดบังการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่สูงขึ้นไป 

เมื่อมัวแต่ต้องหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น มาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้นของตน เราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อได้รับสิ่งเหล่านี้ ความสุขของเราขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ เราก็ตกเป็นทาสของวัตถุ ชีวิตของคนในแง่ส่วนตัวก็ไม่เป็นอิสระ  และในแง่สังคม เมื่อแต่ละคนมุ่งแต่หาสิ่งที่มาบำเรอต า หู จมูก ลิ้นของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะมีความสุขให้เต็มที่ที่สุด ก็ทำให้ต้องเบียดเบียนกัน เพราะวัตถุมีจำกัด การเบียดเบียนแย่งชิงกัน ครอบงำกัน ข่มเหงกันก็เกิดขึ้น  

อย่างไรก็ตาม วัตถุก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะในแง่ปัจจัย ๔ สำหรับเลี้ยงชีวิต แต่เราต้องแยกให้ได้ว่า ในส่วนที่เป็นปัจจัยของชีวิตนั้นแค่ไหน และในส่วนที่เป็นเครื่องบำรุงบำเรอนั้นแค่ไหน 

มนุษย์เราจะมีทางมีความสุขหรือพบสิ่งที่ดีงามนอกเหนือจากนั้นไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์สามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขแบบนั้น ท่านเรียกว่าเป็นความสุขที่ประณีตขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ “เป็นอิสระ” มนุษย์มีความสุขได้โดยลำพังตัวเองในใจ และไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก หมายความว่า แม้วัตถุภายนอกนั้นไม่มีอยู่ เราก็มีความสุขได้ ข้อสำคัญก็คือ มันเป็นความสุขพื้นฐาน ที่จะทำให้การแสวงหาหรือการเสพความสุขภายนอกเป็นไปอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุล ทำให้มีความสุขแท้จริง และไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม

ชีวิตทวนกระแส ต้องมีความสุขและอิสรภาพเป็นฐาน

คนที่ทำจิตใจตัวเองให้มีความสุขได้ มีความสุขที่ท่านเรียกว่า “ทางจิต” และ “ทางปัญญา” สามารถมีความสงบในใจของตนเองและมีความสุขได้อย่างที่เรียกว่า มีสมาธิ หรือ มีความสุขจากการรู้เท่าทันเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นความสุขทางปัญญา เนื่องจากเห็นแจ้งความจริง เป็นความปลอดโปร่งโล่ง ไม่มีความติดขัดบีบคั้นใจ อันนี้เป็นความสุขภายในของบุคคล ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหาความสุขทางวัตถุมาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า..รู้จักประมาณ

ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอกก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ   แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีก คือ (๑) ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่ (๒) เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมาเพื่อหาความสุขเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป  เป็นอันว่า ประการที่หนึ่ง มนุษย์ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกอย่างเดียว เราสามารถมีอิสรภาพของตนเองที่จะมีความสุขภายใน 

ประการที่สอง ความสุขภายในทางจิตใจและทางปัญญา กลับมาเป็นฐานที่จะทำให้ความสุขภายนอกที่มนุษย์แสวงหานั้นเป็นความสุขที่เต็มอิ่มในส่วนชีวิตของตน และไม่เกิดโทษในการเบียดเบียนกันในสังคมด้วย พระพุทธเจ้าก็จึงสอนให้มนุษย์มีดุลยภาพในเรื่องของความสุข

ความสุขทางด้านวัตถุ ที่บำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการเสพหรือบริโภคนั้น ท่านไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับว่ามนุษย์ต้องอาศัยวัตถุภายนอก แต่พร้อมกันนั้น มนุษย์ก็จะต้องมีความสุขทางจิตใจและทางปัญญาเป็นฐาน การขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งภายนอกจะได้น้อยลง มนุษย์จะได้อยู่อย่างมีอิสรภาพมากขึ้น 

พอมนุษย์มีความสุขในตนเองได้ เขาก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุขเสมอไป ทำให้ไม่เป็นทาสของวัตถุภายนอก จึงเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาตนเอง การที่จะมีความสุขซึ่งเป็นรากฐานทางจิตใจและทางปัญญาได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเองขึ้นไป เมื่อพัฒนาตนเองขึ้นไปแล้ว เขาก็จะมี “ดุลยภาพในชีวิต” มีความสุขที่เรียกได้ว่า “สมบูรณ์” เพราะครบทุกด้าน หรือครบทุกระดับ มาดึงมาดุลและเสริมเติมแก่กัน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากหนังสือ “ข้อคิด ชีวิตทวนกระแส” เรียบเรียงจากบทนำเสวนาเรื่อง “ชีวิตทวนกระแสในมุมมองชนชั้นกลาง” ซึ่งได้จัดขึ้น   ณ อาศรมวงศ์สนิท เมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ พิมพ์และปรับปรุงเมื่อปี ๒๕๓๖


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: